1. ชื่อสมุนไพร          ไพล

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber cassumunar Roxb.   

          ชื่อวงศ์           ZINGIBERACEAE

          ชื่อพ้อง           Zingiber cassumunar  Roxb. 

                             Zingiber purpureum  Roscoe

          ชื่ออังกฤษ        ไม่มี

          ชื่อท้องถิ่น        ปูลอย, ปูเลย, มิ้นสะล่าง, ว่านไฟ

 

2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว มีกลิ่นเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียม ขึ้นเป็นกอ ประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกันใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมใบหอก ดอกช่อ แทงจากเหง้าใต้ดิน กลีบดอกสีนวล ใบประดับสีม่วง ผลเป็นผลแห้ง รูปกลม

 

3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          -ส่วนเหง้าและน้ำมัน      รักษาอาการบวม ฟกช้ำและอักเสบ

 

4. สารสำคัญที่ออกฤทธิ์

          สารออกฤทธิ์ต้านการอักเสบในไพล ได้แก่ เคอร์คิวมิน (1-7) น้ำมันหอมระเหย (8-9) และสารอื่นๆ เช่น สาร (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) butadiene (DMPBD) (10) ส่วนสาร cassumunarins (11) สาร (E)-4 (3',4'-dimethylphenyl) but-3-en-l-ol (10) มีฤทธิ์แก้ปวด

 

5.  ฤทธิ์ทางยา

5.1   ฤทธิ์ลดการอักเสบ

       เมื่อทดลองนำครีมไพล (ไพลจีซาล) ที่มีส่วนผสมของน้ำมันไพลร้อยละ 14 ไปใช้ในผู้ป่วยข้อเท้าแพลง โดยให้ทาวันละสองครั้ง พบว่าสามารถลดการปวดบวมได้มากกว่ากลุ่มควบคุมเมื่อใช้ไปได้ 4 วัน และมีการกินยาแก้ปวด (paracetamol) ในสองวันแรกน้อยกว่ากลุ่มควบคุมด้วย ผู้ป่วยที่ได้รับไพลจีซาลสามารถงอข้อเท้าได้มากกว่ากลุ่มควบคุม แต่ความสามารถงอส่วนฝ่าเท้าไม่แตกต่างกัน (12) เมื่อนำน้ำมันไพลที่อยู่ในรูปของเจล (ไพลเจล) มาทดสอบ พบว่าไพลเจลสามารถลดการอักเสบของอุ้งเท้าหนูได้ โดยสามารถลดการบวมได้เทียบเท่ากับ piroxicam gel ทั้งยังลดความแดงและบรรเทาอาการปวดได้ด้วย (13)

                 จากการศึกษาพบว่าเฉพาะน้ำมันสกัดดิบเท่านั้นที่ให้ผลลดอาการบวมที่อุ้งเท้าหนู ส่วนสกัดย่อยอื่นๆ ไม่ได้ผล ในการศึกษาเบื้องต้นทางคลินิกพบว่าน้ำมันไพลให้ผลรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อและเคล็ดต่างๆ เช่นกัน (14)    มีรายงานฤทธิ์ในการลดการอักเสบของสารสกัดไพลด้วยเฮกเซน (15) รวมถึงสารที่สกัดได้จากไพลหลายชนิด เช่น เคอร์คิวมิน ซึ่งเป็นสารสีเหลือง (1-7) น้ำมันหอมระเหย (8-9) และสารอื่นๆ เช่น สาร (E)-4 (3',4'-dimethylphenyl) but-3-en-l-ol พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้ง prostaglandin (10) นอกจากนี้สาร (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) but-3-en-2-ol เมื่อป้อนเข้าสู่กระเพาะของหนูแรท พบว่าสามารถยับยั้งการอักเสบของอุ้งเท้าหนูที่เหนี่ยวนำด้วย carrageenan ได้ (16)

