คำถาม : สารสกัดมะขามป้อม มะขาม
  • สารสกัดมะขามป้อม มะขาม รบกวนขอความรู้ในการสกัดมะขามป้อม, มะขาม ให้เก็บได้นาน และได้สารสำคัญในการทำเครื่องสำอางค่ะ โปรดแนะนำวิธีการที่ใช้ตัวทำละลายตัวไหนดีที่สุด และวิธีแยกตัวทำละลายไม่ให้ตกค้างอย่างง่าย ใช้งบประมาณไม่สูง ขอบคุณมากค่ะ
  • Date : 31/8/2561 17:02:00
คำตอบ : สารสำคัญส่วนใหญ่ที่พบในมะขามป้อมคือ วิตามินซี และสารกลุ่มแทนนิน ดังนั้นวิธีการสกัดสารในมะขามป้อมเพื่อใช้ในเครื่องสำอางที่แนะนำคือ
1. วิธีคั้นน้ำจากผลสดมะขามป้อม จากนั้นนำไปทำเป็นผงแห้งด้วยวิธี lyophilization วิธีนี้จะสามารถรักษาวิตามินซีในมะขามป้อมไว้ได้
2. การสกัดด้วยเอทานอล โดยนำตัวอย่างพืช 5 กรัม เติม 50% เอทานอล จำนวน 50 มล. ใช้ความร้อนช่วยโดยการวางบนอ่างอังไอน้ำด้วยวิธี reflux (การ สกัดแบบไหลย้อนกลับ) นาน 30 นาที แล้วกรองกากออก เก็บสารละลายที่ได้ไประเหยตัวทำละลายออกให้เกือบแห้งบนอ่างอังไอน้ำ การสกัดวิธีนี้จะได้สารกลุ่มแทนนิน แต่ความร้อนระหว่างการสกัดจะทำให้สูญเสียวิตามินซีไป
3. การเก็บสารสกัดควรเก็บในตู้เย็น หรือตู้แช่แข็งจะเก็บได้นานขึ้น
ส่วนมะขามจะประกอบไปด้วยกรดผลไม้ ซึ่งสามารถละลายน้ำได้สามารถ สกัดได้ด้วยน้ำ ถ้าเป็นมะขามอ่อนก็นำเนื้อมาปั่นกับน้ำ ถ้าเป็นมะขามเปียกก็ขยำกับน้ำ แล้วทำให้เข้มข้นขึ้นโดยระเหยน้ำออกหรือทำให้แห้งด้วยวิธี lyophilization

การสกัดสารจากสมุนไพรทั่วๆ ไป
การสกัดสมุนไพรเพื่อนำมาใช้กับร่างกายส่วนใหญ่จะสกัดด้วยน้ำหรือเอทานอล เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นพิษจากตัวทำละลายที่อาจตกค้างขณะสกัด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสารสำคัญที่ต้องการ ดังนั้นก่อนการสกัดควรตรวจสอบก่อนว่าสารที่ต้องการเป็นสารประเภทใด มีคุณสมบัติอย่างไร ทนความร้อนหรือไม่ และละลายได้ดีในตัวทำละลายชนิดใด เพราะในสมุนไพรมีสารหลายชนิด และสารแต่ละชนิดละลายได้ดีในตัวทำละลายที่ต่างกัน

ตัวอย่างการสกัดด้วยเอทานอล
1. แช่สมุนไพรในเอทานอล 70% หรือเหล้าขาว โดยใช้เหล้าขาวประมาณ 2-3 เท่าของปริมาณสมุนไพรที่ใช้ โดยแช่ในภาชนะที่ปิดสนิท ทิ้งไว้ 7 วัน และคนทุกวัน
2. จากนั้นกรองเอาแต่ส่วนน้ำ บีบสารละลายออกจากกากให้หมด แยกเก็บสารสกัดไว้ (1)
3. เติมเหล้าขาวเพิ่มในภาชนะ เพื่อล้างกาก และทำการหมักซ้ำ อีก 7 วัน เพื่อสกัดให้ได้สารออกมามากที่สุด
4. เมื่อครบ 7 วัน กรองเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำออกมา (2)
5. นำสารสกัดที่ (1) และที่ (2) มารวมกัน จากนั้นทำให้เข้มข้นขึ้นด้วยการระเหยแอลกอฮอล์ออก โดยใช้วิธีตุ๋นในลังถึง ห้ามนำไปตั้งไฟโดยตรง เพราะแอลกอฮอล์มีคุณสมบัติติดไฟ ตุ๋นจนสารสกัดลดลงเหลือ 1 ใน 3 ทิ้งให้เย็น นำไปใส่ในขวดหรือภาชนะที่ปิดสนิท แล้วจึงเก็บในตู้เย็นช่องปกติเพื่อไว้ใช้ต่อไป

ตัวอย่างการสกัดด้วยการต้มกับน้ำ
1. ชั่งสมุนไพร ย่อยให้ขนาดเล็กพอประมาณ
2. เติมน้ำ 3-5 เท่าของน้ำหนัก ถ้าเป็นสมุนไพรสดจะใช้น้ำน้อยกว่า โดยให้น้ำท่วมสูงเกินสมุนไพรประมาณ 5 นิ้ว จดน้ำหนักที่ใช้ ถ้าเป็นสมุนไพรแห้งให้แช่ในน้ำ 20 นาที ก่อนนำขึ้นตั้งไฟปานกลางจนเดือด จับเวลาเมื่อเริ่มเดือด ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที หากน้ำแห้งให้เติมน้ำ เมื่อสีน้ำสกัดไม่เข้มจากเดิม ให้ยกลง กรองด้วยผ้าขาวบาง 3 ชั้น
3. นำกากมาต้มซ้ำ เช่นเดิม
4. รวมน้ำสกัด 2 ครั้งเข้าด้วยกัน
5. ตั้งไฟเคี่ยวต่อจนได้น้ำหนักที่ต้องการ ส่วนใหญ่จะนิยมให้น้ำหนักน้ำสกัดเท่ากับน้ำหนักสมุนไพรที่นำมาสกัด เช่น สมุนไพร 1 กก. เมื่อสกัดเสร็จแล้ว ได้น้ำสกัด 1 กก. ซึ่งง่ายต่อการคำนวณสัดส่วนในเครื่องสำอาง
ข้อเสีย กรณีที่จะเตรียมเก็บนานๆ อาจมีเชื้อแบคทีเรีย หรือรา ทำให้บูดเน่าเสียได้ง่าย สามารถแก้ไขได้ 2 วิธี คือ เติมสารกันเสีย หรือเคี่ยวให้เข้มข้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น เคี่ยวจนเหลือน้ำหนัก 1 ใน 5 แต่ต้องระวังไม่ให้ไหม้ และจดน้ำหนักสุดท้ายที่ได้ หลังจากนั้นให้สรุปการสกัด และเก็บข้อมูลไว้เป็นเทคนิคในการสกัดครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตามวิธีที่แนะนำข้างต้นจะทำให้ได้สารสกัดหยาบที่ไม่สามารถระบุชนิดหรือปริมาณสารสำคัญได้ บอกได้เพียงว่าเป็นสารสกัดเอทานอลหรือสารสกัดน้ำที่มี %ของสารสกัดต่อน้ำหนักของสมุนไพรที่ใช้เป็นเท่าไร หากต้องการระบุชนิดและปริมาณของสารสำคัญต้องนำสารสกัดที่ได้ไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายพอสมควร หากสนใจสามารถสอบถามได้ที่
- ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์(ฝ่ายเคมี) Tel: 0-2644-8679, 0-2644-8680, 0-2644-8681, 0-2644-8685 ต่อ 5538
- ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์(ฝ่ายสมุนไพร) Tel: 0-2644-8679, 0-2644-8680, 0-2644-8681, 0-2644-8685 ต่อ 5501

เอกสารอ้างอิง : คู่มือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อเศรษฐกิจชุมชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข