1. ชื่อสมุนไพร ยอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda citrifolia L.
ชื่อวงศ์ RUBIACEAE
ชื่อพ้อง ไม่มี
ชื่ออังกฤษ Indian mulberry, noni
ชื่อท้องถิ่น มะตาเสือ ยอบ้าน แยใหญ่
2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นสูง 2-6 เมตร มีใบเดี่ยวแตกออกเรียงตรงกันข้าม รูปวงรี กว้าง 8-15 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร หูใบขนาดใหญ่เป็นตุ่มอยู่ระหว่างโคนก้านใบ ดอกออกเป็นช่อตรงซอกใบ ฐานดอกอัดแน่นเป็นรูปทรงกลม กลีบดอกสีขาว ผลเป็นผลสดออกเป็นกลุ่มแต่เชื่อมติดกันเป็นผลรวม ผิวเป็นตุ่มพอง
3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ
-ส่วนผลดิบ รักษาอาการอาเจียน
4. สารสำคัญที่ออกฤทธิ์
ยังไม่มีรายงาน
5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
5.1 ฤทธิ์ยับยั้งอาการอาเจียน
จากการศึกษาการใช้น้ำผลยอในการระงับอาเจียนเปรียบเทียบกับยา metoclopramide ซึ่งเป็นยาแก้อาเจียน และน้ำชาซึ่งใช้เป็นกลุ่มควบคุม ในผู้ป่วยมาลาเรียที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน พบว่า metoclopramide ลดความถี่ของการอาเจียนได้มากที่สุด รองลงมาคือยอและน้ำชาตามลำดับ แสดงว่ายอสามารถลดอาการอาเจียนได้ดีกว่าน้ำชา (1) เมื่อศึกษากลไกการออกฤทธิ์พบว่าผลยอมีฤทธิ์ต้าน dopamine อย่างอ่อน สารสกัดน้ำของผลยอสามารถเร่งการบีบตัวของลำไส้เล็กในหนูเม้าส์ที่ได้ถูกกระตุ้นให้อาเจียนด้วย apomorphine แต่ไม่สามารถต้านฤทธิ์ของ apomorphine ในการลดการบีบตัวของกระเพาะอาหารได้ (2)
ยังไม่มีรายงาน
7. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์
7.1 การทดสอบความเป็นพิษ
การฉีดสารสกัดด้วยเอทานอล:น้ำ ในอัตราส่วน 1:1 จากส่วนเหนือดินของต้นยอ (3) และสารสกัดด้วยเมทานอล:น้ำในอัตราส่วน 1:1 จากผล (4) เข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ พบว่ามีความเป็นพิษปานกลาง และไม่พบความเป็นพิษเมื่อป้อนหรือฉีดสารสกัดด้วยเอทานอล 50% จากผล เข้าใต้ผิวหนังหนูเม้าส์ (5)
การทดสอบพิษกึ่งเรื้อรังในหนูแรทโดยป้อนสารสกัดจากผลยอ ไม่พบความผิดปกติใดๆ ในค่าตรวจทางชีวเคมีในเลือด และค่าตรวจทางโลหิตวิทยา (6) นอกจากนี้การทดสอบความเป็นพิษโดยใช้สารสกัดด้วยน้ำจากผลยอแห้ง ก็ไม่พบความเป็นพิษทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง (7)
7.2 ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์
สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากผลไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ เมื่อทดสอบใน Bacillus subtilis (8)
8. วิธีการใช้ยอรักษาอาการอาเจียน
8.1 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)
นำผลยอดิบที่โตเต็มที่แล้วมาฝานเป็นแผ่นบางๆ จากนั้นนำมาตากแห้ง แล้วคั่วในกระทะบนไฟกรุ่นๆ ให้แห้งเกรียม นำมาบดเป็นผง แล้วใช้ผงมาประมาณ 20 กรัม ชงกับน้ำเดือดใหม่ๆ 1 ลิตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที กรองเอาแต่น้ำใส่กระติกน้ำร้อนไว้ จิบน้ำยาประมาณ 30 มิลลิลิตร ทุก 2 ชั่วโมง เวลาคลื่นไส้ อาเจียน (1)
8.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ไม่มี
เอกสารอ้างอิง
1. วิชัย เอกพลากร สำรวย ทรัพย์เจริญ ประทุมวรรณ์ แก้วโกมล และคณะ. การศึกษาทางคลินิกของผลยอในการระงับอาการอาเจียน. รายงานการวิจัยโครงการสมุนไพรกับการสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข.
2. อัญชลี จูฑะพุทธิ ปุณฑริกา ณ พัทลุง อุไรวรรณ เพิ่มพิพัฒน์ เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. การศึกษาฤทธิ์ต้านอาเจียนของผลยอ. ไทยเภสัชสาร 2539;20(3):195-202.
3. Dhawan BN, Patnaik GK, Rastogi RP, Singh KK, Tandon JS. Screening of Indian plants for biological activity. VI. Indian J Exp Biol 1977;15:208-19.
4. Nakanishi K, Sasaki SI, Kiang AK, et al. Phytochemical survey of Malaysian plants. Preliminary chemical and pharmacological screening. Chem Pharm Bull 1965;13(7):882-90.
5. มงคล โมกขะสมิต กมล สวัสดีมงคล ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. วารสารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2514;13(1):36-66.
6. Charoenpiriya A, Phivthong-ngam L, Srichairat S, Chaichantipyuth C, Niwattisaiwong N, Lawanprasert S. Subacute effects of Morinda citrifolia fruit extract on hepatic cytochrome P450 and clinical blood chemistry in rats. Thai J Pharm Sci 2003;27(suppl):69.
7. สุทธิพันธ์ สาระสมบัติ. การพัฒนายาเพิ่มภูมิคุ้มกันจากสมุนไพร: ยอบ้าน (Morinda citrifolia L.). รายงานการวิจัยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2546.
8. Khurana H, Junkrut M, Punjanon T. Analgesic activity and genotoxicity of Morinda citrifolia. Thai J Pharmacol 2003;25(1):86.