|
โพธิ์ศรี |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Hura crepitans L. |
วงศ์ |
Euphorbiaceae |
ชื่ออื่น ๆ |
โพธิ์อินเดีย โพธิ์หนาม โพธิ์ศรีมหาโพธิ์ โพธิ์ทะเล โพธิ์ฝรั่ง ทองหลางฝรั่ง Sand box tree, Monkey pistol, Portia tree, Umbrella tree, Monkeys dinner bell |
ลักษณะของพืช |
ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นแก่มีหนามเตี้ย ๆ บนเต้าแบน ๆ ประปรายมียางใส ใบเดี่ยวลักษณะคล้ายใบโพธิ์ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้มีสีแดงเข้มเป็นช่อดอกยาว ดอกตัวเมียเป็นรูปเห็ดเล็ก ๆ ผลกลมแป้นเป็นกลีบเท่า ๆ กัน รูปทรงคล้ายผลฝักทอง เนื้อแข็ง ภายในมีเมล็ดซลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วปากอ้า ในสมัยก่อนมีการนำผลที่ยังไม่สุกมาต้ม เจาะรู ตากให้แห้ง บรรจุทรายไว้ในผล ใช้สำหรับซับหมึกจากปากกา เป็นที่มาของชื่อ sand box tree เด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีการนำผลโพธิ์ศรีไปรับประทานและเกิดอาการพิษ ทั้งนี้เนื่องจากผลซึ่งมีลักษณะสวยงามและดึงดูดสายตา ประกอบกับมีเมล็ดซึ่งมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วปากอ้าที่ใช้บริโภค จึงเกิดพิษขึ้นได้
|
ส่วนที่เป็นพิษ |
เมล็ดและยาง |
สารพิษที่พบ |
สารกลุ่ม toxalbumin ได้แก่ huratoxin, hurin, crepitin และ lectin |
อาการพิษ |
การกินเมล็ดโพธิ์ศรีเข้าไป 1-2 เมล็ด จะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วง (อาจมีเลือดปนออกมา) ปวดท้อง ชีพจรเต้นเร็ว ตาพร่า ในรายที่ได้รับสารพิษในปริมาณสูง ๆ อาจทำให้เพ้อ ชัก หมดสติ และอาจถึงตายได้
น้ำยางมีส่วนประกอบของสารฮูริน และเอนไซม์ฮูเรน (hurain) ซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยโปรตีน ทำให้เกิดอาการแพ้เมื่อสัมผัสถูกผิว โดยเกิดอาการเป็นผื่นแดงแบบไฟลามทุ่งและพุพองขึ้นเป็นตุ่มน้ำใส หรือเมื่อเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้
|
ตัวอย่างผู้ป่วย |
- เด็กชาย อายุระหว่าง 12-15 ปี จำนวน 18 คน ได้เก็บเมล็ดโพธิ์ศรีแห้งมารับประทาน พบว่าเริ่มมีอาการตั้งแต่ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง มีเพียงรายเดียวที่มีอาการเมื่อผ่านไป 6 ชั่วโมงโดยผู้ป่วยจะมีอาการแสบร้อนในคอ กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีอาการปวดท้อง และอุจจาระร่วง แต่ในวันรุ่งขึ้นอาการก็ดีขึ้น - ผู้ป่วย 23 ราย รับประทานเมล็ดโพธิ์ศรี ผู้ที่รับประทานสูงสุดคือ 3 เมล็ด มีอาการแสบร้อนคอ ปวดท้อง ง่วงนอน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน ถ่ายเหลว และตาแดง - ผู้ป่วยมีอาการบวมแดงที่ผิวหนัง และมีอาการอักเสบของเยื่อบุจมูกและตาตลอดทั้งปีโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จากการตรวจสอบด้วยวิธี scratch test พบว่าผู้ป่วยเกิดอาการแพ้เนื่องจากการสัมผัสยางต้นโพธิ์ศรี
|
การรักษา |
1. ก่อนนำส่งโรงพยาบาลควรให้ดื่มนม หรือผงถ่าน เพื่อลดการดูดซึม ส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้องทันที 2. ให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดป้องกันการหมดสติและช็อคที่เกิดจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ 3. กรณีอื่น ๆ รักษาตามอาการ เช่น การให้ morphine sulfate 2-10 มิลลิกรัมเพื่อลดอาการปวดท้อง
|
บรรณานุกรม |
- เกียรติศักดิ์ จิรโสตติกุล เศรษฐพร ธไนศวรรยางกูล. อาหารเป็นพิษจากเมล็ดโพธิ์อินเดีย. วารสารกรมการแพทย์ 2529;11(7):395-9.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทยเต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
- นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ใน รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
- วันชัย อาจเขียน อุบลรัตน์ จิวัชยากูล. อาหารเป็นพิษจากเมล็ดโพธิ์ศรีที่จังหวัดนนทบุรี. วารสารโรคติดต่อ 2527;10(1):37-43.
- Morton J. Plants Poisonous to People in Florida and Other Warm Areas. 3rd ed. Miami: Hallmark Press, 1995.
- Council of Scientific and Industrial Research. The Wealth of India: A Dictionary of Indian Raw Materials and Industrial Products. Vol V: H-K. 1959:332.
- Thumm EJ, Bayerl C, Goerdt S. Allergic reaction after contact with Hura crepitans (sandbox tree). Hautarzt 2002;53(3):192-5.
|