ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhinacanthus nasutus (Linn.) Kurz.
ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE
ชื่อพ้อง Rhinacanthus communis Nees
ชื่ออังกฤษ Dainty spure
ชื่อท้องถิ่น ทองคันชั่ง, หญ้ามันไก่
2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มสูง 1-2 เมตร กิ่งอ่อนมักเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ๆ เรียงตรงข้าม มีรูปไข่หรือรูปวงรี โคนและปลายใบสอบเรียว ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอกเป็นช่อสั้นๆ ออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกสีขาว 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นสองปาก ปากบนเป็น 2 แฉก ปากล่างแผ่กว้าง ปลายกลีบล่างแยกเป็น 3 แฉก โคนกลีบมีจุดประสีม่วงแดง เกสรเพศผู้มี 2 อันยื่นพ้นปากหลอดออกมาเล็กน้อย รังไข่ 1 อัน รูปยาว ผลเป็นฝักยาวภายในมี 4 เมล็ด เมื่อแห้งจะแตกได้
3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ
- ใบสดและราก รักษากลากเกลื้อน
4. สารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์
Rhinacanthin และอนุพันธ์ มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา
5.1 ฤทธิ์ฆ่าเชื้อราและยีสต์
ผลการศึกษาการฆ่าเชื้อรา Trichophyton rubrum ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกลาก โดยวิธี paper disc เทียบกับยาต้านเชื้อรา griseofulvin และ nystatin โดยใช้สารสกัดจากใบและกิ่ง ด้วยน้ำ แอลกอฮอล์ และคลอโรฟอร์ม พบว่าสารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์น้อยมาก ส่วนสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์และคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้ดีพอสมควร (1) สารสกัดทองพันชั่งด้วยเมทานอล ไดคลอโรมีเทนและเฮก เซน มีผลยับยั้งเชื้อรา Epidermophyton floccousm, Microsporum gypseum, Trichophyton mentagrophytes และ T. rubrum ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง เมื่อทดสอบบนจานเลี้ยงเชื้อ (2) สาร rhinacanthin C, D และ N ซึ่งแยกจากใบเมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อรา บนจานเลี้ยงเชื้อ พบว่าสารดังกล่าวทั้ง 3 ชนิด สามารถต้านเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคทางผิวหนัง ได้แก่ Trichophyton rubrum, T. mentagrophytes และ Microsporum gypseum ได้ โดยที่สาร rhinacanthin C มีฤทธิ์แรงที่สุด (3) สารสกัด RN-A และ RN-B ซึ่งเป็นกลุ่ม sesquiterpenoid จากใบทองพันชั่ง มีลักษณะโครงสร้างคล้ายกับสาร pyrano-1,2-naphthoquinones สามารถฆ่าสปอร์ของเชื้อรา Pyricularia oryzae ซึ่งเป็นราที่เป็นสาเหตุของโรคในข้าวเจ้าได้ (4) สาร 3,4-dihydro-3,3-dimethyl-2H-naphtho(2,3-o)pyran-5,10-dione จากทองพันชั่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา (5)
สาร rhinacanthin C, D และ N จากใบทองพันชั่ง สามารถยับยั้งยีสต์ Candida albicans ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อราในช่องปากและช่องคลอด (6)
5.2 ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส
สารสกัดใบทองพันชั่งด้วยน้ำและเอทานอล เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อไวรัส Herpes simplex type1 (HSV-1) ซึ่งเป็นสาเหตุของเริม (7) สาร rhinacanthin C และ D จากต้นทองพันชั่ง เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านไวรัส ในเซลล์เพาะเลี้ยง พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อ cytomegalovirus ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนี่งของการติดเชื้อไวรัสในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง (8) สาร rhinacanthin E และ F จากส่วนเหนือดินของต้นทองพันชั่ง เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ (9)
6. อาการข้างเคียง
ยังไม่มีรายงาน
7. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์
7.1 การทดสอบความเป็นพิษ
สารสกัดต้นทองพันชั่งด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 เมื่อป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม ไม่พบอาการเป็นพิษในหนูเม้าส์ ซึ่งขนาดที่ใช้ทดลองนี้เป็น 3,333 เท่าของขนาดที่ใช้ในตำรายา (10)
7.2. ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์
สารสกัดรากด้วยคลอโรฟอร์มขนาด 5 มิลลิกรัม/จานเพาะเลี้ยงเชื้อ ไม่ทำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 (11)
7.3. พิษต่อเซลล์
สารสกัดด้วยเมทานอลความเข้มข้น 20 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ Raji (12) จากการตรวจสอบหาสารสำคัญในรากทองพันชั่งซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ พบว่าสารพิษนั้น คือ 1,4 naphythoquinone ester, rhinacanthin Q และสารประกอบอื่นๆ อีก 24 ชนิด (13) ส่วนอีกการทดลองหนึ่งได้ทำการทดสอบกับเซลล์ P388 lymphocytic leukemia โดยใช้สารสกัดด้วยเฮกเซนจากรากทองพันชั่ง พบว่าสารที่ก่อความเป็นพิษเป็นอนุพันธ์ของ naphthoquinone มี 3 ชนิด คือ epoxyrhinacanthin B, epoxyrhinacanthin C, และ rhinacanthin C (14)
8.1 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)
ใช้ใบสดหรือรากตำแช่เหล้าหรือแอลกอฮอล์ทา (15) หรือใช้ใบสดตำให้ละเอียดผสมน้ำมันก๊าซ ทาบริเวณที่เป็นกลากวันละ 1 ครั้งเพียง 3 วัน รักษาโรคกลากได้ (16)
8.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ไม่มี
เอกสารอ้างอิง
1. Achararit C. Study on antifungal activitry of Thai medicinal plants extracts, Special project for The degree of B. Sc. (Pharm.), Faculty of Pharmacy, Mahidol Univ, Bangkok, Thailand 1983.
