ขมิ้น

ชื่อวิทยาศาสตร์         Curcuma longa L.

วงศ์                         Zingiberaceae

ชื่อพ้อง                       C. domestica Valeton

ชื่ออื่น ๆ                       ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว ขมิ้นชัน ขี้มิ้น หมิ้น ตายอ สะยอ Turmeric

สารออกฤทธิ์                curcumin, ar-turmerone (1)

 

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวกับแก้โรคแผลในกระเพาะอาหาร

1.  ฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร  

โดยเร่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อที่เป็นแผล  ทำให้แผลหายเร็วขึ้น  ar-turmerone จากน้ำมันหอมระเหยของขมิ้นเป็นสารออกฤทธิ์ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (1)

น้ำคั้นเหง้าสด ผงขมิ้น ส่วนที่สกัดด้วยอัลกอฮอล์ที่ละลายในเฮกเซนและส่วนที่สกัดด้วยอัลกอฮอล์ที่ไม่ละลายในเฮกเซนให้แก่หนูขาวที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร 3 วิธี ได้แก่ การทำให้เครียดด้วยความเย็น ให้กรดเกลือและให้แอสไพริน  พบว่ายาเตรียมและส่วนสกัดต่างๆ ยกเว้นส่วนที่สกัดด้วยอัลกอฮอล์ที่ไม่ละลายในเฮกเซนป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ (2)

นอกจากนี้ยังมีการทดลองทางคลินิกในการใช้ขมิ้นในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องด้วยอาการโรคแผลในกระเพาะอาหาร โดยเปรียบเทียบกับการใช้ยาไตรซิลิเกต (trisilicate) ซึ่งเป็นยาลดกรดขององค์การเภสัชกรรมได้ผลดังนี้ คือ อาการดีขึ้นมากหลังรักษาด้วยขมิ้นชันครบ 12 สัปดาห์ จำนวน 15 ราย คิดเป็น 60% หายเป็นปกติ 1 ราย คิดเป็น 5.8% อาการดีขึ้นมากหลังรักษาด้วยยาไตรซิลิเกต 5 ราย คิดเป็น 50% และหายเป็นปกติ 4 ราย คิดเป็น 40% (3)

ต่อมาได้มีการทดลองในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องและอาการอื่นๆ ที่บ่งถึงภาวะแผลเปื่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก โดยให้รับประทานขมิ้นแคปซูล 250 มก. (2 แคปซูล) วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ให้ผลการรักษาได้ดี ไม่มีผลการเปลี่ยนแปลงของเลือด (2) และยังมีการทดลองในผู้ป่วยโดยให้ขมิ้น 250 มก. (2 แคปซูล) 4 เวลา ก่อนอาหารและก่อนนอน ทดสอบโดยการส่องกล้องในสัปดาห์ที่ 0, 4, 8 และ 12 สัปดาห์  หลังจากรักษาด้วยขมิ้นในผู้ป่วย 10 คน เป็นชาย 8 คนและหญิง 2 คน อายุระหว่าง 16-60 ปี เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของแผล 0.5-1.5 ซม. หลังจากรักษาไปได้ 4 สัปดาห์ มี 5 คน (50%) ที่แผลหาย และอีก 6 คน (60%) แผลหายในช่วงสัปดาห์ที่ 12 (2)

นอกจากนี้ได้มีการทดลองต่อมาในผู้ป่วยชาย 24 คนและหญิง 21 คน ให้รับประทานขมิ้นแคปซูล 300 มก. (2 แคปซูล) 5 เวลา คือ ก่อนอาหาร ชั่วโมงที่ 16 และก่อนนอน  หลังจากนั้น 4 สัปดาห์ มี 12 ราย แผลหาย (48%)  และในสัปดาห์ที่ 8 มี 18 ราย แผลหาย (76%) และอีก 19 ราย ที่แผลไม่หายใน 12 สัปดาห์ มี 20 ราย ไม่พบแผลในกระเพาะอาหาร แต่มีอาการปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบและอาหารไม่ย่อย และยังพบอีกว่าอาการปวดท้องและไม่สบายท้องหายไป เมื่อให้ขมิ้นแคปซูลใน 1-2 สัปดาห์แรก และสามารถรับประทานอาหารได้ปกติแทนอาหารอ่อนได้ใน 4 สัปดาห์ ระดับสารต่างๆ ในเลือดของผู้ป่วย 54 คน ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ (4)

curcumin จากขมิ้นลดการอักเสบจากบาดแผลได้ดี การทดลองในหลอดทดลอง โดยใช้สารสกัดขมิ้น 160 มก./กก. กรอกเข้าทางกระเพาะอาหาร (intragastric) ของหนูขาว ยับยั้งการอักเสบคิดเป็น 29.5% (5) curcumin มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนน การทดลองเปรียบเทียบระหว่าง phenylbutazone กับ sodium curcuminate 30 มก./กก. พบว่าได้ผลดี แต่ถ้าสูงขึ้นเป็น 60 มก./กก. ฤทธิ์ต้านการอักเสบจะลดลง และ sodium curcuminate ยังสามารถยับยั้งการบีบตัวของลำไส้หนูในหลอดทดลองที่เหนี่ยวนำจากนิโคติน อะซีติลโคลีน 5-hydroxy-tryptamine ฮีสตามีนและแบเรียมคลอไรด์ นอกจากนี้ sodium curcuminate ยังลดจังหวะการบีบรัดตัวของลำไส้เล็กของกระต่าย โดยไปลดระยะห่างของจังหวะการบีบรัดตัวของลำไส้ (6)

