เห็ดขี้ควาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Psilocybe cubensis Earle
ชื่อพ้อง Stropharia cubensis Earle
วงศ์ Strophariaceae
ชื่ออื่น ๆ เห็ดขี้วัวขี้ควาย เห็ดเมา เห็ดโอสถลวงจิต magic mushroom, golden tops
ลักษณะของพืช หมวกเห็ดเมื่อบานใหม่ ๆ รูปคล้ายร่ม เมื่อบานเต็มที่จะโค้งขึ้น ตรงกลางเว้าตื้น ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวกสีน้ำตาล อมเหลือง ครีบสีน้ำตาลดำ ใต้หมวกมีแอนนูลัสสีขาวนวลแผ่เป็นแผ่นบางห้อยติดกับก้าน
ส่วนที่เป็นพิษ ดอกเห็ด
สารพิษที่พบ สารพิษที่ทำให้เกิดอาการมึนเมาหรือประสาทหลอน คือ psilocybin ซึ่งเมื่อเข้าไปในร่างกายจะเปลี่ยนเป็น psilocin ซึ่งมีสูตรโครงสร้างคล้าย serotonin จึงไปรบกวนการทำงานของ serotonin ขนาดของสาร psilocybin ที่ทำให้เกิดอาการพิษ คือ 3.5-12 มิลลิกรัม หรือรับประทานเห็ดแห้ง 1-4 กรัม ซึ่งจะเทียบเท่ากับเห็ด 15-20 ดอก
อาการพิษ ภายใน 10-30 นาที หลังจากรับประทานเห็ดเข้าไป จะมีอาการกระวนกระวาย เครียด มึนงง เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และมักจะหาว กล้ามเนื้อกระตุก สั่น หนาว ๆ ร้อน ๆ แขนขาเคลื่อนไหวไม่ได้ ริมฝีปากชา คลื่นไส้ โดยทั่วไปไม่อาเจียน ภายใน 30-60 นาที จะมีอาการผิดปกติของตา เช่น เห็นเป็นสีต่าง ๆ ขณะที่ปิดตา ระบบการรับรู้เรื่องเวลาผิดไป มีอาการเคลิ้มฝัน และการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ เช่น รู้สึกเศร้า มีความรู้สึกเหมือนฝัน และเปลี่ยนบุคลิก ไม่มีสมาธิ และไม่สามารถแสดงความรู้สึกได้ถูกต้อง เหงื่อแตก หาว น้ำตาไหล หน้าแดง ม่านตาขยาย หัวใจเต้นแรง ใน 1-2 ชั่วโมง ความผิดปกติของตาจะเพิ่มมากขึ้น มีอาการฝันต่าง ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปใน 2-4 ชั่วโมง แต่บางรายอาการอาจจะนานถึง 6-8 ชั่วโมง อาการจะหายไปเองโดยไม่มีอาการค้าง นอกจากนี้อาจมีอาการปวดหัวหรืออ่อนเพลีย มีน้อยมากที่พบอาการซิโซฟรีเนีย ในเด็กอาการที่พบมีม่านตาขยาย ไข้สูง โคม่า และมีอาการชัก
ตัวอย่างผู้ป่วย โรงพยาบาลเกาะสมุยได้รับคนไข้ชาวต่างชาติซึ่งมีอาการมึนเมา คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากรับประทานเห็ดชนิดนี้ นอกจากนี้ยังพบว่านักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่มาเกาะสมุยและเกาะพงัน จะนิยมเสพหรือบริโภคเห็ดขี้ควาย ทำให้เกิดอาการมึนเมา
การรักษา 1. ให้น้ำเชื่อม ipecac หรือล้างท้องภายใน 30 นาที หลังจากรับประทานเห็ด
2. เนื่องจากอาการพิษไม่รุนแรง โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องให้การรักษาพิเศษ ยกเว้นในเด็ก ควรระวังเรื่องไข้ โคม่า และชัก
3. ในผู้ป่วยที่มีอาการตื่นตระหนก สับสน อาจใช้วิธีปลอบใจเช่นเดียวกับคนเมากัญชา อาจจำเป็นต้องให้ยาสงบประสาท
บรรณานุกรม - ประทุมมาลย์ ชุมแสง ดวงพร อภิกันตพันธ์ วรางค์ บุญช่วย. การตรวจเห็ดขี้ควาย. วารสารยาเสพติดให้โทษ 2532;2(1):38-47.
- ราชบัณฑิตยสถาน. เห็ดกินได้และเห็ดมีพิษในประเทศไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2539.
- Allen JW, Merlin MD. Psychoactive mushroom use in Koh Samui and Koh Pha-Ngan, Thailand. J Ethnopharmacol 1992;35:205-28.
- Blackwell WH. Poisonous and Medicinal Plants. New Jersey: Prentice Hall, 1990.
- Gosselin RE, Smith RP, Hodge HC, Braddock JE. Clinical Toxicology of Commercial Products. Baltimore/London: Williams & Wilkins, 1984.