1. ชื่อสมุนไพร           หญ้าหนวดแมว

     ชื่อวิทยาศาสตร์      Orthosiphon aristatus (Blume) Miq.   

     ชื่อวงศ์                LABIATAE

     ชื่อพ้อง                Orthosiphon grandiflorus Bold,

                             Orthosiphon stamineus Benth.

     ชื่ออังกฤษ            Kidney tea plant, Java tea

     ชื่อท้องถิ่น             บางรักป่า  พยับเมฆ  อีตู่ดง

 

2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ล้มลุก สูง 30-60 เซนติเมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นสี่เหลี่ยม  ใบเดี่ยวแตกออกเรียงตรงข้ามกัน  มีรูปไข่หรือรูปข้าวหลามตัด กว้าง 2-4.5 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ โคนใบสอบ มีขอบเรียบ  ก้านใบยาว 1-2 เซนติเมตร มีขน ดอกออกเป็นช่อคล้ายฉัตรที่ปลายกิ่ง ยาว 10-15 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง งอเล็กน้อย กลีบดอกมีสีขาวหรือม่วง เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นสองปาก ปากบนมี 4 กลีบ ปากล่างมี 1 กลีบ มีลักษณะโค้งเป็นรูปช้อน ผลรูปขอบขนาน แบน ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ตามผิวมีรอยย่น

 

3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          -ส่วนใบและก้าน รักษาอาการปัสสาวะขัด

 

4. สารสำคัญที่ออกฤทธิ์

          สารฟลาโวนอยด์ เช่น kaempferol จากหญ้าหนวดแมว สามารถยับยั้งการเพิ่มขนาดของผลึกแคลเซียมออกซาเลทในก้อนนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ (4)

 

5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

 5.1 ฤทธิ์ขับปัสสาวะ

       ยาที่ประกอบด้วยสาร orthosiphonin glucoside จากหญ้าหนวดแมว  และน้ำมันหอมระเหยที่มีซาโปนิน  phytosterol  และแทนนิน ประมาณ 0.65%  มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ โดยเพิ่มการขับออกของโซเดียมและคลอไรด์ (1)  อย่างไรก็ตามจากการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 40 คน โดยให้กินสารสกัดด้วยน้ำจากใบหญ้าหนวดแมว ขนาด 600 มิลลิลิตรต่อวัน วันละ 1 ครั้ง นาน 4 วัน  พบว่าปริมาณปัสสาวะ การขับออกของโซเดียมและโปแตสเซียมในปัสสาวะหลังกินหญ้าหนวดแมวไม่แตกต่างกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก  ซึ่งการศึกษาหลังนี้ไม่สนับสนุนว่าสารสกัดด้วยน้ำจากใบหญ้าหนวดแมวมีผลขับปัสสาวะ (3)

       เมื่อทดลองป้อนทิงเจอร์ของสารสกัดจากใบด้วยเอทานอล 50% และ 70% ให้หนูแรทพบว่าสารสกัดด้วยเอทานอล 50% มีฤทธิ์ขับปัสสาวะและขับโซเดียมได้ดีกว่าสารสกัดด้วยเอทานอลความเข้มข้น 70%   แต่ขับโปแตสเซียมออกได้น้อยกว่า นอกจากนี้สารสกัดด้วยเอทานอล 50% ยังมีฤทธิ์ขับกรดยูริคได้ดีมาก และพบว่าสารสกัดด้วยเอทานอล 50% มีปริมาณสารสำคัญ ได้แก่ sinesetine, eupatorine, caffeic acid และ cichoric acid สูงกว่าสารสกัดด้วยเอทานอล 70% แต่มีสาร rosemarinic acid น้อยกว่า (2)