       สาร (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) butadiene (DMPBD) มีฤทธิ์ยับยั้งอาการบวมของหูหนูแรทที่เกิดจาก diethyl phenylpropiolate, arachidonic acid (AA) (17,18) ethyl phenylpropiolate และ 12-o-tetradecanoylphorbol 13-acetate ได้ดีกว่ายา oxyphenbutazone และ phenidone นอกจากนี้พบว่า DMPBD และ diclofenac มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันในการยับยั้งการอักเสบของเท้าหนูแรทที่เกิดจาก carrageenan  (19) สาร cassumunarins ที่พบในไพลมีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำโดย 12-o-tetradecanoylphorbol 13-acetate ที่หูของหนูเม้าส์ สารดังกล่าวมีฤทธิ์ดีกว่าเคอร์คิวมิน  (20)

การทดสอบสาร phenylbutenoids ในไพลจำนวน 7 ชนิด ต่อการยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการอักเสบ คือ cyclooxygenase-2 พบว่ามีสาร 4 ชนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าว เป็นสาร phenylbutenoid dimer 2 ชนิดและสาร phenylbutenoid  monomer  2 ชนิด โดยสารกลุ่มแรกจะมีฤทธิ์แรงกว่า (21)         

          5.2   ฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่

       น้ำคั้นหัวไพลมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่  และช่วยลดอาการปวด (22)

5.3   ฤทธิ์ต้านฮีสตามีน

       มีการทดสอบฤทธิ์ต้านฮีสตามีนของไพลในผู้ป่วยเด็กโรคหืด โดยฉีดฮีสตามีนที่แขนซ้ายก่อนได้รับยา  และฉีดที่แขนขวาอีกครั้งหลังการให้กินไพลแห้งบด ทำการวัดรอยนูนแดงที่เกิดขึ้นหลังฉีดฮีสตามีน 15 นาทีเปรียบเทียบระหว่างแขนทั้งสองข้าง พบว่าไพลมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนโดยสามารถลดขนาดของตุ่มนูนที่เกิดจากการฉีดด้วยฮีสตามีนได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาคลอเฟนิลามีน (23) นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดด้วยเฮกเซนมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนในกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กส่วนปลายและกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมนหนูตะเภา (24)        

5.4   ฤทธิ์แก้ปวด

       สาร (E)-4 (3',4'-dimethylphenyl) but-3-en-l-ol จากไพลมีฤทธิ์แก้ปวดเมื่อทดสอบในหนูแรท (10) และไพลเจลมีฤทธิ์แก้ปวดเมื่อใช้เป็นยาทาภายนอก (12,13)

5.5   ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย

       สารสกัดด้วยไดคลอโรมีเทนแสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis (แบคทีเรียแกรมบวก) และ Pseudomonas aeruginosa (แบคทีเรียแกรมลบ) แต่สารสกัดด้วยเมทานอลไม่แสดงฤทธิ์ (25) สารสกัดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินหายใจบางชนิด ได้แก่ b-streptococcus group A (26) นอกจากนี้สาร Terpinene-4-ol  และ sabinene ก็มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ (27)       

5.6   ฤทธิ์ต้านเชื้อรา

       สารสกัดด้วยไดคลอโรมีเทนและเมทานอลไม่มีผลยับยั้ง Candida albicans (25)  ส่วนสารสกัดด้วยเอทานอลสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคพืชหลายชนิด ได้แก่ Candida albicans, Cryptococcus neoformans, Wangiella dermatitidis, Alternaria alternata, Aspergillus fumigatus, Fusarium oxysporum, Microsporum gypseum, Pseudallescheria boydii, Rhizopus sp. และ Trichophyton mentagrophytes (28)     และพบว่าสารสกัดด้วยเมทานอล, ไดคลอโรมีเทนและเฮกเซนมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อราในโรคผิวหนังด้วย ได้แก่ Epidermophyton floccosum, Microsporum gypseum, Trichophyton mentagrophytes และ Trichophyton rubrum (29)

       น้ำมันหอมระเหยจากไพลมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อรา Aspergillus flavus ซึ่งเป็นเชื้อราที่สร้างความเสียหายให้กับอาหาร (30) นอกจากนี้ยังพบว่าสาร zerumbone มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Rhizoctonia solani ซึ่งเป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคเน่าในพืช โดยให้ผลดีกว่ายาฆ่าเชื้อราบางชนิด ข้อดีของสารดังกล่าวคือเป็นพิษกับเชื้อราได้น้อยชนิดในขณะที่ไม่มีพิษต่อพืช มีการทดลองใช้เพื่อป้องกันการเน่าของเมล็ดพืชที่เกิดจากเชื้อรา R. solani พบว่าสามารถป้องกันได้ถึงร้อยละ 85.7 (31)      

          5.7   ฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ

       พบว่าสาร D จากสารสกัดด้วยเฮกเซนสามารถยับยั้งฤทธิ์ของฮีสตามีน อะเซททิลโคลีน  นิโคทีน  และเซโรโทนินได้ เมื่อทดสอบกับกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภา และสารดังกล่าวสามารถยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมที่ถูกกระตุ้นด้วยฮีสตามีนและลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อกระบังลมที่ถูกระตุ้นด้วยไฟฟ้าได้ (24)      เมื่อนำสารสกัดด้วยน้ำมาทดสอบผลต่อกล้ามเนื้อเรียบของหนูแรท พบว่าสามารถยับยั้งการบีบตัวของมดลูก ลำไส้และกระเพาะอาหารได้ อย่างไรก็ตามเมื่อทดสอบกับกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดแดงจากสายสะดือเด็กทารก ยังไม่พบการออกฤทธิ์ของน้ำสกัดไพลที่ชัดเจน (32)     

 

6.  อาการข้างเคียง

                 ยังไม่มีรายงาน

 

7. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

 7.1 การทดสอบความเป็นพิษ

       การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดไพลด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 และสารสกัด D (แขวนตะกอนใน tween 80 ร้อยละ 2) ไม่พบอาการพิษแม้จะให้ทั้งกรอกทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูเม้าส์ แต่เมื่อให้เกลือโซเดียมของสาร D ที่ละลายในน้ำฉีดเข้าช่องท้องจะทำให้หนูหายใจลึกและถี่ขึ้น มีการเคลื่อนไหวน้อยลง และขาหลังอ่อนเปลี้ยกว่าปกติ แต่หนูทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่รอดภายหลังการทดลอง  การทดสอบความเป็นพิษเรื้อรัง ไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ทั้งจากการตรวจดูลักษณะภายนอก และจากการตรวจสอบทางพยาธิวิทยา (24)   ในการศึกษาพิษเฉียบพลันของตำรับยาแก้หืดที่มีส่วนผสมของไพลในหนูแรท พบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 และเฮกเซน ไม่เกิดพิษใดๆ   ส่วนการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง โดยผสมไพลในอาหารหนู ซึ่งให้หนูกินเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าการผสมไพลในอาหารร้อยละ 18 เท่านั้นที่ทำให้หนูโตช้า แต่ยังไม่พบความผิดปกติอื่น เมื่อทำการตรวจปัสสาวะและเลือด หรือการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ (33, 34)   ส่วนผงไพลเมื่อให้ในหนูเม้าส์พบว่ามีพิษต่อตับหลังจากให้ไป 1 ปี แต่เมื่อให้กับลิงในขนาด 50 เท่าของขนาดรักษาในคนเป็นเวลา 6 เดือน ยังไม่พบพิษ (35)  

