คำถาม : ว่านไก่น้อยกับโรคกระดูกพรุน
  • ว่านไก่น้อย สามารถช่วย โรคกระดูกพรุน
    1.หาว่านนี้จากที่ไหน กรุณาแนะนำเพื่อให้ได้ถูกต้น
    2.วิธีใช้ ใช้ส่วนไหน ทำอย่างไร
    3.ปริมาณที่ใช้ ต่อครั้ง / ต่อวัน
    4.สมุนไพร อื่นที่ใช้แทนว่านไก่น้อย
    ขอบคุณค่ะ

  • Date : 9/6/2557 12:28:00
คำตอบ : จากการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านโรคกระดูกพรุนของว่านไก่น้อยพบว่า สารสกัดเอทานอลว่านไก่น้อยมีฤทธิ์ยับยั้งโรคกระดูกพรุนในหนูแรทเพศเมียที่ถูกตัดรังไข่ออก ซึ่งจะทำให้หนูขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ทำหน้าที่ควบคุมการสลายกระดูก จึงสันนิษฐานว่าสมุนไพรว่านไก่น้อยอาจพัฒนาใช้เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือนได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยทางคลินิกหรือการศึกษาในคน จึงไม่สามารถระบุปริมาณหรือวิธีการใช้ได้ และทางสำนักงานฯ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งซื้อขายพืชสมุนไพร แนะนำให้สอบถามไปที่กรมส่งเสริมการเกษตร โทร.02-955-1555
               ส่วนพืชสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่มีการศึกษาทางคลินิกและรายงานว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดโรคกระดูกพรุนได้แก่ สารสกัด polyphenol จากชาเขียว โดยให้รับประทานในรูปแบบของยาเม็ดแคปซูลวันละ 500 มิลลิกรัม ร่วมกับการออกกำลังกายเบาๆ แบบรำไท่เก๊ก 3 ครั้ง/สัปดาห์ (ครั้งละ 1 ชั่วโมง) นาน 24 สัปดาห์ พบว่าสามารถช่วยลดการสูญเสียมวลกระดูกของหญิงวัยหมดประจำเดือนได้
               โรคกระดูกพรุนนอกจากจะมีสาเหตุมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในวัยหมดประจำเดือนแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงเช่น การกินยาบางชนิดที่มีผลทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายลดลง โรคที่เกิดจากการทำงานของต่อมไร้ท่อผิดปกติ และพันธุกรรม เป็นต้น หากเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของการเกิดโรคและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและการรับประทานอาหารให้เหมาะสมด้วย เช่น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่ส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียมให้กับร่างกายเช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย และผักใบเขียว รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด งดสูบบุหรี่และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น