 |
มะกล่ำตาหนู |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Abrus precatorius L. |
วงศ์ |
Euphorbiaceae |
ชื่ออื่น ๆ |
กล่ำเครือ กล่ำตาไก่ มะกล่ำเครือมะแค็ก ไม้ไฟ มะกล่ำแดง เกมกรอม ชะเอมเทศตากล่ำมะขามเถา Rosary Pea, Crabs eye, Precatory bean, Jequirity bean, American pea, Wild licorice |
ลักษณะของพืช |
ไม้เถาขนาดเล็ก เถากลมเล็กเรียว ใบประกอบขนนก เหมือนใบมะขาม ดอกเล็กสีขาวหรือสีม่วงแดงเหมือนดอกถั่ว เป็นช่อเล็ก ฝักแบนยาวโค้งเล็กน้อยเท่าฝักถั่วเขียว ฝักอ่อนมีสีเขียว จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ ภายในฝักมีเมล็ด 4-8 เมล็ด เมล็ดกลมรีเล็กน้อย สีแดงสดที่ขั้วเป็นสีดำ ผิวมันเงา เมล็ดมีพิษมาก ขึ้นตามที่รกร้างริมรั้วทั่วไป |
ส่วนที่เป็นพิษ |
เมล็ด |
สารพิษที่พบ |
สารกลุ่ม toxalbumin (abrin) |
อาการพิษ |
ผู้ป่วยที่กลืนเมล็ดมะกล่ำตาหนูจะมีช่วงระยะแฝงหรือภาวะที่อาการพิษยังไม่แสดง(latent period) ระหว่าง 2-3 ชั่วโมง ถึง 2-3 วัน จากนั้นพิษของมะกล่ำตาหนูจะทำให้เกิดผลต่อระบบและอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย อาการพิษของมะกล่ำตาหนูจะมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ขนาดรับประทาน สภาวะร่างกาย และอายุของผู้ได้รับสารพิษ อย่างไรก็ตาม หากคนไข้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เสียชีวิตได้
ผลของความเป็นพิษต่อระบบและอวัยวะต่าง ๆ เป็นดังนี้
ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ ฤทธิ์ระคายเคืองของสารพิษ abrin ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะและลำไส้อย่างรุนแรง ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย กลืนลำบาก และปวดเกร็งท้อง นอกจากนี้อาจไปทำลายเยื่อบุเมือกของลำไส้เล็กทำให้มีเลือดออกทางอุจจาระ และ อาเจียนเป็นเลือดได้
ระบบหัวใจและหลอดเลือด พิษเมล็ดมะกล่ำตาหนูไม่มีผลโดยตรงต่อหัวใจ แต่อาจทำให้เกิดอาการช็อค ความดันเลือดต่ำ และหัวใจเต้นเร็วหลังจากที่คนไข้อาเจียนและท้องเสียอยู่นาน สาร abrin มีฤทธิ์โดยตรงต่อเม็ดเลือดแดงทำให้เม็ดเลือดตกตะกอนและแตกตัว และอาจทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร
ระบบทางเดินหายใจ คนไข้อาจเกิดภาวะ cyanosis คือ เกิดการขาดเลือดหรือออกซิเจนจนทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่คนไข้มีความดันโลหิตต่ำ และช็อค
ระบบประสาทส่วนกลาง อาจมีอาการเซื่องซึม ชักกระตุก ประสาทหลอน และมือสั่น
ระบบทางเดินปัสสาวะ อาการปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย อาจเป็นผลมาจากความดันโลหิตต่ำที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน แต่ก็อาจมีสาเหตุมาจากภาวะไตล้มเหลวเฉียบพลัน การอุดตันของท่อปัสสาวะด้วยฮีโมโกลบินที่มาจากเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลาย ซึ่งมีผลส่งเสริมให้ไตวาย
ผลต่อตับ สารพิษมีฤทธิ์ไปทำลายเซลล์หรือเนื่อเยื่อของตับ ทำให้ระดับเอนไซม์ของตับในซีรัม เช่น แอสปาเตตทรานเฟอเรส (AST) อะลานีนทรานเฟอเรส (ALT) และ แลคติกดีไฮโดรจีเนส (LDH) มีค่าสูงขึ้นอย่างชัดเจน ระดับบิริลูบินในซีรัมมีค่าเพิ่มขึ้น
ผลต่อตาหูคอ จมูก อาจมีอาการเลือดออกในเรตินา (retina) เกิดขึ้นในช่วงแรกที่ได้รับสารพิษทำให้การมองเห็นลดลง หากตาโดนสารพิษจะทำให้เยื่อบุตาบวมและแดงมาก นอกจากนี้การกลืนพืชพิษลงไปอาจทำให้ระคายเคืองคอได้