       เมื่อทดสอบความเป็นพิษของน้ำมันไพลต่อสัตว์ทดลอง 3 ชนิด ได้แก่ หนูแรท หนูเม้าส์ และกระต่าย โดยให้ทางปาก พบว่าน้ำมันไพลมีความเป็นพิษเล็กน้อย (12)  มีการทดสอบความเป็นพิษของ terpinen-4-ol จากน้ำมันไพล พบว่าไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับกระต่าย นอกจากนี้ในการทดสอบการระคายเคืองของ terpinen-4-ol กับกระต่าย โดยสอดครีมความเข้มข้นร้อยละ 3, 5 และ 7 ทางช่องคลอดเป็นเวลา 10 วัน พบว่าไม่มีผลเปลี่ยนแปลงน้ำหนักกระต่าย แต่มีความผิดปกติกับช่องคลอด ส่วน กระเพาะปัสสาวะ มดลูก รังไข่ ไต และ ตับ ปกติ และพบว่าการป้อนสาร terpinen-4-ol มีความเป็นพิษปานกลางต่อหนูแรท (36)  และสาร terpinen-4-ol ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออสุจิของวัวใกล้เคียงกับยาสังเคราะห์ Delfen (ครีมมี nonoxynol-9 ร้อยละ 5) (36)   ประสะไพลและน้ำสกัดจากประสะไพลที่ให้กับหนูแรท ไม่พบอาการพิษ (37)     

7.2   ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์                                                                         

       เมื่อใช้สารสกัดด้วยน้ำร้อน พบว่าไม่มีผลต่อ Bacillus subtillis H-17 (Rec+) และ M-45 (Rec-) (38) น้ำมันหอมระเหย และ terpinen-4-ol ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์กับ Sallmonella typhimurium สายพันธุ์ TA98, TA100 (9, 36)

 

8. วิธีการใช้วิธีการใช้ไพลรักษาอาการบวม ฟกช้ำ อักเสบ

8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

       1.  นำไพลมาฝานเป็นชิ้นบางๆ ใช้ถูนวดบริเวณที่อักเสบ (39)

       2.  เตรียมน้ำมันไพลด้วยการจี่ในกะทะ (คั่วในกะทะ) จนได้น้ำมันสีเหลือง นำมาทาถูนวด (40)

หมายเหตุ: ครีมน้ำมันไพลขององค์การเภสัชกรรม เตรียมจากน้ำมันซึ่งกลั่นจากหัวไพล สารสำคัญจะเป็นน้ำมันหอมระเหย

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

            ครีมที่มีน้ำมันไพลร้อยละ 14 ทาและถูเบา ๆ วันละ 2-3 ครั้ง บริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย ปวดบวม จากกล้ามเนื้ออักเสบ เคล็ดยอก ฟกช้ำ

เอกสารอ้างอิง  

1.             Ghatak N, Basu N. Sodium curcuminate as an effective antiinflammatory agent. Indian J Exp Biol 1972;10:235-6.

2.             Srimal RC, Dhawan BN. Pharmacology of diferuloyl methane (curcumin), a non-steroidal anti-inflammatory agent. J Pharm Pharmacol 1973;25(6):447-52.

3.             Mukhopadhyay A, Basu N, Ghatak N, Gujal PK. Antiinflammatory and irritant activities of curcumin analogs in rats. Agents Actions 1982;12(4):508-15.

4.             Rao Ts, Basu N, Siddiqui HH. Anti-inflammatory activity of curcumin analogs.  Indian J Med Res 1982;75:574-8.

5.             Kunchandy E, Rao MNA. Oxygen radical scavenging activity of curcumin. Int J Pharm 1990;58(3):237-40.

6.             Deodhar SD, Sethi R, Srimal RC. Preliminary study on anti-rheumatic activity of curcumin (diferuloyl methane). Indian J Med Res 1980;71:632-4.

7.             Satosar RR, Shah Shenoy SG. Evaluation of antiinflammatory property of curcumin (diferuloyl methane) in patient with postoperative inflammation. Int J Clin Pharm Toxicol 1986;24(12):651-4.

