คำถาม : การสกัดสาร
  • สวัสดีค่ะ รบกวนสอบถามเรื่องการเตรียมสารสกัดนะคะ
    1. เตรียมตัวอย่างพืช 50 กรัม แช่ในตัวทำละลายเมทานอล 500 มิลลิลิตร หมักไว้ 7 วัน เมื่อครบกำหนดกรองแยกกากออกจากตัวทำละลาย จะได้สารละลายสารสกัดหยาบของพืช ความเข้มข้น 100 กรัมน้ำหนักแห้งต่อลิตร อยากทราบว่า สามารถใช้อัตราส่วนของพืชตัวอย่างกับตัวทำละลายบอกถึงความเข้มข้นของสารสกัดได้ไหมคะ หรือต้องทราบทั้งน้ำหนักพืชตัวอย่างและตัวทำละลาย เช่นเตรียมตัวอย่างพืช 50 กรัม แช่ในเมทานอล 500 มิลลิลิตร หมัก 7 วัน เมื่อครบกำหนดกรองแยกกากออกจากตัวทำละลาย ทำให้สารสกัดเข้มข้นด้วยเครื่อง rotary evaporater จะได้สารสกัดหยาบออกมา 70 มิลลิกรัม จากนั้นนำไปใช้ทดสอบ ถ้าเป็นแบบขั้นตอนหลังจะสามารถทราบความเข้มข้นที่แน่ชัดใช่ไหมคะ ขอขอบคุณค่ะ
    2. การหมักพืชกับตัวทำละลาย เช่น เฮกเซน ไดคลอโรมีเทน และเมทานอล ควรทำในภาชนะแบบใดได้บ้างคะ เช่น ถังพลาสติก หรือ ต้องเป็นภาชนะที่เป็นแก้วเท่านั้นคะ
    3. ไม่ทราบว่าจะสามารถสืบค้นงานวิจัยด้านหญ้าต่างๆ เช่น หญ้าคา หญ้าหวาน ของสำนักงานข้อมูลสมุนไพรได้ที่ไหนบ้างคะ มีหนังสือหรือสามารถดาวน์โหลดได้ที่ไหนบ้างคะ
    ขอขอบคุณค่ะ

  • Date : 23/12/2561 13:36:00
คำตอบ : 1. จากโจทย์ “เตรียมตัวอย่างพืช 50 กรัม แช่ในตัวทำละลายเมทานอล 500 มิลลิลิตร หมักไว้ 7 วัน เมื่อครบกำหนดกรองแยกกากออกจากตัวทำละลาย จะได้สารละลายสารสกัดหยาบของพืช ความเข้มข้น 100 กรัมน้ำหนักแห้งต่อลิตร” คุณสามารถรายงานความเข้มข้นของสารสกัดดังกล่าวได้ค่ะ หากคุณนำสารสกัดดังกล่าวไปใช้ โดยไม่มีการระเหยส่วนของตัวทำละลายออกมา ค่าความเข้มข้นที่ได้จะเป็นอัตราส่วนของพืชต่อสารสกัด แต่ไม่ใช่ปริมาณสารสกัดที่ได้หรือ %yield ซึ่งในความเป็นจริง การใช้ตัวทำละลายในการสกัดพืชสมุนไพร ตัวทำละลายจะมีการระเหยออกไปบางส่วน หรือเมื่อมีการทำสารสกัดให้เข้มข้นด้วยการระเหย ดังโจทย์ที่สองที่คุณยกตัวอย่างมา ก็จะสามารถคำนวณ %yield ออกมาได้ [%yield = (ปริมาณสารสกัดที่ได้ / น้ำหนักพืช) x100] จากนั้นจึงนำค่าปริมาณสารสกัดที่ได้ไปใช้คำนวณในการทดสอบ ซึ่งการนำสารสกัดไปใช้ หากนำไปละลายหรือเจือจางในตัวทำละลายใดๆ ในปริมาณเท่าใด ก็จะรายงานความเข้มข้นเป็น ปริมาณของสารสกัด (กรัม)/ปริมาณสารละลาย (มล.) ค่ะ

2. ภาชนะที่ใช้ในการสกัดพืช ต้องเป็นภาชนะที่ไม่ทำปฏิกิริยากับตัวทำละลาย ซึ่งโดยทั่วไปจะแนะนำให้ใช้ภาชนะที่ทำจากแก้ว หรือสแตนเลส เนื่องจากมีโอกาสเกิดปฏิกิริยากับตัวทำละลายชนิดต่างๆได้น้อยค่ะ ส่วนพลาสติกจะสามารถละลายได้ในตัวทำละลายบางชนิดค่ะ

3. คุณสามารถสืบค้นข้อมูลงานวิจัยของพืชดังกล่าวได้จากฐานข้อมูล PHARM ที่ปรากฎอยู่บนหน้าเว็บไซต์ของ สำนักงานฯ (www.medplant.mahidol.ac.th) ได้ค่ะ แต่ทั้งนี้การสืบค้นจากระบบอินเตอร์เน็ตภายนอกหน่วยงาน จะสามารถดูได้แค่ชื่อเรื่องงานวิจัยเท่านั้น เนื่องจากติดปัญหาด้านลิขสิทธิ์ คุณสามารถมาสืบค้นข้อมูลด้วยตนเองได้ที่สำนักงานข้อมูลสมุนไพร ชั้น 3 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ถ.ศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ในวันและเวลาราชการ หรือหากมีข้อสงสัยสามารถโทรมาสอบถามได้ที่ 02-354-4327 หรือ 02-644-8677-91 ต่อ 5305, 5316 ในวันและเวลาราชการค่ะ