 |
สาวน้อยประแป้ง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Diffenbachid picta Schott |
วงศ์ |
Araceae |
ชื่ออื่น ๆ |
ว่านหมื่นปี ช้างเผือก ว่านพญาค่าง อ้ายใบก้านขาว บ้วนมีแช ว่านเจ้าน้อย มหาพรหม อ้ายใบ Dumb cane |
ลักษณะของพืช |
ไม้ล้มลุกมีลำต้นตรง ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนานแกมวงรี ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่มถึงรูปหัวใจ มักมีลายประสีเขียวและขาว ก้านใบมีกาบ ดอกช่อมีกาบออกที่ซอกใบ ผลแบบกล้วยสีแดง เมล็ดเรียบ รูปทรงกลมถึงทรงรูปไข่ |
ส่วนที่เป็นพิษ |
ใบ ลำต้น และน้ำยาง |
สารพิษที่พบ |
สารแคลเซียมออกซาเลท (calcium oxalate) ที่เป็นผลึกรูปเข็ม สารจำพวกโปรตีน (protoanemomine) และเอนไซม์ที่สามารถย่อยโปรตีน (dumbbain) |
อาการพิษ |
- ผลึกแคลเซียมออกซาเลทที่เป็นผลึกรูปเข็มนี้จะทิ่มแทงผิวหนัง ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปากและลำคอ เมื่อรับประทานต้นสาวน้อยประแป้งเข้าไปจะรู้สึกเจ็บปวด ร้อนที่ลิ้นและในเยื่อบุช่องปาก การสัมผัสน้ำยางทำให้เกิดอาการบวมแดงได้ และนอกจากนี้ยังมีสารจำพวกโปรตีน (protoanemomine) และเอนไซม์ที่สามารถย่อยโปรตีน (dumbbain) ทำให้ปาก ลิ้นและคอบวมพองเป็นตุ่มใส อีกทั้งยังทำให้กลืนลำบากอีกด้วย แล้วยังอาจทำให้การพูดผิดไปได้
- แม้ว่าอาการพิษที่เกิดจากต้นสาวน้อยประแป้งจะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ต้นสาวน้อยประแป้งจัดเป็นพืชที่หาง่ายและขึ้นอยู่ทั่วไป โอกาสที่จะเกิดการสัมผัสยางหรือรับประทานพืชต้นนี้เข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจเกิดขึ้นได้ จึงควรที่จะระมัดระวัง
|
ตัวอย่างผู้ป่วย |
- ผู้ป่วยไทย ก่อนมาโรงพยาบาล 1 ชั่วโมง อาการน้ำลายฟูม พูดได้แต่เป็นเพียงเสียงที่ออกจากลำคอเท่านั้น ริมฝีปากบวม ผนังกระพุ้งแก้มบวม ลิ้นบวมโตคับปาก ลักษณะผิวลิ้นมีสีขาว กลิ่นเหม็นเล็กน้อย อ้าปากได้ลำบาก ร้อนไหม้และเจ็บปวดบริเวณริมฝีปาก ช่องปากและในลำคอ หายใจไม่ออก จากการซักประวัติพบว่า ผู้ป่วยเคี้ยวและกลืนใบและลำต้นของต้นสาวน้อยประแป้งลงไปหลายคำเนื่องจากสภาพมึนเมา เมื่อ 5 วันก่อนมาโรงพยาบาล อาการที่เกิดขึ้นจึงค่อนข้างรุนแรง
- ผู้ป่วยที่รับประทานต้นสาวน้อยประแป้ง พบว่ามีอาการเผ็ดร้อนในปาก การบวมของข้างแก้ม ลิ้น เพดานและหน้าบวม พูดไม่ชัด บางรายถึงกับเสียงหายไป อาการบวมและปวดมีมากจนกระทั่งกลืนอาหารไม่ได้ และบางครั้งจะมีอาการระคายเคืองทางเดินอาหาร แต่ไม่มีผลต่อไตหรือทำให้ชัก
- ผู้ป่วยที่สัมผัสน้ำยางที่ผิวหนังอาจมีอาการแพ้เป็นผื่นบวมแดง อาการบวมจะเริ่มลดลงในวันที่ 4 และเกือบหมดไปในวันที่ 12 แต่อาการปวดจะยังคงอยู่
- ผู้ป่วยเด็กชายอายุ 13 ปี ชาวจีนได้รับยางของต้นสาวน้อยประแป้งกระเด็นเข้าตาข้างซ้าย ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรวดเร็วและรุนแรง เมื่อมาถึงโรงพยาบาลปรากฎว่า ไม่สามารถลืมตาข้างซ้ายได้เลย เมื่อตรวจดูตาพบว่า cornea มีรอยปุ่มขึ้นมา
|
การรักษา |
- ลดอาการปวด อาจต้องให้ยาระงับปวด meperidine ล้างปากและรับประทานสารละลาย aluminium magnesium hydroxide 1 ออนซ์ ทุก 2 ชั่วโมง อาจให้ยา steroid และอาจจำเป็นต้องให้น้ำเกลือ
- ถ้ากรณีเพียงแต่เคี้ยว ไม่ได้กลืนพืชลงไป รักษาโดยการใช้น้ำชะล้างปากและคอ เพื่อบรรเทาอาการปวดร้อนไหม้ที่ลิ้นและเยื่อบุช่องปาก รับประทานยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบ อาการจะอยู่เพียง 2-3 วัน ก็สามารถรับประทานอาหารอ่อน ๆ ได้
- ในกรณี cornea มีรอยปุ่มขึ้นมา โดยทั่วไปอาการจะหายไป 3-4 อาทิตย์ แต่ถ้าให้ 1% ethyl morphine และ 2% disodium edetate จะช่วยให้อาการดีขึ้น โดย 1% ethyl morphine จะช่วยทำให้ permeability ของ cornea ดีขึ้น และ 2% disodium edetate จะช่วยละลายผลึกแคลเซียมออกซาเลททำให้แผลหายเร็วขึ้น
- ในกรณีที่ผิวหนังถูกน้ำยาง ควรให้การรักษาโดยการล้างด้วยน้ำสบู่หลาย ๆ ครั้ง เพื่อเจือจางสารพิษที่ผิวหนัง
|
บรรณานุกรม |
- ชาญชัย ชรากร ชัยณรงค์ เชิดชู ทัศนัย สุริยจันทร์. พิษจากว่านสาวน้อยประแป้ง รายงานผู้ป่วย 1 ราย. วิทยาสารเสนารักษ์ 2521;31(6):450-4.
- นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ใน รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
- นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 4. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชนจำกัด, 2543: หน้า 351-3.
- นันทวัน บุณยะประภัศร (บรรณาธิการ). จุลสารข้อมูลสมุนไพร 2528;3(1):27-9.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
- Benezra C, Ducombs G, Sell Y, et al. Plant Contact Dermatitis. Philadephia: C.V. Mosby Company, 1985: p 240-1.
- Frohne D, Pfender HJ. A Colour Atlas of Poisonous Plants. London: A Wolf Publishing, 1983: p 56-8.
- Lampe KF, Fagerstrom R. Plant Toxicology & Dermatitis. Baltimore: William & Wilkins Company, 1968: p 12-9.
- Morton J. Plants Poisonous to People in Florida and Other Warm Areas. 3rd ed. Miami: Hallmark Press, 1995.
- Spoerke DG, Smolinske SC. Toxicity of Houseplants. Florida: CRC press, 2000.
- Walter WG, Khanna PN. Chemistry of the aroids I Dieffenbachia seguine, amoena, and picta. Econ Bot 1972;26(4):364-72.
|