ระบบเมแทบอลิซึม การอาเจียน ท้องเสีย และมีเลือดออก นำไปสู่ภาวะสูญเสียน้ำและอิเลกโตรไลท์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คนไข้ไม่รู้สึกตัว กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติ และกล้ามเนื้อเป็นตะคริว ผลของการอาเจียนเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะด่างในร่างกายเพิ่มขึ้น (alkalosis) แต่ถ้าผู้ป่วยเกิดอาการถึงขั้นช็อค และไตวาย อาจทำให้เกิดภาวะกรดเพิ่มขึ้นได้แทน (acidosis) ซึ่งเป็นผลจากการรบกวนสมดุลของสภาวะกรดเบสในร่างกาย (Acid base disturbances) การที่ร่างกายสูญเสียน้ำ ส่งผลเสียโดยตรงต่อไต ทำให้คนไข้ปัสสาวะได้น้อยลง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตเนื่องจากเกิดภาวะยูรีเมีย (uremia) ตามมา
|
ตัวอย่างผู้ป่วย |
เมล็ดมะกล่ำตาหนูมีความเป็นพิษ ทำให้เสียชีวิตได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่โดยเฉพาะเมล็ดที่ยังไม่แก่และมีเปลือกหุ้มอ่อน เพราะเปลือกหุ้มจะถูกทำให้แตกออกได้ง่ายในระบบทางเดินอาหารมีรายงานการได้รับพิษของผู้ป่วยหลายราย เช่น
- เด็กเคี้ยวเมล็ดมะกล่ำตาหนูแล้วเกิดพิษ มีอาการชัก ผิวหนังแดงเพราะเลือดสูบฉีด รูม่านตาขยายกว้างมาก และประสาทหลอน
- เด็กผู้หญิงอายุ 2 ปี รับประทานเมล็ดมะกล่ำตาหนู แล้วทำให้เกิดอาการอักเสบของระบบทางเดินอาหารนาน 4 วัน ภายหลังได้เสียชีวิตเนื่องจาก acidosis
- เด็กชาย 2 คน อายุ 9 และ 12 ปี รับประทานเมล็ดมะกล่ำตาหนู 1 เมล็ดหรือ มากกว่า มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน และมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเกิดขึ้นตามมา 1 สัปดาห์ ขณะที่เด็กคนหนึ่งยังคงมีเลือดออกทางทวารหนักนานต่อไปอีก 2-3 เดือน
- ผู้ใหญ่เคี้ยวเมล็ดมะกล่ำตาหนู แล้วเกิดอาการคลื่นไส้ภายใน 1 ชั่วโมง อาเจียนติดต่อกันอีกหลายครั้ง ภายใน 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นมีอาการท้องเสีย ไม่มีแรง ยืนไม่ได้ เหงื่อออก เสียดท้อง อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว และมือสั่น
- เด็กชายไทยวัย 9 ปี กินเมล็ดมะกล่ำตาหนูแล้วทำให้มีอาการอาเจียนบ่อยครั้ง ปวดท้องอย่างรุนแรง ชัก และหมดสติ
|
การรักษา |
การช่วยเหลือเบื้องต้น ในกรณีรับประทานเมล็ดไปไม่เกิน 30 นาที ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเพื่อเอาเมล็ดหรือชิ้นส่วนของพืชออกมา โดยรับประทานยาน้ำเชื่อม ipecac แต่คนไข้จะต้องไม่อยู่ในสภาวะที่ห้ามทำให้อาเจียน หรือมีอาการบวมของคอหอย จากนั้นให้เก็บเมล็ดหรือพืชส่วนอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไปหรือหากเป็นไปได้ให้เอาของเหลวที่ผู้ป่วยอาเจียนออกมาใส่ขวดสะอาด และนำไปตรวจสอบว่าผู้ป่วยได้รับประทานพืชพิษชนิดใด
ถ้าไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยอาเจียนได้ ก็ให้ใช้วิธีการล้างท้องแทน แต่วิธีการล้างท้องอาจไม่ประสบความสำเร็จหากคนไข้กลืนเมล็ดขนาดใหญ่ ในการล้างท้องถ้าต้องใช้ stomach tube ควรระมัดระวัง เพราะอาจกระทบกระเทือนแผลในทางเดินอาหารที่ได้รับจากพิษของพืช และให้ bismuth subcarbonate หรือ magnesium trisilicate ร่วมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้แผลในทางเดินอาหารกว้างขึ้น จากนั้นจึงทำการรักษาประคับประคองผู้ป่วยตามอาการ
นำผลวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เช่น ปริมาณเลือด ข้อมูลของตับ ระดับอิเลกโตรไลท์ในกระแสเลือด ปริมาณยูเรีย ครีอะตินินในเลือด และผลวิเคราะห์ปัสสาวะ ซึ่งอาจปรากฏว่ามีโปรตีน เซลล์เม็ดเลือดแดง ฮีโมลโกลบิน และ cast รวมทั้งการตรวจสอบอื่น ๆ ตามสภาวะร่างกายของคนไข้มาใช้ประกอบในการรักษา
