คำถาม : ข้อมูลสมุนไพร
  • อยากทราบข้อมูลทั่วไป วิธีใช้ และพิษของ มะพร้าว มะระขี้นก หางไหลแดง และผักหนามค่ะ
  • Date : 7/10/2556 10:59:00
คำตอบ : มะพร้าว (Cocos nucifera  L.)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ยืนต้น ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง 25 เมตร ไม่แตกกิ่ง มีรอยแผลเมื่อก้านใบหลุดออกไป ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับหนาแน่นที่บริเวณยอด ยาว 4-6 เมตร ใบย่อยรูปพัดจีบ กว้าง 1.5-5 ซม. ยาว 50-100 ซม. ดอกช่อ ออกระหว่างก้านใบ ดอกย่อยจำนวนมาก แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้สีเหลืองหม่น ดอกตัวเมียสีเขียวหรือเขียบแกมเหลือง ใบประดับยาว 60-90 ซม. ผลสด รูปไข่แกมทรงกลมหรือรูปไข่กลับ สีเขียวหรือเขียวแกมเหลือง เนื้อสีขาว
สรรพคุณยาไทย : น้ำมันทาแก้ปวดเมื่อยและขัดตามเส้นเอ็น หรือใช้เจือกับยาที่มีรสฝาด รักษาบาดแผล
ความเป็นพิษ : ยังไม่พบการศึกษาความเป็นพิษของมะพร้าว

มะระขี้นก (Momordica charantia  L.)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถา มีมือเกาะ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปฝ่ามือ กว้างและยาวประมาณ 4-7 ซม. ขอบใบเว้าเป็นแฉกลึก 5-7 แฉก ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ แยกเพศ อยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกสีเหลืองรูประฆัง ผลเป็นผลสด รูปกระสวย ผิวขุรขระ มีรสขม
สรรพคุณยาไทย : เนื้อผลลมีรสขม ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี แก้โรคของม้ามและตับ ขับพยาธิ น้ำคั้นจากผล ป็นยาระบายอ่อนๆ อมแก้ปากเปื่อย ปากเป็นขุย
ความเป็นพิษ : ผลสุกไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน มีการศึกษาในหนูแรทพบว่าเมื่อให้ผงมะระขนาด 5 กรัม/กก.กรัมน้ำหนักตัว ไม่พบความเป็นพิษและไม่ทำให้หนูตาย อย่างไรก็ตามมีรายงานว่ามีผู้รับประทานน้ำมะระเข้มข้นที่เตรียมจากการคั้นผลอ่อน เกิดอาหารท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน และอาจเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

หางไหลแดง (Derris elliptica  (Roxb.) Benth.)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่เรียงสลับ ยาว 22.5-37.5 ซม. ใบย่อย 9-13 ใบ รูปขอบขนานถึงรูปใบหอกแกมขอบขนาน กว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 7.5-15 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม หลังใบเกลี้ยงท้องใบมีขน ดอกช่อกระจะยาว 22.5-30 ซม. มีขนสั้นหนานุ่ม กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 6 มม. เชื่อมติดกันเป็นรูประฆังมีขน กลีบดอกรูปดอกถั่ว สีชมพู หายากที่เป็นสีขาว ยาวประมาณ 1.5 ซม. กลีบกลางรูปโล่เกสรตัวผู้เชื่อมติดกันเป็นมัดเดียว รังไข่มีขนอุย ฝักรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก กว้าง 2 ซม. ยาว 3.5-8.5 ซม. ตะเข็บบนแผ่เป็นปีก มีเมล็ด 1-4 เมล็ด
สรรพคุณยาไทย : รากและลำต้นใช้เป็นยาเบื่อปลา ฆ่าสัตว์น้ำ และแมลง
ความเป็นพิษ : การศึกษาในหนูเม้าส์พบว่า ระดับที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (ค่า LD50) ของสารสกัดคลอโรฟอร์ม น้ำร้อน และปิโตรเลียมอีเธอร์จากส่วนราก มีค่า 700, 600 และ 700 มก./กก. ตามลำดับ

ผักหนาม (Lasia spinosa  (L.) Thwaites)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นทอดเลื้อยและชูยอดขึ้น มีหนาม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปลูกศร หรือขอบใบหยักเว้าลึก แผ่นใบด้านปลายใบ ขนาด 35 x45 ซม. แผ่นใบด้านโคนใบขนาด 10 x 25 ซม. มีหนาม บริเวณเส้นใบด้านล่าง ก้านใบยาวได้ถึง 1 เมตร มีนาม ดอกช่อ แทงออกมาจากกาบใบ ก้านดอกยาวได้ถึง 75 ซม. มีหนาม ใบประกอบสีน้ำตาลแกมเขียวถึงสีม่วง ยาวได้ถึง 55 ซม. บิดเป็นเกลียวเล็กน้อย กลีบดอกสีขมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมเขียว ผลสด หนาและเหนียว
สรรพคุณยาไทย : รากใช้เป็นยาภายนอก ต้มน้ำอาบสำหรับถอนพิษ แก้ตุ้มพิษ คันตามตัว เหง้าแก้คัน รักษาผื่น แก้หูน้ำหนวก ใบและก้านใบ แก้ไอ แก้ปวดท้อง บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง
ความเป็นพิษ : ยังไม่พบการศึกษาความเป็นพิษของผักหนาม

สำหรับวิธีการใช้สมุนไพรแต่ละชนิดนั้น สามารถใช้ได้หลายรูปแบบ ทั้งการใช้ภายนอกและภายใน หรือบางครั้งอาจจะต้องใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก หากต้องการทราบวิธีการใช้ในรูปแบบใดหรือใช้ในการรักษาอาการใดรบกวนระบุด้วยค่ะ