ฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินในตับอ่อนของมะระ

การศึกษากลไกการออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินของสารสกัดน้ำจากผลมะระ (Momordica charantia ) ในตับอ่อนที่แยกได้จากหนูแรท ซึ่งอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีน้ำตาลกลูโคส 3.3 และ16.7 มิลลิโมลาร์ พบว่าประสิทธิภาพในการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินของสารสกัดจะขึ้นกับขนาดที่ให้ โดยสารสกัดไม่มีผลต่อความสมบูรณ์ของเซลล์ (cell integrity) จึงคาดว่าการออกฤทธิ์ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane integrity) การทดสอบโดยการเติมสาร dizoxide และ nimodipine ซึ่งเป็นสารที่ยับยั้งการหลั่งอินซูลินจากการที่เซลล์ถูกกระตุ้นด้วยน้ำตาลกลูโคส พบว่าในสภาวะแวดล้อมที่มีน้ำตาลกลูโคส 16.7 มิลลิโมลาร์ สารทั้ง 2 ชนิดสามารถยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารสกัดได้เพียงบางส่วน และในสภาวะแวดล้อมที่มีน้ำตาลกลูโคส 3.3 มิลลิโมลาร์ การออกฤทธิ์ของสารสกัดจะไม่ถูกรบกวนเลย จึงคาดว่าการออกฤทธิ์ของสารสกัดไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเข้าจับกับ ATP sensitive potassium channel (KATP) หรือ Calcium (Ca) channel เช่นกัน ในขณะที่การเติมสารCalphostin C ซึ่งเป็นตัวยับยั้งการทำงานของ protein kinase C (PKC) ลงไปในระบบ พบว่าสามารถยับยั้งการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินของสารสกัดได้อย่างชัดเจน (p < 0.01) ทั้งในสภาวะแวดล้อมที่มีน้ำตาลกลูโคส 3.3 และ16.7 มิลลิโมลาร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำจากมะระมีกลไกในการออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินผ่านการกระตุ้นการทำงานของ PKC

Planta Med 2014;80:PD42