8.             Wasuwat S, Soonthornsarathoon P, Boonkong P, et al.  The pharmacological study on Nam Man Phlai, Zingeber cassumuna Robx. Symposium on Science and Technology of Thailand, 10th, 25-27 October, Chiang Mai, Thailand, 1984. A79.

9.             Wasuwat S, Nandhasri P, Suntorntanasat T, Rojjanapothi W. Antiinflammatory action of Plai oil, Zingiber cassumunar Roxb. The First Princess Chulabhorn Science Congress, 10-13 December, Bangkok, Thailand, 1987.

10.         Panthong A, Kanjanapothi D, Niwatananum V, Tuntiwachwuttikul P, Reutrakul V. Antiinflammatory activity of compounds isolated from   Zingiber cassumnar. Planta Med 1990;56:60.

11.         Masuda T, Jitoe A, Mabry T J. Isolation and structure determination of cassumunarins A, B, and C: new anti-inflammatory antioxidants from a tropical ginger, Zingiber cassumunar. J Am Oil Chem Soc 1995;72(9):1053-7.

12.         Laupattarakasem W, Kowsuwon W, Laupattarakasem P, et al. Efficacy of Zingiber cassumunar ROXB (Plygesal) in the Treatment of Ankle Sprain. Srinagarind Med J 1993; 8(3):159-164.

13.    ทวีศักดิ์ สุนทรธนศาสตร์ และคณะ. ไพลเจล: การวิจัยและพัฒนาเป็นยาทาภายนอกสำหรับต้านการอักเสบอย่างครบวงจร. การสัมมนาแนวทางการพัฒนาสมุนไพรของประเทศไทย, 13-14 กันยายน, กรุงเทพฯ, 2543. หน้า 289-91.

14.    ศศิธร วสุวัต. การศึกษาผลทางเภสัชวิทยาของน้ำมันไพล ZINGIBER CASUMUNAR BOXB. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่10, 25-27 ตุลาคม, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2527. หน้า 218-9.

15.         Pongprayoon U, Tuchinda P, Claeson P, et al. Topical antiinflammatory activity of the major lipophilic constituent of the rhizome of Zingiber cassumunar, Part 2, Hexane extractives. Phytomedicine 1997;3(4):323-6.

16.         Panthong A, Kanjanapothi D, Niwatananant W, et al. Anti-inflammatory activity of compound D {(E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) but-3-en-2-ol} isolated from Zingiber cassumunar. Phytomedicine 1997;4(3):207-12.

17.         Pongprayoon U, Tuchinda P, Claeson P, et al. Topical antiinflammatory activity of the major lipophilic constituent of the rhizome of Zingiber cassumunar, Part 1, The essential oil. Phytomedicine 1997;3(4):319-22.

18.         Jeenapongsa R, Yoovathaworn K, Sriwatanakul K. M, et al. Anti-inflammatory activity of (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) butadiene from Zingiber cassumunar Roxb. J Ethnopharmacol 2003;87:143-8.

19.         Jeenapongsa R, Yoovathaworn K, Sriwatanakul K, et al. Anti-inflammatory activity of DMPBD, a phenylbutanoid from Zingiber cassumunar. Ann Res Abst, Bangkok: Mahidol University 1995. p.327.

20.         Masahiro O, Tomoko K, Michio S. New curcuminoid compound as chemokine expression inhibitor, its purification from Zingiber purpureum, and its uses as inflammation inhibitors, etc. Patent: Jpn Kokai Tokkyo Koho JP 2004269450 2004:21pp.

21.         Ar-Reum H, Moon-Sun K, Yeon H J. Cyclooxygenase-2 inhibitory phenylbutenoids from the rhizomes of Zingiber cassumunar. Chem Pharm Bull 2005;53(11):1466-8.

22.         Anantasan V, Asayakun S. Study on the local anesthetic effect of squeezed Zingeber cassumuna Robx. Chiangmai Med Bull 1971;10(1):10-23.

