ฤทธิ์ต้านเบาหวานและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำจากใบทุเรียนเทศ

การทดสอบฤทธิ์ต้านเบาหวานและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำจากใบทุเรียนเทศ (Annona muricata ) ในหนูแรท ทั้งหนูปกติและหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยสาร streptozotocin โดยแบ่งเป็นการทดสอบในระยะยาว คือหลังจากที่หนูถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน 2 สัปดาห์ หนูจะถูกป้อนด้วยสารสกัดขนาด 100 หรือ 200 มก./กก./วัน เป็นเวลา 28 วัน และการทดสอบฤทธิ์ในการป้องกัน โดยหนูจะถูกป้อนด้วยสารสกัดก่อนการเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน เป็นเวลา 3 วัน แล้วสังเกตผลเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากผลการทดลองพบว่า การให้สารสกัดเป็นระยะเวลา 28 วัน ไม่มีผลต่อหนูปกติ แต่มีผลลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน โดยทำให้ระดับน้ำตาลลดลง 75% และ 58.22% เมื่อให้ในขนาด 100 และ 200 มก./กก. ตามลำดับ โดยผลดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ขนาดแรกที่ให้ (single dose) ส่วนการทดสอบฤทธิ์ในการป้องกันพบว่า ในระยะเวลา 3 วันก่อนการเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน สารสกัดไม่มีผลต่อหนูปกติ (ที่เวลา 0 - 72 ชม. แล้วจึงถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน) แต่หลังจากนั้น 14 วัน สารสกัดขนาด 100 มก./กก. มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนู เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่เป็นเบาหวาน การศึกษาในเนื้อเยื่อพบว่าสารสกัดขนาด 100 มก./กก. ทำให้จำนวนของ β-cell ในตับอ่อนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่เป็นเบาหวาน นอกจากนี้ยังพบว่า ระดับน้ำตาลกลูโคส ระดับ creatinine ระดับ malondialdehyde การทำงานของเอนไซม์ aspartate aminotransferase และ alanine aminotransferase รวมทั้งระดับของ nitrite และ LDL-cholesterol ในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานและได้รับสารสกัดเป็นเวลา 28 วัน มีค่าลดลง ระดับของผลรวม cholesterol และ triglycerides ในเลือด รวมทั้งการทำงานของเอนไซม์ superoxide dismutases และ catalase กลับสู่ภาวะปกติ การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันโดยให้หนูกินสารสกัดในขนาด 2,000 มก./กก. และ 5,000 มก./กก. และการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังโดยให้สารสกัดกับหนูทางสายยาง ในขนาด 200, 400 และ 800 มก./กก./วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ไม่พบความเป็นพิษใดๆ ในสัตว์ทดลอง จึงคาดว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่ามากกว่า 5,000 มก./กก.

J Ethnopharmacol 2014;151(2):784-90.