การศึกษาทางคลินิกของฤทธิ์บรรเทาปวดจากผลกุหลาบ

การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่ม ปกปิดสองฝ่าย เทียบกับยาหลอก และทดลองให้ยาแบบสลับกลุ่มกัน (Randomized, double-blinded, placebo-controlled, crossover trial) เพื่อทดสอบฤทธิ์บรรเทาปวดบริเวณเข่าและสะโพก ของสารมาตรฐานที่เตรียมได้จากส่วนเมล็ดและเปลือกผลของกุหลาบพันธุ์ Rosa canina L (rose- hip powder; RHP) โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคกระดูกและข้ออักเสบจำนวน 30 คน ในระยะแรก (Phase 1) ผู้ป่วยจะรับประทานแคปซูลที่บรรจุ RHP ขนาด 0.5 ก. จำนวน 5 แคปซูล หรือยาหลอกที่ขนาดเดียวกัน วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นจึงสลับกลุ่มการได้รับยาเป็นระยะเวลา 3 เดือน (Phase 2) ทำการประเมินความปวดด้วย 10 step categorical scale จากการทำกิจกรรมที่กำหนด และจำนวนครั้งในการใช้ยาแก้ปวดของผู้ป่วย โดยเปรียบเทียบก่อนและหลังจบการทดลอง จากผลการทดลองพบว่า 90% ของผู้ป่วยที่ได้รับ RHP มีอาการปวดลดลง อาการแข็งเกร็งและความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวลดลง และผลดังกล่าวยังคงอยู่เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์หลังจากหยุดการใช้ RHP ในขณะที่มีเพียง 36% ของผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกมีอาการปวดลดลง นอกจากนี้การใช้ยาบรรเทาปวด เช่น paracetamol, codeine และ tramadol ยังลดลงอย่างชัดเจนในกลุ่มที่ได้รับ RHP ทำให้สามารถสรุปได้ว่า RHP สามารถบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยโรคกระดูกและข้ออักเสบได้ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้ยาแก้ปวดของผู้ป่วยด้วย

Open J Rheumatol Autoimmune Dis 2013; 3:172-180