1.  ชื่อสมุนไพร           เพกา

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Oroxylum indicum (L.) Kurz

          ชื่อวงศ์           BIGNONIACEAE

          ชื่อพ้อง           Calosanthes indica  Blume

                             Bignonia indica  L.

          ชื่ออังกฤษ        Broken bone, Damocles tree, Indian trumpet flower, Indian trumpet tree

          ชื่อท้องถิ่น        กาโด้โด้ง, ด๊อกก๊ะ, ดอก๊ะ, ดุแก, เบโก, มะลิดไม้, มะลิ้นไม้, ลิดไม้, ลิ้นฟ้า, หมากลิ้นก้าง, หมากลิ้นซ้าง, อึ่งกา

 

2.  ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ยืนต้น สูง 5-12 เมตร ใบประกอบแบบขนนกสามชั้น ออกเรียงตรงกันข้าม ยาว 1-2 เมตร ใบย่อยรูปวงรีป้อม กว้าง 5-7 เซ็มติเมตร ยาว 7.5-12 เซนติเมตร ดอกเป็นช่อ ออกที่ปลายยอด ดอกย่อยมีขนาดใหญ่ กลีบดอกสีเขียวมีแถบสีม่วงแดง เชื่อมติดกันเป็นรูปปากแตร ผลเป็นฝักรูปดาบ ยาว 45-90 เซนติเมตร เปลือกแข็ง มีเมล็ดจำนวนมาก สีเขียวบาง มีเยื่อสีขาวคล้ายกระดาษโปร่งใสหุ้มอยู่

 

3.  ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          - เปลือกต้น      แก้อาการบวม ฟกช้ำ อักเสบ ปวดฝี

 

 4. สารสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์ หรือสารที่ใช้ประเมินคุณภาพของสมุนไพร

          สารที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ bacailein,  chrysin  และสารในกลุ่มแนฟโทควิโนน คือ lapachol นอกจากสาร lapachol ยังมีสารอื่นๆฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย (4, 5)

 

5.  ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          5.1   ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

                 ฟลาโวนอยด์ที่สกัดจากเพกาสามารถลดการอักเสบในเท้าของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้บวมด้วย dextran และจะมีผลลดบวมมากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับ a-chymotrypsin (1)  สารสกัดจากเปลือกต้นเพกามีฤทธิ์ลดการอักเสบในหนูที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบด้วยอัลบูมินจากไข่  ฟอร์มาลิน และฮีสตามีน แต่ไม่มีผลในหนูที่ถูกกระตุ้นด้วยซีรัมจากม้า หรือไซลีน (xylene)  นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากเปลือกมีฤทธิ์ลดการแพ้ในหนูที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ได้มากกว่าหนูปกติ (2) 

                 จากการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นเพกามีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยยับยั้งสารในร่างกายที่ทำให้เกิดการอักเสบ คือ PGE2 และ NF-kB และยังออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบด้วยการยับยั้งกระบวนการออกซิเดชันของไขมัน (lipid-peroxidation) (3, 4) นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดด้วยไดคลอโรมีเทนจากเปลือกต้น และรากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยยับยั้งเอนไซม์ 5-lipoxygenase และพบว่าสาร lapachol ที่สกัดได้จากเปลือกต้นและรากของเพกาก็มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5-lipoxygenase ได้เช่นกัน โดยมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับ fisetin ซึ่งใช้เป็นสารมาตรฐานในการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบ (5)  นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดด้วยน้ำจากเปลือกยังสามารถลดการอักเสบได้โดยลดการหลั่งเอนไซม์ myeloperoxidase (6)

          5.2   ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและแก้ท้องเสีย

                 สารสกัดไดคลอโรมีเทนของเปลือกต้น และรากของเพกา มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายสายพันธุ์ได้แก่ Bacillus subtilis, Staphylococcus aureus, Escherichia coli และ Pseudomonas aeruginosa และยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อราCandida albicans และพบสาร lapachol ที่สกัดได้จากเปลือกต้นและรากของเพกา มีฤทธิ์ต้านเชื้อ B. subtilis และ S. aureus ได้เทียบเท่ากับยา streptomycin (5)

                 สารสกัดจากตำรับยาเหลืองปิดสมุทรซึ่งมีเปลือกเพกาเป็นส่วนประกอบ และใช้บรรเทาอาการท้องเสียที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ พบว่ามีฤทธิ์ลดอาการท้องเสียในหนูเม้าส์ที่ทำให้ท้องเสียด้วยน้ำมันละหุ่ง และมีฤทธิ์ยับยั้งการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้เล็กขิงหนูตะเภา  นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอุจจาระร่วง 6 สายพันธุ์ในหลอดทดลอง คือ Bacillus cereus ATCC 14579, Escherichia coli ATCC 25922, Salmonella typhimurium ATCC 11331, Shigella flexneri  DMSC 1130, Staphylococcus aureus ATCC 25923, Vibrio parahaemolyticus DMST 5665 และ แบคทีเรียที่แยกได้จากอาหาร โดยสารสกัดด้วยน้ำจะออกฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์และสารสกัดของสมุนไพรเดี่ยวแต่ละชนิดที่เป็นส่วนประกอบในตำรับยานี้ (7)

 

6.  อาการข้างเคียง

          ยังไม่มีรายงาน

 

