คำถาม : ดองดึง
  • 1.สรรพคุณทางการแพทย์พื้นบ้าน หรือการแพทย์แผนไทย โดยระบุส่วนมี่ใช้
    2.การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ของสมุนไพรดองดึง มีส่วนไหนบ้างที่ใช้ประโยชน์ และในส่วนนั้นๆ มีผลข้างเคียง ข้อระวัง และข้อห้ามใช้อย่างไรบ้าง
    3.สารสำคัญ/กลุ่มสารที่ออกฤทธ์ และฤทธ์ทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรดองดึง มีอะไรบ้าง
    4.การพัฒนา นวัตกรรม หรือผลผลิตที่มีสมุนไพรดองดึงเป็นส่วนประกอบมีอะไรบ้าง

  • Date : 27/7/2560 14:26:00
คำตอบ : สรรพคุณพื้นบ้านของดองดึง: ส่วนหัว ใช้แก้โรคเรื้อน แก้บาดแผล แก้โรคผิวหนัง ขับพยาธิ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลมในท้อง แก้หัวเข่าปวดบวม แก้เสมหะ แก้โรคหนองใน แก้กามโรค แก้ปวดเมื่อย และแก้พิษสัตว์กัดต่อย ไม่ระบุส่วนที่ใช้: แก้บาดแผล แก้โรคเรื้อน แก้ลมจุกเสียด แก้พยาธิ และแก้ริดสีดวง

จากการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยพบว่า มีการพยายามศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของดองดึงเพื่อสนับสนุนองค์ความรู้พื้นบ้านได้แก่ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านพิษงู ต้านเชื้อมาลาเรีย และต้านเซลล์มะเร็งบางชนิด โดยส่วนที่นำมาใช้ศึกษาคือส่วนเหง้า หรือหัวใต้ดิน โดยสารสำคัญที่พบคือ colchicine แต่งานวิจัยทั้งหมดเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลอง (in vitro) เท่านั้น จึงไม่สามารถระบุถึงขนาดและวิธีใช้ที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ จากข้อมูลจากฐานพืชพิษ (TPEX) และรายงานการเกิดพิษในคน ระบุว่าส่วนหัวใต้ดินของดองดึง มีcolchicine และสารอนุพันธ์ ซึ่งมีพิษก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดท้องหลังจากรับประทานเข้าไปประมาณ 2-6 ชั่วโมง ต่อมาปากและคอจะร้อนไหม้และกระหายน้ำ กลืนลำบาก การอาเจียนอาจจะรุนแรงมากและไม่สามารถควบคุมอาการได้ ในกรณีที่เกิดอาการพิษอย่างเฉียบพลัน จะมีอาการท้องเดินและอาจจะถ่ายเป็นน้ำและมีเลือดปนออกมาด้วย เนื่องจากมีการทำลายเส้นเลือดเกิดขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มาก อาจมีอาการหมดสติเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ท่อไตก็ถูกทำลายเช่นกัน ทำให้ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด แต่ปริมาณปัสสาวะน้อย มีอาการจุกเสียดท้องและปวดเบ่งปัสสาวะ กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย และในที่สุดระบบประสาทส่วนกลางเป็นอัมพาตทำให้ตายได้ เนื่องจากหยุดหายใจ ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน (ทำให้ระบบประสาทส่วนกลางเป็นอัมพาต) โดยวิธีการปฐมพยาบาลและรักษาเบื้องต้นคือ รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อทำการล้างท้อง ให้น้ำเกลือป้องกันการช็อค และรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ฉีดยา atropine หรือ meperedine สำหรับแก้ปวดท้อง