สมุนไพรที่ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

 

          การเกิดแผลในกระเพาะอาหารอาจเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างปัจจัยที่มีผลทำลายและปัจจัยที่ป้องกันเยื่อบุกระเพาะอาหาร ได้แก่ กรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารเอง รวมทั้งการไหลย้อนกลับของน้ำดี และพบว่าเชื้อ Helicobacter pylori  ซึ่งพบบนเยื่อบุกระเพาะอาหารเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้กลไกการป้องกันตนเองจากการถูกทำลายโดยกรดของเยื่อบุทางเดินอาหารหย่อนสมรรถภาพลง นอกจากนี้ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ  เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่ม NSAIDs เป็นต้น และสภาวะของแต่ละบุคคลก็เป็นสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ด้วย สำหรับปัจจัยการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารนั้นในภาวะปกติ ซึ่งเป็นความสามารถของเยื่อบุทางเดินอาหารที่จะปกป้องตนเองจากการถูกย่อยโดยกรดและน้ำย่อย มีอยู่หลายปัจจัยด้วยกันคือ เมือกเคลือบเยื่อบุทางเดินอาหาร การหลั่งไบคาร์บอเนต การไหลเวียนของเลือดที่เยื่อบุ อัตราเร็วในการสร้างเซลล์มาซ่อมแซมเยื่อบุที่ถูกทำลายไป และอัตราการผลิตสาร prostaglandin ในร่างกาย รวมทั้ง gastric emptying time มีอิทธิพลต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ถ้าผู้ป่วยมี gastric emptying time เร็วกว่าปกติอาจทำให้เกิดแผลในลำไส้เล็กส่วนต้นได้ แม้ว่าการหลั่งกรดจะอยู่ในอัตราปกติ ทั้งนี้เพราะลำไส้เล็กไม่สามารถ neutralize กรดที่ลงมาจากกระเพาะอาหารได้ทัน แต่ถ้า gastric emptying time ยาวขึ้น จะทำให้กรดและน้ำดีไหลย้อนขึ้นไปในกระเพาะอาหารทำให้เกิดการทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารได้เช่นกัน

          จุดมุ่งหมายในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารก็คือ ลดความเจ็บปวด รักษาแผลให้หาย และป้องกันการเกิดแผลใหม่ โดยมุ่งไปในการลบล้างฤทธิ์หรือยับยั้งการหลั่งกรดและน้ำย่อย  และเสริมสร้างความคงทนของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ตลอดจนปรับเร่งให้ gastric emptying time เร็วขึ้น ซึ่งในปัจจุบันยาที่ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารจึงเป็นยาที่มุ่งออกฤทธิ์ในการตอบสนองต่อเป้าหมายการรักษาข้างต้น ดังนี้คือ

1. ยาลดกรด

2. ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรด

3. ยาที่มีฤทธิ์ป้องกันเยื่อบุทางเดินอาหาร

4. ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดและป้องกันเยื่อบุทางเดินอาหาร

5. ยาที่มีฤทธิ์เปลี่ยนแปลง gastric emptying time (1)

 

การดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร

1. พยายามกินอาหารให้ตรงเวลา แม้จะไม่หิวก็ตาม ถ้าเลยเวลากินอาหารแต่ยังไม่สามารถกินอาหาร ควรดื่มนมหรืออาหารเบาๆ รองท้องหรือกินยาเคลือบกระเพาะอาหารไว้ก่อน

2. ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยควรรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนก่อน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารแข็งและอาหารย่อยยาก

 

เอกสารอ้างอิง

1.      จุฑามณี จารุจินดา จงจิตร อังคทะวานิช ลิ้นจี่ หวังวีระ และคณะ, บรรณาธิการ.  ความก้าวหน้าของยาที่ใช้ในระบบทางเดินอาหาร.  กรุงเทพฯ:คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2532: 271 หน้า.

2.      http://www.aidsaccess.com.  Available access 14/01/2003.