7.  ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

          7.1   การทดสอบความเป็นพิษ

                 เมื่อฉีดสารสกัดจากเปลือกต้นและฝักด้วยแอลกอฮอล์และน้ำในอัตราส่วน 1:1 ให้หนู พบว่ามีความเป็นพิษมาก (8)   การทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันหลังการให้เพียงครั้งเดียว โดยใช้สารสกัดจากเปลือกเพกาด้วยแอลกอฮอล์  70% พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดให้หนูเม้าส์ในขนาด 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม น้ำหนักตัว ไม่พบพิษ  แต่หากฉีดเข้าทางช่องท้องในขนาด 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  พบว่าหนูตาย 7 ใน 10 ตัว   ส่วนการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรัง โดยป้อนสารสกัดให้หนูเม้าส์ในขนาด 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน  หรือฉีดเข้าทางช่องท้องในขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ติดต่อกัน 30 วัน ไม่พบอาการพิษ (9)

เมื่อป้อนสารสกัดจากตำรับยาเหลืองปิดสมุทรขนาด 5 ก./กก. ครั้งเดียวให้หนูขาว สังเกตพฤติกรรมภายใน 14 วัน ไม่พบพิษแบบเฉียบพลันและความผิดปกติของอวัยวะภายใน และเมื่อให้สารสกัดขนาด 1, 2 และ 4 ก./กก./วัน แก่สัตว์ทดลองติดต่อกันเป็นเวลา 90 วันไม่พบพิษแบบกึ่งเรื้อรัง ไม่พบความผิดปกติของน้ำหนักตัว ค่าตรวจทางโลหิตวิทยา และทางชีวเคมี และการเปลี่ยนแปลงในพยาธิวิทยาของอวัยวะภายใน (7 ) สำหรับตำรับยารักษาโรคมะเร็งที่ประกอบด้วยเพกา ชุมเห็ดเทศ (Senna alata (L.) Roxb.) และรางจืด (Thunbergia laurifolia Lindl.) ซึ่งออกฤทธิ์ต้านมะเร็งในหลอดทดลอง ก็พบว่ามีความปลอดภัยในการทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง  (10)

          7.2   ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์

                 เมื่อทดสอบสารสกัดจากเปลือกเพกาด้วยความเข้มข้น 2 มิลลิกรัม/จานเลี้ยงเชื้อ กับ Salmonella typhimurium สายพันธุ์ TA98 และ TA100 พบว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ (9)

 

8.  วิธีการใช้

          8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

                 นำเปลือกต้นฝนกับน้ำปูนใสทาแก้อาการบวม ฟกช้ำ และ อักเสบ  หรือนำเปลือกเพกาฝนทารอบๆฝีแก้ปวดฝี (11)

          8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                 ไม่มี

เอกสารอ้างอิง

1.             Le TDH, Nguyen XT. Influence of flavonoids from Oroxylum indicum Vent. towards a-chymotrypsin in relation to inflammation. Tap Chi Duoc Hoc 2005;45(8):23-6, 36.

2.             Golikov PP, Brekhman II. Pharmacological study of a liquid extract from the bark of Oroxylum indicum.  Rastit, Resur 1967; 3(3): 446.

3.             Siriwatanametanon N, Fiebich BL, Efferth T, Prieto JM, Heinrich M. Thai medicinal plants and the search for new anti-inflammatory and anticancer agents. Planta Med 2009:75-PE16

4.             Siriwatanametanon N, Fiebich BL, Efferth T, Prieto JM, Heinrich M. Traditional Used Thai Medicinal Plants: In Vitro Anti-inflammatory, anticancer and Antioxidant Activities. J Ethnopharmacol 2010; 130:196-207.

5.             Ali RM, Houghton PJ, Raman A, Hoult JRS. Antimicrobial and anti-inflammatory activities of extracts and constituents of Oroxylum indicum. Phytomedicine 1998;5(5):375-81.

6.             Laupattarakasem P, Houghton PJ, Hoult JRS, Itharat A. An evaluation of the activity related to inflammation of four plants used in Thailand to treat arthritis. J Ethnopharmacol 2003;85:207-15.

7.     นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. การพัฒนาตำรับยาแผนโบราณเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน. การสัมมนาเรื่อง “การเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านสมุนไพรสู่ระดับอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2”, 19-20 มีนาคม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ, 2552.

8.             Dhar ML, Dhar MM, Dhawan BN, Mehrotra BN, Ray C. Screening of Indian plants for biological activity: Part I. Indian J Ext Biol 1968;6:232-47.

9.             Glinsukon T. Toxicological report. Symposium on Development of Medicinal Plants for Tropical Diseases, 26-27 February, Bangkok, Thailand, 1987. p.110-4.

10.    จีรเดช มโนสร้อย วรพงษ์ กิจดำรงธรรม ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ อรัญญา มโนสร้อย. การทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของสารสกัดตำรับยารักษาโรคมะเร็งที่คัดเลือกจากฐานข้อมูลตำรายาสมุนไพรไทย มโนสร้อย 2. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2553;8(2):54.

11.    พัฒน์ สุจำนงค์ตำรายาไทย-จีนยากลางบ้าน ยาสมุนไพร และยาแผนโบราณ.  ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แพร่วิทยา, 2524. หน้า 363.