1.  ชื่อสมุนไพร           ผักคราดหัวแหวน

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Acmella oleracea (L.) R.K.Jansen

          ชื่อวงศ์           COMPOSITAE (ASTERACEAE)

          ชื่อพ้อง           Spilanthes acmella (L.) Murray

          ชื่ออังกฤษ        Para cress

          ชื่อท้องถิ่น        ผักคราด  ผักเผ็ด  อึ้งฮวยเกี้ย

 

2.  ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก สูงได้ถึง 30 เซนติเมตร ใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน เป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมใบหอก มีขนาดกว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 2-4 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนสอบแคบลง ขอบใบเรียบหรือจักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ ดอกออกเป็นช่อกระจุกแน่น มีริ้วประดับสองชั้น เป็นรูปไข่แกมใบหอก ดอกย่อยวงนอกเป็นดอกเพศเมีย ลักษณะสมมาตรด้านข้าง ดอกย่อยวงในเป็นแบบสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด สมมาตรตามรัศมี ผลแห้งมีสัน 3 ด้าน ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ปลายมีระยางค์เป็นหนาม 1-2 อัน

 

3.  ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          - ดอก             ใช้แก้ปวดฟัน

 

4.  สารสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์ หรือสารที่ใช้ประเมินคุณภาพของสมุนไพร

          Spilanthol เป็นสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ (1)     

 

5.  ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          5.1   ฤทธิ์ยาชาเฉพาะที่

                 ในการทดลองทาสารสกัดด้วยเอทานอลจากผักคราดหัวแหวน ความเข้มข้น 10% บนปลายลิ้นของอาสาสมัครเปรียบเทียบกับยาชา lidocaine 10% แล้วกระตุ้นด้วยไฟฟ้า พบว่าสารสกัดออกฤทธิ์ทำให้ชาเร็วกว่าแต่มีระยะเวลาออกฤทธิ์สั้นกว่า  lidocaine (2)  ส่วนการทดสอบโดยการทาสารสกัดด้วยเอทานอล 95% จากผักคราดหัวแหวน ความเข้มข้น 10% ที่ในกระพุ้งแก้ม แล้วทดสอบอาการชาต่อเข็มจิ้มเทียบกับ lidocaine 10%  พบว่าสารสกัดสามารถลดความเจ็บปวดจากเข็มจิ้มได้เทียบเท่ากับยาชา  (3)

แต่จากการศึกษาในผู้ป่วยหญิง 200 คน โดยวางสำลีรองเฝือกที่หลังมือหรือแขนทั้ง 2 ข้าง ตรงที่จะแทงเข็มให้น้ำเกลือ โดยตำแหน่งตรงกันทั้ง 2 ข้างในคนเดียวกัน แล้วหยดแอลกอฮอล์ 70% ปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร บนสำลีข้างหนึ่ง และหยดสารสกัดจากผักคราดหัวแหวนปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร ลงบนสำลีรองเฝือกอีกข้างหนึ่ง แล้วจึงใช้เข็มเบอร์ 18 แทงตรงตำแหน่งที่ทายาไว้ข้างละเข็มเมื่อประเมินผลการระงับความเจ็บปวด พบว่า สารสกัดไม่สามารถระงับความเจ็บปวดจากการแทงเข็มให้น้ำเกลือได้ ซึ่งไม่แตกต่างจากการทาแอลกอฮอล์ 70%  ทั้งนี้คาดว่าเนื่องจากสารสกัดไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้  แตกต่างกับเนื้อเยื่อบุผิวที่สารสกัดซึมผ่านได้ง่าย (4)

                 จากการศึกษาในสัตว์ทดลองโดยฉีดน้ำคั้น สารสกัดด้วยน้ำความเข้มข้น 25% สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 95% ความเข้มข้น 10% จากลำต้นพร้อมใบและดอกเข้าใต้ผิวหนังหนูตะเภา เปรียบเทียบกับ lidocaine 2% ทดสอบความรู้สึกชาด้วยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น พบว่าน้ำคั้น สารสกัดด้วยน้ำ และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ ทำให้หนูมีอาการชาทันที เช่นเดียวกับ lidocaine แต่ระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นกว่า  เมื่อนำสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากส่วนเหนือดินความเข้มข้น 10% มาทดสอบกับเส้นประสาท siatic nerve ของกบ เปรียบเทียบกับ lidocaine 2% พบว่าสารสกัดด้วยอัลกอฮอล์ออกฤทธิ์ทำให้ชาได้เร็วกว่า lidocaine และเส้นประสาทที่ถูกทำให้ชาไปแล้วสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้  แสดงว่าสารสกัดไม่เป็นพิษต่อเซลล์ประสาท  เมื่อศึกษาดูผลของสารสกัดต่อการระคายเคืองเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกฉีดโดยใช้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 10% ขนาด 0.1 มิลลิลิตร พบว่าภายใน 24 ชั่วโมง ไม่พบความผิดปกติของผิวหนังชั้นนอก แต่มีบวมเล็กน้อยใต้ผิวหนัง และมีการคั่งของหลอดเลือดฝอย มีการบวมและอักเสบ ในชั้นหนังแท้ (dermis) แต่ไม่พบเนื้อเยื่อตาย  ความผิดปกติเหล่านี้หายไปเมื่อเวลาผ่านไป 7 วัน ในขณะที่ผิวหนังบริเวณที่ฉีด lidocaine 2% มีการบวมระหว่างเซลล์ และการคั่งของหลอดเลือดฝอยเช่นเดียวกับสารสกัด  และไม่พบความผิดปกติของเนื้อเยื่อหลังจากเวลาผ่านไป 7 วันเช่นกัน (5)

