คำถาม : มีสมุนไพรไทยที่บำรุง ข้อเสื่อม
  • มีสมุนไพรไทยที่บำรุง ข้อเสื่อม หรือเพิ่มน้ำในข้อ, กล้ามเนื้อข้อเข่าหรือป่าวครับ
  • Date : 19/1/2559 13:36:00
คำตอบ : การใช้สมุนไพรไทยเพื่อการบำรุงข้อมักจะอยู่ในรูปของอาหารค่ะ โดยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และวิตามินดีเป็นส่วนประกอบในขนาดที่เหมาะสม จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับข้อและกระดูกต่างๆ ได้ค่ะ ตัวอย่างอาหารที่ให้แคลเซียมสูง เช่น กลุ่มอาหารจำพวกผักใบเขียว (บล็อกโคลี่ ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง คะน้า แขนงผัก) นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม นมถั่วเหลือง และเต้าหู้ ตัวอย่างอาหารที่ให้ฟอสฟอรัสสูง เช่น นม เนื้อ ปลา เป็ด ไก่ ไข่ เนยแข็ง ตับ ข้าวกล้อง ถั่ว ตัวอย่างอาหารที่ให้แมกนีเซียมสูง เช่น ถั่วต่างๆ ธัญพืช แป้ง และอาหารทะเล ตัวอย่างอาหารที่ให้วิตามินดีสูง เช่น น้ำมันตับปลา เนื้อปลาที่มีไขมัน ตับ และไข่แดง

นอกจากนี้ควรลดการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก อาหารรสเค็มจัด เครื่องดื่มคาเฟอีน น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรงดการสูบบุหรี่ รวมทั้งระมัดระวังการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดกรด ยาสเตรียรอยด์ เป็นต้น

สมุนไพรที่มีการศึกษาว่ามีศักยภาพในการบรรเทาอาการปวดและการอักเสบของข้อหรือโรคเก๊าท์ ได้แก่ ขิง ขมิ้นชัน น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส พริก และไพล เป็นต้น

• ขิง รับประทานในรูปแบบของสารสกัดขนาด 30 มก. - 2 ก./วัน นานมากกว่า 1 เดือน จะได้ผลใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบันที่บรรเทาอาการข้ออักเสบ แต่มีข้อควรระวังห้ามใช้สารสกัดขิงมากกว่า 6 ก./วัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ได้ เช่น อาการท้องเดิน แสบอก ระคายเคืองกระเพาะอาหาร

• ขมิ้น รับประทานในรูปแบบของสาร curcumin จากขมิ้นวันละ 1,200 มก. สามารถต้านการอักเสบโรคไขข้อรูมาตอยด์ได้ แต่ห้ามใช้ในผู้ที่มีปัญหาท่อน้ำดีอุดตันและผู้ที่เป็นนิ่วในท่อน้ำดี

• น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส รับประทานในขนาด 6 ก./วัน เป็นเวลา 6 เดือน เทียบกับการรับประทานน้ำมันมะกอก พบว่าใน 3 เดือนแรกอาการข้อฝืดตอนเช้าลดลง และอาการปวดลดลงภายใน 6 เดือน อาการอันไม่พึงประสงต์ที่พบคือ อาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารได้

• พริก ใช้ในรูปแบบของครีมแคปไซซินความเข้มข้น 0.025 – 0.075% ทาบริเวณที่ปวด วันละ 4 ครั้ง นาน 3 - 4 สัปดาห์ แต่อาจทำให้เกิดอาการผิวหนังไหม้ได้ ไม่ควรใช้ในผู้ที่ผิวแพ้ง่าย

• ไพล ใช้ในรูปแบบของครีมไพลที่มีส่วนประกอบของน้ำมันไพลอย่างน้อย 14% ทาบริเวณที่ปวด วันละ 2 - 3 ครั้ง นาน 3 - 4 สัปดาห์ แต่ควรหลีกเลี่ยงบริเวณผิวหนังอ่อนหรือบริเวณแผล เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้

อย่างไรก็ตาม การใช้อาหารและสมุนไพรดังกล่าว เป็นการใช้ในเชิงของการป้องกันและเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น หากเกิดอาการรุนแรง แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมค่ะ