คำถาม : พญาสัตตบรรณ
  • พญาสัตตบรรณเป็นไม้พิษที่ถูกอุปโลกขึ้นมาว่าเป็นไม้มงคล ใครมีไว้ ใครปลูกที่บ้านจะมียศถาบรรดาศักดิ์ แต่แท้จริงแล้วก็เป็นไม้ที่มีพิษเหมือนกับดอกลั่นทม ทั้งๆที่คนไทยโบราณจะห้ามปลูกในบ้านเพราะเป็นต้นไม้พิษ (คือมียางเหนียว) เวลากลางคืนเขาจะคายพิษออกมามาก ยิ่งฤดูออกดอกพวกนี้ (ทั้งพญาสัตตบรรณและลั่นทม) ก็จะอยู่ช่วงฤดูที่อากาศปิดคือไม่ไหลเวียน พันธ์ไม้เหล่านนี้จะคายพิษชนิดไซด์ยาไนท์ออกมาในเวลากลางคืน
    คำถาม : ได้รับข้อความข้างบนนี้ทางไลน์ คายพิษไซด์ยาไนท์จริงหรือไม่คะ ที่บ้านปลูกลีลาวดีไว้ค่ะ

  • Date : 22/11/2562 15:13:00
คำตอบ : พญาสัตบรรณและลั่นทมเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Apocynaceae พืชวงศ์นี้จะมีสารกลุ่มคาร์ดิแอคกลัยโคไซด์ ซึ่งมีผลกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ซึ่งจะมีพิษเมื่อรับประทานเกินขนาด และมักพบรายงานการเกิดพิษในเด็ก เนื่องจากรับประทานผลหรือดอกของพืชพิษเหล่านี้เพราะมีสีสวย ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุปาก และกระเพาะอาหาร เกิดอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดศรีษะและปวดท้อง และหลังจากสารพิษถูกดูดซึมเข้าเส้นเลือด จะไปกระตุ้นหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและเต้นผิดปกติ อาการดังกล่าวอาจอยู่ได้นานถึง 2-3 อาทิตย์ สารพิษนี้พบได้ในทุกส่วนของพืช โดยเฉพาะในส่วนเมล็ด ส่วนความเป็นพิษที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูออกดอก เกิดจากการแพ้กลิ่นและ/หรือ เกสรดอกพญาสัตตบรรณ ไม่ใช้เกิดการคายพิษไซยาไนด์ เนื่องจากสารไซยาไนด์จะเกิดพิษได้เมื่อรับประทานหรือเข้าสู่ร่างกายในปริมาณหนึ่ง และยังไม่มีรายงานพบสารไซยาไนด์ในดอกพญาสัตตบรรณ

อ้างอิง : บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล “ไม้ประดับมีพิษ...คิดสักนิดก่อนจะปลูก”