          5.2   ฤทธิ์ระงับปวด

                 การศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัดจากผักคราดหัวแหวน ในรูปแบบต่างๆพบว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นยาแก้ปวด (6-8)

          5.3   ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

                 การศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดด้วยเอทิลอะซีเตตจากผักคราดหัวแหวนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนสารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มก็มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์แมคโครฟาจสายพันธุ์ RAW 264.7 ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide โดยพบว่าสารสำคัญ spilanthol ออกฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบคือ nitric oxide synthase และ cyclooxygenase -2 (COX-2) (1)

 

6.  อาการข้างเคียง

          ยังไม่มีรายงาน

 

7.  ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

          7.1   การทดสอบความเป็นพิษ

                 เมื่อฉีดสารสกัดด้วยอีเทอร์  สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 70% และส่วนสกัดที่ไม่ถูกสกัดด้วยอีเทอร์ จากผักคราดหัวแหวนเข้าช่องท้องหนูเม้าส์ พบว่าส่วนสกัดด้วยอีเทอร์มีความเป็นพิษมาก ส่วนสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 70% และส่วนสกัดที่ไม่ถูกสกัดด้วยอีเทอร์มีพิษปานกลาง (6) 

 

8.  วิธีการใช้แก้ปวดฟัน

          8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

                 ใช้ดอกตำกับเกลืออมหรือกัดไว้บริเวณที่ปวดฟัน (9)

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                            ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.             Li-Chen W, Nien-Chu F, Ming-Hui L, Inn-Ray C, Shu-Jung H, Ching-Yuan H, Shang-Yu H.  Anti-inflammatory effect of Spilanthol from Spilanthes acmella on murine macrophage by down-regulating LPS-induced inflammatory mediators. J Agric Food Chem 2008; 56(7):2341-9.

2.             Saengsirinavin C, Nimmanon V. Evaluation of topical anesthetic action of Spilanthes acmella on human tounge. Ann Res Abstr, Bangkok: Mahidol University, 1988;15:25. 

3.             Saengsirinavin C, Saengsirinavin S. Topical anesthetic activity of Spilanthes acmella extract in reducing injection pain. Ann Res Abstr, Bangkok: Mahidol University, 1988;15:26. 

4.     ปิ่น นิลประภัสสร  กิติศักดิ์ พงศ์ธนา. การศึกษาฤทธิ์ระงับความรู้สึกที่ผิวของส่วนสกัดจากผักคราดหัวแหวนสำหรับการแทงน้ำเกลือ.  รวบรวมผลงานวิจัย โครงการพัฒนาการใช้สมุนไพร และยาไทยทางคลินิก (2525-2536), 2536:101-4.  

5.     เชวงเกียรติ แสงศิรินาวิน  บุญสม วรรณวีรกุล  พนัก เฉลิมแสนยากร. ฤทธิ์ชาเฉพาะที่ ของผักคราดหัวแหวน.  รวบรวมผลงานวิจัย โครงการพัฒนาการใช้สมุนไพร และยาไทยทางคลินิก (2525-2536), 2536:91-9.  

6.     ปัทมา เทพสิทธา. การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากผักคราดหัวแหวน.  วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525. 

7.     วีรพล คู่คงวิริยพันธุ์  พัชรีวัลย์ ปั้นเหน่งเพ็ชร  บุญเกิด คงยิ่งยศ และคณะ.  ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของต้นบัวบก และผักคราดหัวแหวน.  รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต, 2543:38 

8.             Ansari AH, Mukharya DK, Saxena VK. Analgesic study of N-isobutyl-4,5-decadienamide isolated from the flowers of Spilanthes acmella Murr. Thai J Pharm Sci 1988;13(4):465. 

9.     กองวิจัยและพัฒนาสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.  สมุนไพรพื้นบ้าน ฉบับรวม. กรุงเทพฯ: Text and Journal Corporation Co. Ltd., 2533.