เทียนหยด
ชื่อวิทยาศาสตร์ Duranta repens L.
วงศ์ Verbenaceae
ชื่ออื่น ๆ เครือออน พวงม่วง ฟองสมุทร สาวบ่อลด golden dewdrop, pigeon berry, skyflower
ลักษณะของพืช ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบรูปไข่ ดอกออกทั้งปีออกเป็นช่อ ดอกมีสีม่วงอมฟ้า หรือขาว ผลกลมสีส้มเหลือง
ส่วนที่เป็นพิษ ผล และใบ
สารพิษที่พบ ผล พบสารกลุ่มซาโปนินที่เป็นพิษ ได้แก่ duratoside IV, duratoside V ใบ พบกรดไฮโดรไซยานิค (hydrocyanic acid, HCN) หรือไซยาไนด์
อาการพิษ - ผู้ป่วยที่รับประทานผลเทียนหยด มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ ในรายที่เกิดอาการพิษรุนแรง เนื้อเยื่อที่อยู่ลึก ๆ อาจถูกทำลาย กรณีที่มีการดูดซึมสารพิษ ผู้ป่วยมีไข้สูง กระหายน้ำ จิตใจมีความกังวล ม่านตาขยาย และหน้าแดง พิษที่รุนแรงแสดงออกที่กล้ามเนื้อไม่มีแรง การประสานงานของกล้ามเนื้อไม่ดี สุดท้ายการไหลเวียนของเลือดไม่สม่ำเสมอและอาจถึงขั้นชัก และเสียชีวิตในที่สุด
- ถ้ารับประทานใบในปริมาณมาก สาร HCN จะทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจนได้ ทำให้มีอาการตัวเขียว และอาจถึงกับเสียชีวิตได้ ถ้าได้รับประทานในปริมาณน้อยก็อาจมีอาการอาเจียน และท้องเสีย
ตัวอย่างผู้ป่วย - ผู้ป่วยเด็กที่ประเทศออสเตรเลีย ได้รับพิษจากเมล็ดเทียนหยดเสียชีวิต อาการพิษที่พบ คือ นอนไม่หลับ มีไข้ และชัก
- เด็กหญิงในรัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา รับประทานผลเทียนหยดเข้าไป มีอาการมึนงง สับสน แต่ในวันต่อมาก็มีอาการเป็นปกติ
การรักษา - ทำให้พิษลดลงหรือได้รับการดูดซึมน้อยที่สุด ได้แก่ การทำให้อาเจียน และให้สารหล่อลื่น เช่น นม หรือไข่ขาว ขณะพักฟื้นให้ทานอาหารอ่อน ๆ ให้น้ำเกลือ ในกรณีมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มาก
บรรณานุกรม - นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ใน รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
- วีณา จิรัจฉริยากูล (บรรณาธิการ). จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2541;15(2):16-7.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
- Council of Scientific & Industrial Research. The Wealth of India: A Dictionary of Indian Raw Materials and Industrial Products. Vol III: D-E. Calcutta: United Press, 1952.
- Kuo YH, Chen ZS, Len YL. Chemical components of the leaves Duranta repens Linn. Chem Pharm Bull 1996;44(2):429-36.
- Lampe KF, Fagerstroin R. Plant Toxicity and Dermatities. Baltimore: Williams & Wilkins Company, 1968.
- Morton J. Plants Poisonous to People in Florida and Other Warm Areas. 3rd ed. Miami: Hallmark Press, 1995.