ปรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cycas circinalis L.
วงศ์ Cycadaceae
ชื่ออื่น ๆ กา กาเดาะ กูดหลวา แข่ดู่ ทอคลิ บอกะ มะพร้าวเต่าดอย มะพร้าวเต่าหลวง มะพร้าวสีดา มุ่งมาง
ลักษณะของพืช ไม้ต้น เปลือกสีน้ำตาล มีรอยแผลใบที่ลำต้น มีเหง้าใต้ดิน ใบเป็นใบประกอบ รูปยาว แคบ ปลายใบแหลม ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกต้นกันอยู่ ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อที่ปลายยอด มีสปอร์จำนวนมากเรียงรอบแกนกลาง ดอกเพศเมียออกเป็นกาบระหว่างใบ มีไข่อ่อนติดทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 2-4 หน่วย เมล็ดกลมเมื่อแก่จัดสีแดงอมส้ม ประเทศไทยพบพืชสกุลปรง 5 ชนิดได้แก่
Cycas circinalis L ปรง
C. micholitzii Dyer var. simplicipinna Smitin มะพร้าวเต่า
C. pectinnata Thunb ปรงเขา
C. rumphii Miq ปรงทะเล มะพร้าวเต่าทะเล ปากู
C. siamensis Miq ปรงเหลี่ยม ปรงป่า ผักกูดบก ตาลปัตรฤาษี
ส่วนที่เป็นพิษ ยอดและเมล็ด
สารพิษที่พบ cycasin ซึ่งเป็นสารกลุ่ม pseudocyanotic glycoside ซึ่งสารพวกนี้เมื่ออยู่ในสภาวะกรด (สภาวะในกระเพาะ) จะสลายตัวให้สาร aglycone (methylazoxymethanol) แต่ในสภาวะที่เป็นด่าง (สภาวะในลำไส้) จะสลายตัวให้กรดไฮโดรเจนไซยานิค (HCN) สาร methylazoxymethanol ทำให้เกิดอาการปวดหัว หมุน อาเจียน ปวดท้อง ปวดหลัง หายใจขัด สั่น ตามัว ท้องเสีย ถ้ารับประทานมาก ๆ อาจทำให้ตาบอด เกิดอาการ acidosis เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง อาจทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนกรดไฮโดรเจนไซยานิค (HCN) จะไปทำปฎิกริยากับ Fe+ ใน cytochrome oxidase ทำให้ขัดขวางระบบหายใจ โดยร่างกายไม่สามารถใช้ออกซิเจนได้ ทำให้หายใจถี่ มีอาการชัก และตายในที่สุด นอกจากนี้การศึกษา cycasin ในสัตว์ทดลองยังพบว่า cycasin มีพิษต่อตับ และระบบประสาท
อาการพิษ - อาการตั้งแต่เล็กน้อย เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน จนถึงอาการมาก เช่น อาเจียนอย่างรุนแรง อาการบวมของกระเพาะ อาการสลด หดหู่ มึนงง ประสาทหลอน ท้องร่วง ปวดท้อง ชาตามกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการเหล่านี้บางอาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บางอาการจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ
- มีรายงานว่าแกะที่กินใบของปรงก็เกิดอาการเซลล์ประสาท และเซลล์ตับถูกทำลาย และตายในที่สุด
- ปรงสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้ โดยเฉพาะแป้งจากราก ต้นและเมล็ด แต่ในประเทศฟิลิปปินส์รับประทานยอดอ่อน ซึ่งต้องกำจัดสารพิษออกก่อนโดยการแช่น้ำนานหลาย ๆ วัน เพื่อให้สารพิษละลายออกไป หรือต้มทำลายสารพิษเสียก่อน
ตัวอย่างผู้ป่วย - ผู้อพยพชาวเขมรที่หนีสงครามข้ามมาฝั่งไทยในช่วงปี 2516 ในระหว่างการเดินทางมายังประเทศไทย เนื่องจากขาดแคลนอาหาร จึงเก็บยอดปรงรับประทาน หลังจากมาถึงค่ายผู้อพยพแล้วก็ยังรับประทานกันต่อ เมื่อรับประทานเข้าไปมาก ๆ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียอย่างรุนแรง
- ชาวญี่ปุ่นที่ซ่อนตัวอยู่ในเกาะกวม กินผลปรงซึ่งยังทำไม่สุก ทำให้อาเจียนและมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงจนมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
การรักษา 1. รักษาอาการเช่นเดียวกับอาการพิษจากสาร methylazoxymethanol คือ รักษาอาการ acidosis โดยใช้ alkali
2. รักษาระดับอิเล็กโตรไลต์ และอาหาร
3. กำจัดสารพิษโดยใช้วิธี hemodialysis หรือ peritoneal dialysis
4. ให้ความอบอุ่นแก่คนไข้ ป้องกันตาไม่ให้ถูกแสง
บรรณานุกรม - นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ใน รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
- นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 3. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด, 2542.
- นันทวัน บุณยะประภัศร (บรรณาธิการ). จุลสารข้อมูลสมุนไพร 2516;1(2):20-2.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
- Hall WTK. Cycad (zamia) poisoning in Australia. Aust Vet J 1986;64(5):149-51.
- Hirayama B, Hazama A, Loo DF, et al. Transport of cycasin by the intestinal Na+/glucose cotransporter. Biochim Biophys Acta 1994;1193(1):151-4.
- Kobayashi A, Tadera K, Yagi F, et al. Cattle poisoning due to ingestion of cycad leaves, neurotoxic effects causing paralysis in hindquarters. Toxicon 1983;21(3):229-32.
- Kono I, Takehara E, Shimizu T, et al. Experimental studies on effects of cycasin on guinea pig. Kagoshima Daigaku Nogakubu 1985;35:159-69.
- Sieber SM, Correa P, Dalgard DW, et al. Carcinogenicity and hepatotoxicity of cycasin and its aglycone methylazoxymethanol acetate in nonhuman primates. J Natl Cancer Inst 1980;65:177-83.