คำถาม : ชาตะไคร้ ใบเตย รักษาโรคเก๊าว์ได้จริงหรือเปล่า?
  • ขอสอบถาม ชาตะไคร้ ใบเตย รักษาโรคเก๊าว์ได้จริงหรือเปล่าคะ วันนี้ได้รับคำถามจากผู้ป่วยว่ามีการโฆษณาชาตะไคร้ ใบเตยรักษาโรคเก๊าว์ได้ ดังข้อความนี้นะคะ

    ชาตะไคร้ใบเตย แก้โรคเก๊าต์ได้ดีจนเหลือเชื่อ!! คำบอกเล่าจากหมอพื้นบ้านที่เคารพท่านหนึ่งได้กรุณาให้สูตร "ชาตะไคร้ใบเตย แก้โรคเก๊าต์" ปรกติจะมียาสำหรับล้างพิษโลหิตแก้โรคเก๊าต์ให้คนไข้ซึ่งจะมีสมุนไพรทั้งคู่อยู่ในยาอยู่แล้ว แต่สูตรนี้เห็นว่ามีประโยชน์และทำได้เองง่ายๆที่บ้าน แนะนำว่าเป็นของสดๆจะได้ผลดีกว่าหลายเท่าครับ
    ส่วนประกอบ
    1.ตะไคร้ 4-5 ต้น
    2.ใบเตย 2-3 ใบ
    3.น้ำสะอาด 2 ลิตร
    ต้มสมุนไพรจนเดือด พอเดือดลดไฟลง ต้มต่ออีก 15 นาที ห้ามเปิดฝาโดยเด็ดขาด ครบ 15 นาที ทิ้งไว้ให้เย็น ดื่มแทนน้ำเปล่าติดต่อกัน 1 สัปดาห์ จะล้างกรดยูริคในเลือด สาเหตุของอาการปวดเข่าจากโรคเก๊าต์ได้ดีมากๆแบบไม่ต้องใช้ยาเลยครับ สูตรนี้ได้รับการยืนยันจากคนไข้เองว่า ได้ผลดีเกินคาด!! (ผลข้างเคียงคือ ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น หลีกเลี่ยงการดื่มก่อนเข้านอน 2 ชั่วโมงคับ) Share ต่อๆกันไปคับ ยาง่ายๆ ไม่อันตราย ได้ผลดี และประหยัดเงินเห็นๆ

  • Date : 3/11/2557 10:13:00
คำตอบ : จากข้อมูลงานวิจัยยังไม่พบรายงานเกี่ยวกับฤทธิ์ในการรักษาโรคเกาท์ หรือขับกรดยูริคของตะไคร้และเตย ดังนั้นจึงยังไม่สามารถบอกได้ว่ารักษาเกาท์ได้จริงหรือไม่ การทานเป็นชาแทนน้ำ ประกอบกับในสรรพคุณยาแผนโบราณพบว่าทั้งสองต้นมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จึงทำให้ปัสสาวะมากขึ้น ซึ่งในแนวทางการดูแลรักษาโรคเกาท์ก็จะแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ อยู่แล้ว เพื่อเพิ่มการขับกรดยูริคออกจากร่างกาย ดังนั้นผลที่ทำให้อาการดีขึ้นส่วนหนึ่งอาจเกิดจากเหตุนี้ก็ได้ อย่างไรก็ตามยังไม่พบรายงานการเกิดพิษหรือผลข้างเคียงของการดื่มชานี้ต่อเนื่องกันนานๆ ดังนั้นควรระมัดระวังในการใช้
               การรักษาโรคเกาต์ ควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ ถ้าอยู่ในช่วงที่มีการอักเสบของข้อ คงต้องรักษาโดยใช้ยาแก้ปวด และยาลดการอักเสบ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรดูแลตนเองเพื่อไม่ให้โรคกำเริบ โดยงดพืชและอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น ชะเอม กระถิน แตงกวา หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด ดอกกะหล่ำ ถั่วงอก ยอดแค ดอกสะเดา สาหร่าย ยอดผักต่างๆ เป็นต้น และแนะนำให้ลดอาหารจำพวกสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ทุกชนิด กะปิ น้ำสกัดจากเนื้อ กุ้ง หอย กุนเชียง ไส้กรอก ปลาซาร์ดีน ไข่แมงดา