คำถาม : การสกัดสารจากใบของรางจืด
  • จากการสกัดกรดโรสมารินิกจากใบของรางจืด ในขั้นตอนหลังจากการแยกองค์ประกอบต่างๆโดยใช้ ionexchange chromatography แบบ column ที่ภายใน column ถูกบรรจุไปด้วยเรซิน เเล้ว เวลาชะสารที่เราต้องการออกมา ทำไมถึงต้องใช้น้ำกับอะซิโตนหรอคะ เเล้วทำไมถึงต้องเเยกต่อผ่าน column silica gel หลายๆครั้งคะ
    - เเละการตรวจสอบคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ ถึงทำด้วยวิธี DPPH scavenging เเล้วถึงต้องมาใช้ แผ่น TLC ต่อคะ

  • Date : 29/11/2562 15:37:00
คำตอบ : 1. หลักการของ ion exchange chromatography อาศัยการแลกเปลี่ยนไอออน (Ion exchange) โดยสมบัติของสารที่อยู่ภายในคอลัมน์ (stationary phase) สามารถจับกับไอออนของสารที่มีประจุตรงกันข้ามด้วยอาศัยการทำปฏิกิริยายึดเหนี่ยวระหว่างประจุที่แตกต่างกัน (Ionic interaction) สารที่ไม่มีประจุหรือมีประจุเหมือนกับสารที่เป็นตัวแลกเปลี่ยนประจุที่อยู่ภายในคอลัมน์ (Ion-exchanger) จะเคลื่อนที่ออกมาก่อน ส่วนสารที่ถูกยึดเหนี่ยวอยู่ภายในคอลัมน์ จะถูกชะออกมาเมื่อมีการเปลี่ยนสภาวะของค่า pH หรือ ถูกแทนที่ด้วยไอออนที่มีความแรงมากกว่า (Ionic strength) ซึ่งสาร Rosmarinic acid (RA) มีโครงสร้างทางเคมีประกอบด้วย benzene ring, hydrogen และ carboxyl group สามารถถูกยึดเหนี่ยวได้ทั้งจากโมลเลกุลที่มีขั้ว (polar) และไม่มีขั้ว (non-polar) การใช้น้ำและอะซีโตนซึ่งเป็นโมเลกุลที่มีขั้วจะช่วยชะสารมีขั้วที่ถูกยึดเหนี่ยวบน stationary phase ลงมา ส่วนการเเยกต่อผ่าน column silica gel หลายๆ ครั้ง จะทำให้ได้สารที่บริสุทธิ์มากขึ้น
2. จริงๆ แล้วการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระทำได้หลายวิธี วิธี DPPH scavenging เป็นวิธีวิธีหนึ่งที่ทดสอบได้ง่ายและรวดเร็ว นอกจากนี้ถ้ามารถทดสอบโดยการหาสารต้านอนุมูลอิสระได้อย่างรวดเร็วโดยทำควบคู่กับการ แยกสารบนแผ่น TLC ซึ่งเป็นเทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบสารที่รวดเร็ว สะดวก และราคาไม่แพง นิยมใช้ในการตรวจการดำเนินไปของปฏิกิริยาเคมี ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของสารระหว่างกระบวนการแยกสารในขั้นตอนต่างๆ ใช้ในการยืนยันชนิดของสาร และสามารถตรวจหาจำนวนองค์ประกอบในของผสม จากบริบทที่คุณกล่าวเข้าใจว่า หลังจากตรวจสอบคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH scavenging เเล้ว จึงทำเทคนิค TLC เพื่อพิสูจน์และยืนยันถึงสาระสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ หรือน่าจะหมายถึงการแยกสารบนแผ่น TLC แล้วสเปรย์สารละลาย DPPH ลงบนแผ่น TLC แล้วสังเกตผล หากสารใดมีฤทธิ์ต้าน DPPH จะปรากฏจุดสีเหลือง ซึ่งเป็นวิธีทดฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเบื้องต้นที่ง่ายและรวดเร็วค่ะ