คนไข้ที่เสียน้ำมากเนื่องจากอาการถ่ายท้องและอาเจียน จึงควรให้เกลือแร่อิเล็กโทรไลต์ และติดตามระดับอิเลกโตรไลท์ในกระแสเลือด แก้ไขภาวะ metabolic acidosis หากมีอาการเกิดขึ้น การสูญเสียน้ำอาจทำให้เกิดอาการช็อคที่มาจากการขาดเลือดร่วมกับมีความดันโลหิตต่ำ ถ้ารักษาโดยให้ของเหลวทางหลอดเลือดไม่ได้ผล ให้ทำ insert a central venous pressure line และให้พลาสมา หรือเดกซ์เทรน (dextran) เพื่อไปขยายปริมาตรภายในหลอดเลือด แต่ถ้าความดันโลหิตยังมีค่าต่ำอยู่ อาจพิจารณาให้โดปามีน (dopamine) หรือ โดบูทามีน (dobutamine) ทางหลอดเลือดอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการให้ของเหลวทดแทนแล้วผู้ป่วยยังขับปัสสาวะไม่ออก อาจพิจารณาให้ทำไดอะไลซิส (dialysis)
แม้ว่ายังไม่เคยมีรายงานกรณีที่คนไข้มีอาการของเม็ดเลือดแดงแตกอย่างรุนแรง (haemolysis) อย่างไรก็ตามหากปรากฏอาการ ก็ให้ของเหลวที่เป็นด่าง เพื่อรักษาระดับของ urine output ให้มีค่ามากกว่า 100 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง ถ้าไตของคนไข้ยังทำงานได้ปกติอยู่
คนไข้ที่มีอาการชักให้ยาต้านอาการชัก เช่น ไดอะซีแพม (diazepam) ในกรณีผู้ป่วยเด็กฉุกเฉิน อาจให้ไดอะซีแพมชนิดเหน็บทวาร ยาบรรเทาอาการระคายคอ อาจช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองของกระเพาะอาหารและคอหอยได้ นอกจากนี้ก็ให้อาหารแป้งกับผู้ป่วย เพื่อช่วยป้องกันการเกิดอาการพิษต่อตับ และควรให้ความเย็นแก่คนไข้ไม่ทำให้คนไข้รู้สึกร้อน เพราะอากาศร้อนจะยิ่งทำให้คนไข้มีอาการพิษเพิ่มขึ้น
ในกรณีที่ผู้ป่วยกลืนเมล็ดแก่ของมะกล่ำตาหนูที่แห้ง โดยไม่ได้เคี้ยว เมล็ดจะผ่านเข้าไปในลำไส้และออกมาโดยไม่ทำอันตราย ดังนั้นจึงอาจให้คนไข้ทานยาระบายเพื่อไปเร่งการขับออกของลำไส้ แต่ห้ามใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการพิษเกิดขึ้น เพราะจะยิ่งทำให้คนไข้ท้องเสียอย่างรุนแรง และสูญเสียน้ำมากขึ้น
|
บรรณานุกรม |
- นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ใน รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
- นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญสุข. สมุนไพร ไม้พื้นบ้าน. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2542.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
- Morton J. Plants Poisonous to People in Florida and Other Warm Areas. 3rd ed. Miami: Hallmark Press, 1995.
- Thamrongwaranggoon T. Abrus poisoning, a case report. KHON-KAEN Hospital Medical J 1993;17(2):4.
- Gunsolus JM. Toxicity of Jequirity beans. J Amer Med Assoc 1955;157:779.
- Hart M. Jequirity bean poisoning. N Engl J Med 1963;268:885-6.
- Stripe F, Barbieri L. Symposium: molecular mechanisms of toxicity, toxic lectins from plants. Human Toxicology 1986;5(2):108-9.
- Budavari S (ed). The Merck Index: An Encyclopedia of Chemicals, Drugs, and Biological. 10th ed. New Jersey: Merck and Co., Inc.,1989.
- Ellenhorn MJ, Barceloux DG (eds). Medical Toxicology. New York: Elsevier Science Publishing Company Inc., 1987:1224-5.
- Gosselin RE, Smith RP, Hodge HC, Braddock JE. Clinical Toxicology of Commercial Products. Baltimore/London: Williams & Wilkins, 1984.
- Canadian Centre for Occupational Health and Safety. IPCSINTOX Databank . Available from http://www.intox.org [Access 2013, January,22]
- Lampe KF, Fagerstrom R. Plant Toxicity and Dermatitis: A Manual for Physician. Baltimore: Williams & Wilkins Company, 1968.
|
|