นอกจากนี้ curcumin มีฤทธิ์ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารน้อยกว่า phenylbutazone และป้องกันการอักเสบโดยเหนี่ยวนำให้ระดับ SGOT และ SGPT เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีฤทธิ์แก้ปวดและลดไข้ ขนาดที่รับประทานแล้วทำให้เกิดอันตรายจากการทดลองในหนูถีบจักร คือมากกว่า 2 ./กก.(5)

ขมิ้นสามารถยับยั้งการเกิดแผล ช่วยไม่ให้แผลในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น ทดลองโดยให้สารสกัดอัลกอฮอล์ของขมิ้นกรอกเข้าทางปาก ในขนาด 500 มก./กก. แก่หนูขาว สามารถป้องกันการเกิดแผลที่เป็นสาเหตุจาก pyloric ligation, ความเครียดโดยใช้ความเย็น, indomethacin, reserpine และ cysteamine รวมทั้งเมทานอล (80%), 0.6 M hydrochloride, 0.2 M Sodium hydroxide และ Sodium chloride (95%) (7) ได้อีกด้วย

phenyl-1-hydroxy-N-pentane ซึ่งสังเคราะห์จาก p-tolylmethyl carbinol จากขมิ้น สามารถแสดงฤทธิ์ต้านการหลั่ง secretin โดยไปกระตุ้นการหลั่ง bicarbonate จากตับอ่อน ทำให้ปริมาณ secretin เพิ่มขึ้น (8)

2.  กระตุ้นการหลั่งมิวซินมาเคลือบกระเพาะอาหาร

ขมิ้นสามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (7, 9) โดยกระตุ้นการหลั่งมิวซินมาเคลือบและยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยต่างๆ (10) สารสำคัญในการออกฤทธิ์คือ curcumin ในขนาด 50 มก./กก. สามารถกระตุ้นการหลั่งมิวซินออกมาเคลือบกระเพาะอาหาร (11) แต่ถ้าใช้ในขนาดสูงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ (12, 13)

มีการทดลองในกระต่ายเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีการหลั่งกรดมาก พบว่าผงขมิ้นไม่เปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหาร แต่เพิ่มส่วนประกอบของมิวซิน (11) ส่วน curcumin ที่ได้จากเหง้าขมิ้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่ถูกเหนี่ยวนำโดย phenylbutazone และแอสไพริน โดยไปเพิ่มส่วนประกอบของมิวซิน (14)

3. ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

เป็นที่ทราบกันแน่ชัดแล้วว่า เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter  เป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจาก Helicobacter ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกย่อยทำลายโดยกรดและน้ำย่อยได้ง่ายขึ้น สารสกัดเมทานอลจากรากขมิ้นร่วมกับเหง้าขิง (1:1) มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pyroli ความเข้มข้นของสารต่ำสุดที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งได้ 50% (MIC50) เท่ากับ 50 มคก./มล. (15) สารสกัดเมทานอลจากเหง้าขมิ้นแห้งและสารเคอร์คูมินจากขมิ้น สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของ H. pyroli 19 สายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์ cagA+ 5 สายพันธุ์ ค่า MIC อยู่ระหว่าง 6.25-50 มคก./มล. (16) Foryst-Ludwig และคณะ ศึกษาสารเคอร์คูมินจากขมิ้นความเข้มข้น 40 หรือ 80 ไมโครโมล ไม่มีผลยับยั้ง H. pyroli เมื่อทดสอบโดยการนับจำนวน colony ของเชื้อแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่แตกต่างจาก colony ที่ไม่ได้รับสารเคอร์คูมิน แต่พบว่าเคอร์คูมินจะยับยั้งการทำงานของ NF-KB ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบ โดยจะยับยั้งการสลายตัวของ IKBa การทำงานของเอนไซม์ IKB kinases a และ b และ NF-KB DNA-binding นอกจากนี้ยังยับยั้งการหลั่ง Interleukin 8 และการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ (cell scattering) (17)

 

หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ

          ดูรายละเอียดในแก้โรคอุจจาระร่วง

 