          5.2   ฤทธิ์ในการรักษานิ่ว

       มีการศึกษาฤทธิ์ในการรักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะส่วนบนของหญ้าหนวดแมวเปรียบเทียบกับการรักษามาตรฐานด้วยไฮโดรคลอไรไธอาไซด์ และโซเดียมไบคาร์บอเนต พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับหญ้าหนวดแมวมีการเคลื่อนตัวของนิ่วบริเวณกระดูกกระเบนเหน็บมากกว่า และช่วยลดการใช้ยารับประทานแก้ปวดได้มากกว่ากลุ่มที่ใช้ยามาตรฐาน แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยที่ได้รับหญ้าหนวดแมวจะมีความดันโลหิตลดลงเล็กน้อย ในขณะที่กลุ่มที่ได้ยามาตรฐานจะมีความดันโลหิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยที่ได้รับหญ้าหนวดแมวจะมีชีพจรในระยะแรก (วันที่ 3 ของการทดลอง) เร็วขึ้น แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับโปแตสเซียมในเลือด กลุ่มที่ได้ยามาตรฐานจะมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะในวันที่ 30 ของการทดลองลดลง การเปลี่ยนแปลงของความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน ในขณะที่พบผลข้างเคียงในกลุ่มที่ใช้หญ้าหนวดแมวน้อยกว่ากลุ่มที่ใช้ยามาตรฐาน แต่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (5)

       นอกจากนี้ มีรายงานผลการรักษานิ่วในไตในผู้ป่วยที่ให้กินยาต้มที่เตรียมจากใบหญ้าหนวดแมวแห้ง ความเข้มข้น 0.5 % ขนาด 300 มล. ครั้งเดียว ติดต่อกันนาน 1-10 เดือน พบว่า 9 ราย มีการตอบสนองทางคลินิกที่ดี พบว่าปัสสาวะของผู้ป่วยมีแนวโน้มเป็นด่างเพิ่มขึ้น ซึ่งชี้แนะว่าน่าจะช่วยลดการเกิดนิ่วจากกรดยูริคได้ (6)

 

6. อาการข้างเคียง

          ยังไม่มีรายงาน

 

7. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

7.1   ความเป็นพิษทั่วไป

       เมื่อฉีดสารสกัดด้วยน้ำร้อนจากใบและลำต้นเข้าช่องท้องหนูแรทเพศผู้และเพศเมีย หนูเม้าส์เพศผู้และเพศเมีย พบความเป็นพิษปานกลาง (7)  เมื่อป้อนสารสกัดเดียวดันนี้ให้กับหนูแรททั้งสองเพศทุกวันติดต่อกัน 30 วัน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว ค่าการตรวจทางชีวเคมีในเลือด และพยาธิสภาพของอวัยวะสำคัญเมื่อดูด้วยตาเปล่า (7)  และเมื่อศึกษาความเป็นพิษในระยะยาวนาน 6 เดือน โดยการป้อนหนูแรทด้วยยาชงด้วยน้ำร้อน ซึ่งมีความแรงเทียบเท่ากับ 11.25, 112.5 และ 225 เท่าของขนาดที่ใช้ในผู้ป่วยโรคนิ่วในท่อไต ไม่พบความแตกต่างของการเจริญเติบโต  การกินอาหาร ลักษณะภายนอกหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ และค่าการตรวจทางชีวเคมีในเลือดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ยกเว้นจำนวนเกร็ดเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อใช้ยาในขนาด 18 กรัม/กิโลกรัม/วัน พบว่าระดับโซเดียมในเลือดในกลุ่มทดลองทุกกลุ่ม โปแตสเซียมในหนูเพศเมีย และคอเลสเตอรอลในหนูเพศผู้ จะมีระดับต่ำกว่ากลุ่มควบคุม  (9)  นอกจากนี้ เมื่อป้อนหนูแรทด้วยสารสกัดจากหญ้าหนวดแมว ติดต่อกันนาน 6 เดือน เปรียบเทียบกลุ่มควบคุม พบว่า หนูทุกกลุ่มมีการเจริญเติบโตและกินอาหารได้ใกล้เคียงกัน ไม่พบความผิดปกติในระบบโลหิตวิทยาและความผิดปกติของอวัยวะภายใน ส่วนการตรวจผลทางชีวเคมีพบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดทุกขนาดมีระดับโซเดียมต่ำกว่ากลุ่มควบคุม แต่ระดับโปแตสเซียมมีแนวโน้มสูงขึ้น ในหนูเพศผู้ที่ได้รับสารสกัด 0.96 กรัม/กิโลกรัม/วัน จะมีน้ำหนักโดยเฉลี่ยของตับและม้ามมากกว่ากลุ่มควบคุม อย่างไรก็ตามการตรวจทางจุลพยาธิสภาพไม่พบความผิดปกติที่เซลล์ตับและอวัยวะอื่นๆ ยกเว้นการโป่งพองของกรวยไตในหนูขาวที่ได้รับสารสกัด 4.8 กรัม/กิโลกรัม/วัน ที่มีจำนวนเพิ่มมากกว่ากลุ่มควบคุม (10)  กล่าวโดยสรุปสารสกัดหญ้าหนวดแมวมีพิษน้อย  แต่ต้องคอยติดตามวัดระดับโซเดียมและโปแตสเซียมหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

