คำถาม : น้ำกระชาย
  • ดิฉัน ทำน้ำกระชายขาย เหตุที่อยากทำน้ำกระชายขายเพราะ ได้ดูในยูทูป แล้วเกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งในคลิปได้บอกว่ากระชาย เป็นโสมไทย สิ่งที่ยังไม่แน่ใจคือ ถ้าผู้บริโภค บริโภคเป็นประจำ จะมีผลต่อร่างกายไหมคะ
  • Date : 15/9/2560 16:31:00
คำตอบ : - ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษจากการบริโภคกระชายในรูปแบบของอาหารและเครื่องดื่มค่ะ แต่ก็ไม่ควรใช้ในรูปแบบที่เข้มข้นเกินไป และควรสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างใช้ด้วย เนื่องจากกระชายมีข้อมูลการศึกษาที่ค่อนข้างน้อย ทั้งในส่วนของฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและการศึกษาความเป็นพิษ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ที่แพ้พืชตระกูลขิง เช่น ขิง ข่า ขมิ้น ไพล เนื่องจากเป็นพืชวงศ์เดียวกัน อาจทำให้เกิดการแพ้ได้

- สำหรับสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างใน Youtube จะเป็นสรรพคุณตามตำรายาไทย ซึ่งบางสรรพคุณมีระบุอยู่จริง แต่ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่รองรับว่าได้ผลตามนั้นทั้งหมดค่ะ ที่มีงานวิจัยค่อนข้างชัดเจนคือฤทธิ์ในการขับลม แก้จุกเสียด ท้องอืดท้องเฟ้อ และทางกระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้ใช้ส่วนเหง้าเพื่อรักษาอาการแน่น จุกเสียดเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมได้ในฐานข้อมูลสมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐานตาม http://medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/index.asp

- สำหรับการเปรียบเทียบฤทธิ์และสรรพคุณกับโสมจีนหรือโสมเกาหลี ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบค่ะ จึงไม่สามารถตอบได้ อีกทั้งกระชายและโสมมีสารสำคัญที่แตกต่างกัน การออกฤทธิ์จึงน่าจะแตกต่างกัน ซึ่งการใช้โสมก็มีข้อห้ามและข้อควรระวังหลายๆ อย่างค่ะ ไม่ใช้ว่าสามารถใช้ได้กับทุกคน เช่น ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เพราะโสมบางชนิดทำให้ความดันสูง เนื่องจากโสมมีหลายประเภท ดังนั้นจึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม เช่น โสมขาว (โสมที่ไม่ผ่านกระบวนการ) สำหรับผู้ที่มีความดันสูง และโสมแดง (โสมที่ผ่านกระบวนการอบเพื่อให้มีสรรพคุณทางยามากขึ่น) สำหรับผู้ที่มีความดันต่ำ และต้องระมัดระวังการใช้ร่วมกับยาเบาหวาน เนื่องจากโสมมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดหากใช้ร่วมกันจะทำให้ฤทธิ์ของยาต้านเบาหวานเพิ่มขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากโสมมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เลือดหยุดไหลช้าลง และไม่ควรใช้โสมในหญิงมีครรภ์/ให้นมบุตรและเด็ก และต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสม

- สำหรับการจ้างวิจัย ทางสำนักงานฯ ไม่มีการบริการในส่วนนี้ค่ะ อาจต้องลองติดต่อกับอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ท่านสนใจจะทำวิจัย ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงค่ะ หรือลองติดต่อกับทาง ITAP (Innovation and Technology Assistance Program) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ค่ะ โดยทางนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยสร้างเครือข่ายและช่วยประสานงานระหว่างทีมนักวิจัยและ SME ค่ะ ที่อยู่ตามนี้ค่ะ

111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ต.คลองหนึ่ง คลองหลวง ปทุมธานี 12120
โทรศัพท์ 02-564-7000 ต่อ ITAP หรือ 02-564-7082 e-mail: itap@nstda.or.th
หรือลองติดต่อกับทาง ดร.พิกุลทอง (โทรศัพท์ 089-4223883) ซึ่งท่านเป็นผู้ประสานงานอยู่ค่ะ