ขมิ้นเป็นสมุนไพรที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากขมิ้นมีศักยภาพในการนำมาใช้บำบัดโรคทางเดินอาหารได้ผลเป็นอย่างดี คือนำมาใช้ในการบำบัดอาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ และยังมีผู้ทดลองนำมาใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารอีกด้วย มีทั้งผลการศึกษาสัตว์ทดลองและผลการศึกษาทางด้านคลินิกที่ยืนยันว่าขมิ้นมีศักยภาพในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร โดยมีฤทธิ์ในการยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร กระตุ้นการสร้างเมือกมาเคลือบกระเพาะอาหาร ลดการอักเสบ สมานแผลในกระเพาะอาหารและต้านแบคทีเรีย Helicobacter pyroli อีกทั้งค่อนข้างปลอดภัยในการใช้

 

ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการนำขมิ้นมาใช้ประโยชน์ในรูปยาผงหรือแคปซูล จึงควรมีการศึกษาวิจัยทางด้านนี้เพิ่มเติมในเรื่องปริมาณและขนาดของสารออกฤทธิ์ เพื่อยืนยันผลการทดลอง และสามารถพัฒนาผลการศึกษาวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

1.       Nutakul W.  NMR analysis of antipeptic ulcer principle from Curcuma longa L.  Bull Dept Med Sci 1994;36(4):211-8.

2.       Prucksunand C, Indrasukhsri B, Leethochawalit M, Nilvises N, Prijavudhi A, Wimolwattanapun S.  Effect of the long turmeric (Curcuma longa Linn.) on healing of peptic ulcer: a preliminary report of 10 case study.  Thai J Pharmacol 1986;8(3): 139-51.

3.       อัญชลี อินทนนท์ สมเกียรติ เมธีวีรวงศ์ ประกาย วิบูลย์วิภา พยุงศรี เซียงตระกูล, บรรณาธิการ.  รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง การใช้ขมิ้นรักษาอาการปวดท้อง.  โครงการสมุนไพรกับการสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข (โดยความช่วยเหลือขององค์การยูนิเซฟ).  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข, 2529:7.

4.       Prucksunand C, Indrasukhsri B, Leethochawalit M, Hungspreugs K.  Phase II clinical trial on effect of the long turmeric (Curcuma longa Linn.) on healing of peptic ulcer. Southeast Asian.  J Trop Med Public Health 2001;32(1):208-15.

5.       Srimal RC, Dhawan BN.  Pharmacology of diferuloyl methane (curcumin), a non-steroidal anti-inflammatory analogs in rats.  J Pharm Pharmacol 1973;25(6):447-52.

6.       Rao TS, Basu N, Siddiqui HH.  Anti-inflammatory activity of curcumin analogs.  Indian J Med Res 1982;75:574-8.

7.       Permpiphat U, Kieatyingungsulee N, Anulakanapakorn K, Jirajariyavech W, Kittisiripornkul S, Juthaputhi U.  Pharmacological study of Curcuma longa.  Symposium of the Department of Medicinal Science, Bangkok, Thailand, Dec 3-4, 1990.

8.       Chey WY, Laura M, Lee KY, Watanabe S, Shiratori K, Takeuchi T.  Effect of 1-phenylpentanol on release of secretin and exocrine pancreatic secretion in dogs and humans.  Gastroenterology 1983;84:1578-84.

9.       Gujral ML, Chowdhury NK, Saxena PN.  Effect of indigenous remedies on the healing of wounds and ulcers.  JIMA 1953;22(7):273-6.

10.    Rafatullah S, Tariq M, AI-Yahya MA, Mossa JS, Ageel AM.  Evaluation of tumeric (Curcuma longa) for gastric and duodenal antiulcer activity in rats.  J Ethnopharmacol 1990;29(1):25-34.

11.    Sinha M, Mukherjee BP, Mukherjee B, Sikdar S, Dasgupta SP.  Study of the mechanism of action of curcumin: an antiulcer agent.  Indian J Pharm 1975;7:98-9.

12.    Prasad DN, Gupta B, Srivastava RK, Satyavati GV.  Studies on ulcerogenic activity of curcumin.  Ind J Physiol Pharmacol 1976;20(2):92-3.

13.    Gupta B, Kulshrestha VK, Srivastava RK, Prasad DN.  Mechanisms of curcumin induced gastric ulcer in rats.  Indian J Med Res 1980;71:806-14.

14.    Mukerji B, Zaidi SH, Singh GB.  Species and gastric secretion in rabbits.  J Sci Industr Res 1961;20:25-8.

15.    Mahady GB, Pendland SL, Stoia A, Hamill FA.  In vitro susceptibility of Helicobacter pyroli to botanicals used traditionally for the treatment of gastrointestinal disorders.  Phytomedicine 2000;(suppl II):95.

16.    Mahady GB, Pendland SL, Yun G, Lu ZZ.  Turmeric (Curcuma longa) and curcumin inhibit the growth of Helicobacter pyroli, a group 1 carcinogen.  Anticancer Res 2002;22(6C):4179-81.

17.    Foryst-Ludwig A, Neumann M, Schneider-Brachert W, Naumann M.  Curcummin blocks NF-KB and the motogenic response in Helicobacter pyroli-infected epithelial calls.  Biochemical Biophysical Research Communications 2004;316(4):1065-72.