 

8.  วิธีการใช้

8.1   การใช้หญ้าหนวดแมวรักษาอาการปัสสาวะขัดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

       1.  นำใบและกิ่งแห้ง  4  กรัม มาชงด้วยน้ำร้อน 750 มิลลิลิตร ดื่มน้ำชงต่างน้ำ ติดต่อกันนาน 1-6 เดือน (6)

       2.  ใช้ใบและก้านสด 90-120 กรัม (แห้ง 40-50 กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มน้ำต้มที่ได้ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร (11, 12)

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

       ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.             Arebi T, Ismail Z, Ismail N. Effect of some plant flavonoids on the in vitro growth of calcium oxalate crystals in human urine. The International Conference on the Use of Traditional Medicine & Other Natural Products in Health-Care, 8-11 June, Penang, Malaysia, 1993. p.91. 

2.             Attendoli R. The therapeutic and pharmacologic action of Orthosiphon stamineus. Presse Med 1935;43:1355-6. 

3.             Du Dat D, Ngoc Ham N, Huy Khac D, et al. Studies on the individual and combined diuretic effects of four Vietnamese traditional herbal remedies (Zea mays, Imperata cylindrica, Plantago major and Orthosiphon stamineus). J Ethnopharmacol 1992;36:225-31.

4.             Olah N-K, Radu L, Mogosan C, Hanganu D, Gocan S. Phytochemical and pharmacological studies on Orthosiphon stamineus Benth. (Lamiaceae) hydroalcoholic extracts. J Pharm Biomed Anal 2003;33:117-23.

5.             พิชัย ตั้งสิน  ปริศนา แสงเจษฎา. ผลการรักษาของหญ้าหนวดแมวต่อโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะส่วนบน. รายงานการวิจัย, 2535.

6.     วีระสิงห์ เมืองมั่น  มยุรี (พันธุมโกมล) เนิดน้อย. ใบพยัพเมฆหรือหญ้าหนวดแมวใช้ป้องกันโรคนิ่วในไต.  รวบรวมผลงานการวิจัยโครงการพัฒนาการใช้สมุนไพร และยาไทยทางคลินิก (2525-2536), 2536. หน้า 227-230.

7.     ยุวดี วงษ์กระจ่าง  ถนอมศรี วงศ์รัตนาสถิตย์  คณิต อธิสุข  ปราณี ใจอาจ  เพ็ญโฉม พึ่งวิชา. พิษวิทยาของหญ้าหนวดแมว. วารสารเภสัชวิทยา 2533;12:63-9. 

8.     ทรงพล ชีวะพัฒน์  เอมมนัส หวังหมัด  พัช รักษามั่น  วิสุทธิ์ อ่อนเถื่อน  ปราณี จันทเพ็ชร. พิษเรื้อรังของหญ้าหนวดแมว. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2536;35(4):213-26. 

9.     นาถฤดี สิทธิสมวงศ์  เอมมนัส หวังหมัด  จรัสศรี เรืองสุขศรีวงศ์  พัช รักษามั่น  วิสุทธิ์ อ่อนเถื่อน  ปราณี จันทเพ็ชร. การศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดหญ้าหนวดแมว. การสัมมนาเรื่อง การพัฒนาการใช้ยาสมุนไพรทางคลินิก, 2-3 มิถุนายน 2536. 

10.    กองวิจัยทางการแพทย์.  สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1.  กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 2526. หน้า 112.

11.         พัฒน์ สุจำนงค์ตำรายาไทย-จีนยากลางบ้าน ยาสมุนไพร และยาแผนโบราณกรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แพร่วิทยา, 2524.