ฤทธิ์ต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ของผักปลัง

การทดสอบฤทธิ์ต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ของสารสกัดน้ำจากใบของผักปลัง (Basella rubra ; BRAE aqueous extract) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งลำไส้ด้วยสาร 1, 2-dimethylhydrazine (DMH) โดยแบ่งหนูเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (Control) เป็นกลุ่มควบคุมได้รับเพียงน้ำเกลือ (normal saline) ตลอดการทดลอง กลุ่มที่ 2 (Drug control) ให้กิน BRAE ขนาด 250 มก./นน.ตัว 1 กก./วัน นาน 30 สัปดาห์ กลุ่มที่ 3 (Carcinogen control) ได้รับการฉีดสาร DMH เข้าใต้ผิวหนังในขนาด 25 มก./นน.ตัว 1 กก. สัปดาห์ละ 1 ครั้ง นาน 15 สัปดาห์ กลุ่มที่ 4 (Pre- initiation) ให้กิน BRAE ทุกวันนาน 1 สัปดาห์ (ก่อนฉีด DMH) จากนั้นจึงได้รับการฉีดสาร DMH นาน 15 สัปดาห์ (ให้ DMH สัปดาห์ที่ 1 – 15) ซึ่งระหว่างที่ได้รับ DMH สัตว์ทดลองก็ได้รับ BRAE ทุกวัน (ให้ BRAE สัปดาห์ที่ 0 – 15) กลุ่มที่ 5 (Post-initiation) ได้รับการฉีดสาร DMH สัปดาห์ละ 1 ครั้ง นาน 15 สัปดาห์ (ให้ DMH สัปดาห์ที่ 1 – 15) จากนั้นจึงหยุดให้ DMH และให้กิน BRAE ทุกวัน นาน 15 สัปดาห์ (ให้ BRAE สัปดาห์ที่ 16 – 30) กลุ่มที่ 6 (Entire period) ได้รับการฉีดสาร DMH สัปดาห์ละ 1 ครั้ง นาน 15 สัปดาห์ (ให้ DMH สัปดาห์ที่ 1 – 15) พร้อมกับการได้รับ BRAE ทุกวัน นาน 30 สัปดาห์ (ให้ BRAE สัปดาห์ที่ 1 – 30) หลังจากการทดลองนาน 30 สัปดาห์ จึงนำลำไส้ใหญ่ของสัตว์ทดลองมาวิเคราะห์ พบว่ามีเฉพาะกลุ่มที่ได้รับ DMH เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่มีจำนวนของ aberrant crypt foci (ACF), argyrophilic nucleolar organizing region- associated proteins (AgNOR) และ goblet cells เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งทั้งหมดเป็นตัวชี้วัดการเกิดมะเร็ง ในขณะที่ทุกกลุ่มที่ได้รับ BRAE จะมีจำนวนของ ACF, AgNOR และ goblet cells ลดลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพบว่าสาร BRAE สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของ PCNA และ Ki67 ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ของการเพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง (markers for cell proliferation) อันเกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยสาร DMH ได้ ซึ่งคาดว่าจะเกี่ยวข้องการยับยั้งการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส (apoptosis) ทำให้สามารถสรุปได้ว่าสารสกัดน้ำจากใบของผักปลังน่าจะมีประสิทธิภาพในการต้านสารก่อมะเร็งที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

APJCP 2016;17:73-80