กลอย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dioscorea hispida Dennst.
วงศ์ Dioscoreaceae
ชื่ออื่น ๆ กลอยข้าวเหนียว กลอยนก กลอยหัวเหนียว กอย คลี้ มันกลอย Intoxicating yam, Nami, Wild yam
ลักษณะของพืช ไม้เถาเลื้อยไปตามดิน หรือพาดพันต้นไม้อื่น ใบย่อย 3 ใบ คล้ายใบถั่ว มีหนามแหลมตลอดเถา ดอกเล็ก ๆ สีเขียวอ่อน เป็นช่อระย้า หัวใต้ดิน รูปทรงกลม เปลือกสีเทาหรือสีฟาง เนื้อขาวหรือเหลืองอ่อนอมเขียวเป็นพิษ ปริมาณสารพิษจะแตกต่างกันไป ในช่วงฤดูฝนจะมีพิษมากที่สุด และในฤดูร้อนจะมีพิษน้อยที่สุด
ส่วนที่เป็นพิษ หัวใต้ดิน
สารพิษที่พบ สารกลุ่มแอลคาลอยด์ (dioscorine) และสารพิษอื่น ๆ (steroidal saponin)
อาการพิษ    สารกลุ่มแอลคาลอยด์ ทำให้เกิดอาการใจสั่น วิงเวียน คันคอ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ซีด ตาพร่า ชีพจรเบา เร็ว อึดอัด เป็นลม และตัวเย็น บางคนมีอาการประสาทหลอนคล้ายกับอาการของคนบ้าลำโพง อาจมีการกระตุกของกล้ามเนื้อ ชัก ต่อมากดประสาทส่วนกลาง
   สารกลุ่มซาโปนิน มีผลทำให้เลือดแดงแตก เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูก ทำให้จามน้ำมูกไหล ถ้าได้รับเข้าไปมากจนผนังลำไส้เป็นแผลจะดูดซึมเข้าไปได้มากก็จะเกิดเป็นพิษมาก แต่ตามปกติมีการดูดซึมได้น้อย
ตัวอย่างผู้ป่วย - ผู้ป่วย รับประทานกลอยทอด ประมาณ 1-2 แผ่น หลังจากนั้น 3-4 ชั่วโมง ก็มีวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หลังจากอาเจียนจนหมดท้อง อาการจึงเริ่มดีขึ้น
- ผู้ป่วย จำนวน 6 คน รับประทานกลอยนึ่งสุกหลังอาหารกลางวัน หลังจากนั้น 3 ชั่วโมง ผู้ป่วย 1 ใน 6 คนนั้นก็มีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ อาเจียนหลังจากนั้นคนอื่น ๆ ก็มีอาการตามมาแบบเดียวกัน
- ประเทศมาเลเซีย มีรายงานการตายของคนที่เข้าไปในป่าแล้วไม่ระมัดระวังในการรับประทานกลอย
การรักษา 1. ให้ phenobarbital หรือ diazepam เพื่อป้องกันอาการชัก แต่ต้องระวังไม่ให้ในรายที่ขนาดของกลอยที่ได้รับนั้นทำให้เกิดอาการพิษที่ไปลดการเคลื่อนไหว (motor activity) หรือกดระบบประสาทส่วนกลางแล้ว ยาเหล่านี้อาจไปเสริมฤทธิ์แทนที่จะต้านฤทธิ์ของกลอย
2. หยุดหายใจ อาจแก้ไขโดยให้ neostigmine
บรรณานุกรม - ขวัญฤดี เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา อวย เกตุสิงห์. การศึกษาหัวกลอยทางเภสัชวิทยา. สารศิริราช 2523;32(6):330-40.
- นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ใน รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
- บุญยงค์ ตันติสิระ พิมพ์อำไพ โภวาที พงษ์ศักดิ์ กรรณล้วน และคณะ. เภสัชวิทยาของไดออสคอรีน: 1. ฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและปฏิกิริยาร่วมกับยากดประสาทบางชนิด. ไทยเภสัชสาร 2522;4(1):9-20.
- พงษ์ศักดิ์ กรรณล้วน จันทนา อโณทยานนท์ บุญยงค์ ตันติสิระ และคณะ. เภสัชวิทยาของไดออสคอรีน: 2. ผลต่อความดันโลหิตและการหายใจของหนูขาว. ไทยเภสัชสาร 2522;4(4):209-21.
- ราชบัณฑิตยสถาน. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก ฉบับราชบัณฑิต. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์จำกัด, 2538.
- วรา จันทร์ศิริศรี พาณี เตชะเสน. การศึกษาผลของกลอยต่อระบบประสาทส่วนกลาง. เชียงใหม่เวชสาร 2520;16(2):55-64.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
- James LF, Keeler RF, Bailey JR EM, et al. Poisonous Plants. Iowa: Iowa State University Press, 1992.