คำถาม : มะแว้ง
  • ขอเรียนถามว่า
    1. ในบัญชียาสมุนไพรได้ระบุข้อควรระวังในยาประสะมะแว้งว่า "ไม่ควรทานติดต่อกันนานเกิน 15 วัน" ไม่ทราบมีสาเหตุจากอะไร? และยามะแว้งชนิดอม กับชนิดน้ำ ชนิดไหนควรระวังการใช้มากว่ากัน
    2. สารสำคัญในมะแว้งตัวใดที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาหรือแก้ไอ และออกฤทธิ์อย่างไร ขอบคุณค่ะ

  • Date : 29/4/2556 12:35:00
คำตอบ : 1.ไม่มีข้อระบุบ่งชี้โดยตรงเกี่ยวกับการรับประทานยาประสะมะแว้ง ที่มีข้อควรระวังไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 15 วัน แต่การใช้ยาติดต่อกันเกินสองสัปดาห์อาจส่งผลให้ตับทำงานหนัก และเมื่อทานยาไปแล้วสองสัปดาห์แต่อาการไม่ดีขึ้นก็ควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อสังเกตุอาการต่อไปหรือเพื่อปรับเปลี่ยนยาหรือรูปแบบการรักษา
               สำหรับรายงานความเป็นพิษของยาประสะมะแว้ง ซึ่งประกอบไปด้วยมะแว้งเครือและมะแว้งต้น มีรายงานความเป็นพิษของมะแว้ง ดังนี้
               มะแว้งเครือ: เมื่อฉีดสารสกัด glycoside ของมะแว้งต้นขนาด 108.7 มล./กก. ความเข้มข้น 10% เข้าใต้ผิวหนังหนูเม้าส์ พบว่าทำให้เกิดอาการชัก แต่เมื่อให้สารสกัดด้วยอัลกอฮอล์และน้ำ (1:1) ไม่พบพิษใดๆ ไม่ว่าจะให้ด้วยวิธีการป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
               มะแว้งต้น : Dhar และคณะ ได้ทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดต้นมะแว้งต้นด้วยเอทานอลและน้ำ (1:1) โดยฉีดสารสกัดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ในขนาด 50 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีค่า LD50 เท่ากับ 900 มก./กก. Abraham และคณะ ทดลองฉีดสารสกัดส่วนเหนือดินของมะแว้งต้นด้วยเอทานอลและน้ำ (1:1) เข้าช่องท้องหนูถีบจักร พบว่าสารสกัดมีค่า LD50 เท่ากับ 383 มก./กก.
               สำหรับข้อควรระวังในการใช้มะแว้งชนิดอมและชนิดน้ำ ตำรับยาประสะมะแว้งที่มีระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติมี 3 ชนิดเท่านั้นได้แก่ ชนิดผง ชนิดเม็ด และชนิดลูกกลอน ส่วนยาแก้ไอมะแว้งนั้นมีขายทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งไม่มีข้อระบุเกี่ยวกับข้อควรระวังว่าชนิดอมหรือชนิดน้ำมีข้อควรระวังในการใช้มากกว่ากัน แต่สิ่งสำคัญคือผู้ใช้ควรใช้ยาตามวิธีการใช้ยาที่ระบุไว้ตามฉลากของยาอย่างเคร่งครัด

รายละเอียดวิธีการใช้และข้อควรระวังของตำรับยาประสะมะแว้งตามบัญชียาหลัก

ขนาดและวิธีใช้
ชนิดผง

-ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม เมื่อมีอาการ ละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือรับประทาน
-เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 200-400 มิลลลิกรัม เมื่อมีอาการ ละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือรับประทาน
ชนิดเม็ดและชนิดลูกกลอน
-ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม เมื่อมีอาการ ละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือรับประทาน หรือใช้อม
-เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม เมื่อมีอาการ ละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือรับประทาน หรือใช้อม
ข้อควรระวัง
-ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 15 วัน หากไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์
-ในผู้ป่วยที่ต้องจำกัดการใช้เกลือ ไม่ควรใช้น้ำมะนาวแทรกเกลือ

               2. มะแว้งมีสรรพคุณตามแผนโบราณ คือ แก้ไข้ ขับเสมหะ สารสำคัญที่พบจึงเป็นสารอัลคอลอยด์ เช่น solanine , solanidine , solamarine, solasodine แต่ไม่มีรายงานการออกฤทธิ์ระงับการไอ (Anti-tussive) โดยตรงแต่มีรายงานระบุว่า
-Solasodine, Steroids มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ
-Tannins มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียในทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Infection)

ที่มา : - คู่มือการใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2555