ว่านนางกวัก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alocasia cucullata (Lour.) G. Don
วงศ์ Araceae
ชื่ออื่น ๆ ว่านทรหด ว่านนกคุ่ม Chinese taro
ลักษณะของพืช ไม้ประดับ ที่มีก้านตั้งตรงจากลำต้นหนา 3-6 เซนติเมตร ก้านใบยาวตั้งแต่ 20-85 เซนติเมตร ใบลักษณะคล้ายใบโพธิ์ขนาดกว้าง 8-30 x 6-35 เซนติเมตร มีก้านใบเชื่อมถึงกัน สีเขียวแกมน้ำเงิน ใบด้านบนเป็นมัน เห็นเส้นใบโค้งตามรูปใบชัดเจน มีเหง้าอยู่ใต้ดิน
ส่วนที่เป็นพิษ ก้านใบ ใบ ผล
สารพิษที่พบ ผลึกแคลเซียมออกซาเลท (ก้านใบ ใบ) cyanogenic glycoside (ผล)
อาการพิษ ผลึกแคลเซียมออกซาเลท จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง มีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อน อักเสบ บวม และพองเป็นตุ่มน้ำใส หากถูกตาจะทำลายเยื่อบุตา ถ้ารับประทานเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อปากและคอ เสียงแหบ น้ำลายไหล อาเจียน แสบร้อนผิวหนังที่สัมผัส เยื่อบุกระพุ้งแก้ม ลิ้น และเพดานปากบวม พอง บางรายอาจพูดลำบาก ไม่มีเสียง อาการที่รุนแรงมากคือ กลืนลำบากถึงกลืนไม่ได้ อาจทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบรุนแรงได้
ตัวอย่างผู้ป่วย - มีรายงานพบผู้ป่วยจากการรับประทานว่านนางกวักโดยเข้าใจผิดว่าเป็นต้นบอน มีอาการปวดแสบ ปวดร้อนที่คอ ลิ้น และบริเวณภายในกระพุ้งแก้ม ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แพทย์ได้ทำการล้างท้อง งดน้ำและอาหาร ให้ยาเคลือบกระเพาะ และรักษาตามอาการจนกระทั่งผู้ป่วยอาการดีขึ้น
- ในประเทศศรีลังกา มีเด็ก 2 คน เสียชีวิตจากการรับประทานผลของว่านนางกวัก ซึ่งอาการพิษที่พบคล้ายคลึงกับพิษจากสาร cyanogenic glycoside
การรักษา - หากสัมผัสถูกผิวหนัง ให้ใช้น้ำชะล้างหลาย ๆ ครั้ง แล้วทาด้วยครีมสเตียรอยด์และรับประทานยาสเตียรอยด์
- หากเข้าตา ให้ล้างด้วยน้ำหลาย ๆ ครั้ง หยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์ แล้วนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
- ถ้ารับประทานเข้าไป ให้ใช้น้ำล้างปากและคอ แล้วรักษาตามอาการ อาจให้ยาลดกรด aluminium-magnesium hydroxide ทุก 2 ชั่วโมง ให้ยาแก้ปวด ให้ยาสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ
บรรณานุกรม - นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ใน รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
- วีณา จิรัจฉริยากูล (บรรณาธิการ). ผู้อ่านถึงผู้อ่าน. จุลสารข้อมูลสมุนไพร 2542;17(1):19-21.
- Martz W. Plants with a reputation against snakebite. Toxicon 1992;30(10):1131-42.
- Hang YC, Ho HC, Chu HF, et al. Active principles of bujie (Alocasia cucullata). Chung Ts’ao Yao 1981;12(1):9.
- But PPH, Hu SY, Kong YC. A critical review of the medicinal plant resources in Chinese flora: vascular plants used in Chinese medicine. Proc fourth Asian symposium on medicinal plants and spices. Bangkok, Thailand, 15-19 September 1981:30-39.
- Goonasekera CDA, Vasanthathilake VWJK, Ratnatunga N. Is nai habarala (Alocasia cucullata) a poisonous plant?. Toxicon 1993;31(6):813-6.