2. ดำรง พงศ์พุทธชาติ. ผลยับยั้งของพืชสมุนไพรบางชนิดต่อเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทย และทิศทางการวิจัยในอนาคต. สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543.
3. Panichayupakaranant P, Kongchai N. Antifungal activities of rhinacanthins and Rhinacanthus nasutus extract. Proceeding of the third Indochina Conference on Pharmaceutical Sciences, Bangkok, Thailand, May 20-23, 2003.
4. Santisopasri V, Wangkiat A, Zungsontiporn S, Kadama. New sesquiterpenoid in Rhinacanthus nasutus as antifungal agent. International Union of Pure and Applied Chemistry (IUPAC) Conference 23-27 November, Phuket, Thailand, 1997.
5. Osamu K, Hiroaki I, Tadami A, Vilai S, Atsusi K, Yoshioki H. Isolation and identification of an antifungal naphthopyran derivative from Rhinacanthus nasutus. J Nat Prod 1993;56(2):292-4.
6. ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์. การแยกและการพิสูจน์เอกลักษณ์สารกลุ่มควิโนนที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ จากใบของต้นทองพันชั่ง. รายงานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. 2545.
7. Akaanitapichat P, Kurokawa M, Tewtrakul S, et al. Inhibitory activities of Thai medicinal plants against Herpes simplex type 1, Poliovirus type 1, and measles virus. The Sixth JSPS-NRCT Joint Seminar: Recent Advances in Natural Medicine Research, Dec 2-4, 2003.
8. Sendl A, Chen JL, Jolad SD, Stoddart C, Rozhon E, Kernan M. Two new naphthoquinones with antiviral activity from Rhinacanthus nasutus. J Nat Prod 1996;59:808-11.
9. Kernan MR, Sendl A, Chen JL, et al. Two new lignans with activity against Influenza virus from the medicinal plant Rhinacanthus nasutus. J Nat Prod 1997;60:635-7.
10. Mokkhasmit M, Ngarmwathana W, Sawasdimongkol K, Permphiphat U. Pharmacological evaluation of Thai medicinal plants. J Med Assoc Thai 1971; 54(7):497.
11. Rojanapo W, Tepsuwan A, Siripong P. Mutagenicity and antimutagenicity of Thai medicinal plants. Basic Life Sci 1990;52:447-52.
12. Murakami A, Kondo A, Nakamura Y, Ohigashi H, Koshimizu K. Possible anti-tumor promoting properties of edible plants from Thailand, and identification of an active constituent, cardamonin, of Boesenbergia pandurata. Biosci Biotech Biochem 1993;57(11):1971-3.
13. Wu TS, Hsu HC, Wu PL, Teng CH, Wu YC. Rhinacanthin-Q, a naphthoquinone from Rhinacanthus nasutus and its biological activity. Phytochemistry 1998;49(7):2001.
14. Siripong P, Ohta T, Kongkathip B, Kongkathip N, Picha P, Phromdej C, Nozoe S. Two new cytotoxic naphthoquinone derivatives from Rhinacanthus nasutus Kurz. Abst Inter Union Pure Applied Chemistry (IUPAC) Conf., 23-27 November, Phuket, 1997. p.137.
15. กองวิจัยทางการแพทย์. สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาตร์การแพทย์. กระทรวงสาธารณสุข. 2526. หน้า 43.
16. พระเทพสุทธี. แบบบันทึกประวัติผู้ป่วย. โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง.