คำถาม : การผสมสมุนไพร
  • 1. การผสมสมุนไพรมากกว่่า 1 ชนิด เพื่อให้ได้สรรพคุณที่หลากหลาย มีหลักการในการผสมอย่างไร ต้องคำนึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง พอจะมีหนังสือหรือแหล่งข้อมูลแนะนำไหมครับ
    2. หากต้องการสกัดสมุนไพรมากกว่า 1 ชนิดในสูตรควรสกัดรวมหรือสกัดแยกครับ

  • Date : 24/5/2561 15:55:00
คำตอบ : 1. การผสมสมุนไพรหรือหมายถึง การปรุงยาสมุนไพร คุณสามารถหาอ่านรายละเอียดได้จาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๑๔ เรื่องที่ ๑๐ สมุนไพร / การปรุงยาสมุนไพร หรือจากหนังสือเกี่ยวหลักเภสัชกรรมแผนไทยในห้องสมุดต่างๆ
โดยสรุปคร่าวๆ มีหลักในการปรุงยา ซึ่งผู้ปรุงยาจำเป็นต้องรู้ 4 ประการ คือ
1) เภสัชวัตถุ ผู้ปรุงยาต้องรู้จักชื่อ และลักษณะของเภสัชวัตถุทั้ง ๓ จำพวก คือ พืชวัตถุ สัตววัตถุ และธาตุวัตถุ รวมทั้งรูป สี กลิ่น และรสของเภสัชวัตถุนั้นๆ
2) สรรพคุณเภสัช ผู้ปรุงยาต้องรู้จักสรรพคุณของยา ซึ่งสัมพันธ์กับรสของยาหรือสมุนไพร รสของยาเรียกว่า รสประธาน แบ่งออกเป็น ยารสเย็น ยารสร้อน ยารสสุขุม นอกจากรสประธานยาดังที่กล่าวนี้ เภสัชวัตถุยังมีรสต่างๆ อีก ๙ รส คือ รสฝาด รสหวาน รสเบื่อเมา รสขม รสมัน รสหอมเย็น รสเค็ม รสเปรี้ยว และรสเผ็ดร้อน ในตำรายาแผนโบราณบางตำราได้เพิ่มรสจืดอีกรสหนึ่งด้วย รสของเภสัชวัตถุนี้มีความสัมพันธ์กับสรรพคุณในการรักษาโรค เช่น ยารสฝาด มีสรรพคุณในการรักษาโรคท้องร่วง ยานี้จึงไม่ควรใช้กับผู้ที่มีอาการท้องผูก
3) คณาเภสัช ผู้ปรุงยาต้องรู้จักเครื่องยาที่ประกอบด้วยเภสัชวัตถุมากกว่า 1 ชนิด ที่นำมารวมกันแล้วเรียกเป็นชื่อเดียว ตัวอย่างเช่น ตรีผลา หมายถึง เครื่องยาที่ประกอบด้วย เภสัชวัตถุ 3 ชนิด คือ ผลสมออพยา (สมอไทย) ผลสมอพิเภก และผลมะขามป้อม เป็นต้น
4) เภสัชกรรม ผู้ปรุงยาต้องรู้จักการปรุงยา ซึ่งมีสิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ
- พิจารณาตัวยาว่าใช้ส่วนไหนของเภสัชวัตถุ จะใช้ส่วนเปลือก รากหรือดอก ใช้สดหรือแห้ง ต้องแปรสภาพก่อนหรือไม่
- ดูขนาดของตัวยา ว่าใช้อย่างละเท่าไร
- วิธีการปรุงยา ตำรายาไทยส่วนใหญ่กล่าวถึงวิธีปรุงยาไว้ 24 วิธี


2. การสกัดสมุนไพรมากกว่า 1 ชนิดในสูตรตำรับ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ เช่น หากต้องวิเคราะห์หาปริมาณสารในสมุนไพร ถ้าหากทราบว่าในสูตรตำรับนั้นมีสารสำคัญซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักหรือเป็นสารออกฤทธิ์ของสมุนไพรชนิดใด ก็สามารถแยกสกัดเฉพาะสมุนไพรนั้นๆ แต่ถ้าไม่ทราบสารสำคัญหลัก จะใช้การทดสอบหาปริมาณสารโดยรวมทั้งหมดของสมุนไพรแทน