ประโยชน์ของโกโก้ต่อการเรียนรู้และความดันโลหิตในผู้สูงอายุ

การศึกษาทางคลินิกถึงฤทธิ์ของสาร flavonol ในโกโก้ต่อกระบวนการเรียนรู้ของผู้สูงอายุที่ไม่มีอาการผิดปกติของพฤติกรรมการเรียนรู้และจดจำ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 30 คน ให้ดื่มโกโก้ที่มีส่วนประกอบของ flavonol 3 ขนาด คือ 993, 520 และ 48 มก. ดื่มวันละครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ทำการประเมินเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ทั้งก่อนและสิ้นสุดการศึกษา ผลการประเมินโดยใช้แบบทดสอบสภาพจิต mini mental status examination (MMSE) เพื่อประเมินปัญหาในเรื่องความจำเบื้องต้น พบว่าทั้ง 3 กลุ่มไม่แตกต่างกัน โดยมีแนวโน้มเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้และจดจำไปในทางที่ดี การวัดสมาธิโดย trail making test (TMT) พบว่ากลุ่มที่ดื่มโกโก้ที่มีส่วนประกอบของ flavonol ในขนาดสูงและปานกลางส่งผลให้สมาธิดีขึ้น โดยมีระยะเวลาในการทำแบบทดสอบ TMT A และ B น้อยกว่ากลุ่มที่ดื่มโกโก้ที่มี flavonol ขนาดต่ำ การทดสอบความคล่องแคล่วทางภาษาโดย verbal fluency test (VFT) พบว่ากลุ่มที่ดื่มโกโก้ flavonol ขนาดสูงมีคะแนน 7.7±1.1 คำ/60วินาที ซึ่งดีกว่ากลุ่มโกโก้ flavonol ขนาดปานกลาง 3.6±1.2 คำ/60 วินาที และกลุ่มโกโก้ flavonol ขนาดต่ำ 1.3±0.5 คำ/60วินาที อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มโกโก้ flavonol ขนาดสูงและปานกลางมีผลยับยั้งภาวะดื้อต่ออินซูลิน ลดความดันโลหิต และยับยั้ง lipid peroxidation ได้ดีกว่ากลุ่มโกโก้ flavonol ขนาดต่ำ จากผลการทดสอบสาร flavonol ในโกโก้มีแนวโน้มลดกลุ่มอาการผิดปกติในกระบวนการเรียนรู้และจดจำเนื่องจากอายุที่มากขึ้น ผ่านกระบวนการลดภาวะดื้อต่ออินซูลินในร่างกาย นักวิจัยจึงแนะนำว่าการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของสาร flavonol เป็นประจำจะช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และจดจำในผู้สูงอายุได้

Am J Clin Nutr 2015;101(3):538-48