23.    กณิกา ภิรมย์รัตน์ มนตรี ตู้จินดา ศิริกุล เกตุสมนึก และคณะ. ฤทธิ์ต้าน ฮิสตะมีน ของ "ไพล" ในผู้ป่วยเด็กโรคหืดทดสอบโดยการฉีดฮิสตะมีนเข้าผิวหนัง. สารศิริราช 2529; 38(4):251-5.

24.    นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี มนัส หวังหมัด กมล สวัสดีมงคล และคณะ. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสำคัญจากไพล (Zingiber cassumunar Roxb.). วารสารกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ 2522;21(1):13-24.

25.         Habsah M, Amran M, Mackeen M.M. Sceening of Zingiberaceae extracts for antimicrobial and antioxidant activities. J Ethnopharmacol 2000;72:403-10.

26.    อารีรัตน์ ลออปักษา สุรัตนา อำนวยผล วิเชียร จงบุญประเสริฐ. การศึกษาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ. ไทยเภสัชสาร 2531;13(1):23-35.

27.    แสงจันทร์ เอี่ยมธรรมชาติ. การศึกษาผลของสมุนไพรบางชนิดในวงศ์ซิงกิเบอเรซี (Zingiberaceae) ต่อการเจริญของแบคทีเรียบางชนิด. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย 2543:207.

28.         Giwanon R, Thubthimthed S, Rerk-am U, et al. Antimicrobial activity of terpinene-4-ol and sabinene. Thai J Pharm Sci 2000;24(Suppl.):27.

29.         Ficker CE, Smith ML, Susiarti S et al. Inhibition of human pathogenic fungi by members of Zingiberaceae used by the Kenyah (Indonesian Borneo). J Ethnopharmacol 2002;85:289-93.

30.    ดำรง พงศ์พุทธชาติ. ผลยับยั้งของพืชสมุนไพรบางชนิดต่อเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543: 184.

31.         Dubey NK, Tripathi P, Singh HB. Prospects of some essential oils as antifungal agents. J Med Aromat Plant Sci 2000;22(1B):350-4.

32.    วัลภา อนันตศานต์ เล็ก นพดลรัตน์กุล. การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของน้ำสกัดไพล (ปูเลย) ต่อกล้ามเนื้อเรียบในหนูขาว ตอนที่ 1. วารสารสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2523; 12(1): 51-68.

33.         Panyathanya R, Ngamwathana W, Chawalidthumrong P, Permpipat U, Leekakulthanit O, Chantachaya C. Study of acute and chronic toxicity of Plai (Zingiber cassumunar Roxb.) in rats. Siriraj Hosp Gaz 1986;38:413-6.

34.         Panyathanya R, et al. Study of acute and chronic toxicity of phlai (Zingiber cassumunar Roxb) in rats.  Ann Res Abst, Bangkok: Mahidol University, 1986. p.242. 

35.         Koysooko R, Dechatiwongse T, Sittisomwong N, Tuchinda M, Yongchaiyud P. Development of Plai (Zingiber cassumunar Roxb.) for treatment of bronchial sathma. The First Princess Chulabhorn Science Congress, 10-13 December, Bangkok, Thailand, 1987. AP29.

36.         Wasuwat S, Soonthornsaratoon P, Rojanapothi W, et al.  Spermicidal activity of medicinal plants. Sci Technol 1990;6(1):4-17.

37.         Nualkaew S, Gritsanapan W, Tiangda C. Acute toxicity of a thai traditional preparation: Prasaplai. Ann Res Abst, Bangkok: Mahidol University, 2004. p.213.

38.         Ungsurungsie M, Suthienkul O, Paovalo C. Mutagenicity screening of popular Thai spices. Food Cosmet Toxicol 1982;20:527-30.

39.         บวร เอี่ยมสมบูรณ์ดงไม้กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2518. หน้า 246.

40.         ทัพพ์ ตันสุภาพแบบสัมภาษณ์ผู้ใช้โดยโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง.