1.  ชื่อสมุนไพร           สะแก

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Combretum quadrangulare Kurz.

          ชื่อวงศ์           COMBRETACEAE

          ชื่อพ้อง           Combretum attenuatum  Wall.,

                             Combretum laccifera  Pierre,

                             Combretum quadrangulare  Kurz var.lanceolatum Gagnep.

          ชื่ออังกฤษ        Bushwillows, Combretums

          ชื่อท้องถิ่น        แก  ขอนแข้  จองแข้  ซังแก  แพ่ง  สะแกนา

 

2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ยืนต้น สูง 5-10 เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรี รูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 6-15 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบเรียวแหลมหรือกลม ก้านใบยาว 5-6 มิลลิเมตร ดอกช่อ ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ยาว 4-5 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว ผลแห้ง มีเมล็ดเดียว มีครีบแบนๆ 4 ครีบ เมล็ดรูปกระสวย สีน้ำตาลแดง

 

3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          - เมล็ด                     ขับพยาธิไส้เดือน

 

4. สารสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์

          ไม่มีข้อมูล

 

5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          5.1   ฤทธิ์ขับพยาธิไส้เดือน

                 เมื่อให้วัวกินเมล็ดสะแก พบว่าจำนวนไข่ของพยาธิตัวกลมในปศุสัตว์ชนิด Neoascaris vitulorum ลดลงจนไม่พบอีกใน 1-3 สัปดาห์ต่อมา (1)  แต่มีผู้พบว่าเมื่อให้เด็กนักเรียนกินเมล็ดสะแกนาชุบไข่ทอด ในขนาด 1.5 กรัม หรือ 3 กรัม ไม่ให้ผลในการขับพยาธิเส้นด้าย และมีอาการข้างเคียง คือ มึนงง คลื่นไส้ (2)   สารสกัดแอลกอฮอล์ 95% มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิ (3)  เมื่อให้ไก่ไข่ได้รับอาหารที่มีเมล็ดสะแกนาเป็นส่วนผสมลงในอาหาร ในอัตราส่วน 1 กรัม/น้ำหนักไก่ 1 กิโลกรัม โดยทดลองในไก่จำนวน 5 กลุ่มๆ ละ 4 ซ้ำๆ ละ 8 ตัว นาน 23 วัน และทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมโดยใช้ยาถ่ายพยาธิปิปเปอราซิน (piperazine) ในขนาด 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักไก่ 1 กิโลกรัม  พบว่ากลุ่มที่ได้รับเมล็ดสะแกนาเป็นส่วนผสมลงในอาหาร สามารถกำจัดพยาธิไส้เดือน (Ascaridia  galli) ได้ 63ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาถ่ายพยาธิปิปเปอราซินสามารถกำจัดพยาธิไส้เดือนได้ 100% (4)

 

6.  อาการข้างเคียง

          ไม่มีรายงาน     

 

7. ความเป็นพิษทั่วไป

          7.1   การทดสอบความเป็นพิษ

                 การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดเมล็ดสะแกนาด้วยเมทานอล 80% โดยการป้อนทางปากกับหนูเม้าส์เพศผู้  หนูเม้าส์เพศเมีย  หนูแรทเพศผู้  และหนูแรทเพศเมีย  พบว่ามีพิษปานกลาง และทำให้สัตว์ทดลองตาย  นอกจากนี้การทดลองพิษกึ่งเฉียบพลัน ในหนูตัวผู้และตัวเมีย เมื่อให้สารสกัด 1 กรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบมีความสัมพันธ์เล็กน้อยกับน้ำหนักในการเจริญ เติบโต    แต่ไม่มีผลต่อตับเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (5)  เมล็ดสะแกนาเมื่อให้ทางปากกับหนูแรท และหนูเม้าส์ในขนาด 0.582 และ 1.985 กรัม/กิโลกรัม ต่อครั้ง พบว่าไม่มีพิษเฉียบพลัน (1)

                 นอกจากนี้ยังมีการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดเมล็ดสะแกนาด้วยเอทานอล 80% ซึ่งให้ทางปากกับหนูแรทเพศผู้  หนูแรทเพศเมีย  หนูเม้าส์เพศผู้  และหนูเม้าส์เพศเมีย  พบว่ามีพิษปานกลาง และทำให้สัตว์ทดลองตาย และ เมื่อให้สารสกัดเมล็ดสะแกนาครั้งเดียวฉีดเข้าทางช่องท้องหนูทั้ง 4 ชนิด พบว่ามีพิษมาก และทำให้สัตว์ทดลองตาย  ส่วนความเป็นพิษกึ่งเฉียบพลันทดสอบโดยการป้อนสารสกัดทางปากทุกวัน ขนาดวันละ 0.5, 1.0 และ 2.0 กรัม/กิโลกรัม  พบว่าหนูเม้าส์ไม่สามารถทนสารสกัดขนาด 1 และ 2 กรัม/กิโลกรัม ได้   การตรวจอวัยวะภายในด้วยตาเปล่าพบลักษณะเลือดคั่งที่ลำไส้ ตับ และไต ลำไส้โป่งบวม เมื่อตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์พบก้อนเลือดในหลอดเลือดต่างๆ พบภาวะเลือดคั่ง และมีเลือดออก  ส่วนหนูแรททนสารสกัดขนาดวันละ 2 กรัม/กิโลกรัม ได้ ถึง 7 วัน โดยไม่แสดงอาการผิดปกติ  (6)

 

8. วิธีการใช้

          8.1   การใช้สะแกรักษาโรคพยาธิไส้เดือนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

                 1.  ใช้เมล็ดแก่ 1 ช้อนโต๊ะ (3 กรัม) ตำให้ละเอียด ทอดกับไข่ 1 ฟอง ไม่ต้องใส่เครื่องปรุงรับประทานเปล่าๆ พยายามรับประทานให้มากที่สุด (7-9)

                 2.   ใช้เมล็ดประมาณ 1 ช้อนหวาน ตำละเอียดผสมไข่ 1 ฟอง ทอดให้เด็กอายุ 5-6 ปี รับประทานเมื่อท้องว่าง ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง ถ้าไม่ถ่ายให้รับประทานยาถ่ายเอาตัวออก (10)

                 3.  ใช้เมล็ดสะแกนา 15-20 เมล็ด นำมาสับให้ละเอียด ทอดกับไข่ให้เด็กรับประทาน (11)

          8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                 ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.             Euswas P, Srirod S, Choontanom P, Chompoochant T. Studies on anthelmintic activity of sakae (Combretum quadrangulare Kurz). J Agri (Sci) 1988; 22: 201-6.

2.             Pipitkul W, Sribunlue P, Na Nakorn S, Chusilp K, Siamsatiansopon S.   Study of herbal medicinal plants Combretum quadrangulare Kurz. in treatment of thread worm in school children.  Com Dis J 1987; 13(1): 33-44.

3.             Somanabandhu A, Wungchinda S, Wiwat C. Chemical composition of Combretum quadrangulare Kurz. Abstract 4th Asian Symp.  Med Plants Spices, 15-19 September, Bangkok, Thailand, 1980. p.114.

4.     สมใจ  นครชัย  รุ่งระวี  เต็มศิริฤกษ์กุล  ยุวดี  วงษ์กระจ่าง  คณิต  อธิสุข. การทดสอบความเป็นพิษของสะแกนา : ตอนที่ 2.  วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2537;21(4):118-25.

5.             Jongtaweesuk P, Chanjamjang P, Temsirivirkkul R, Wongkrajang Y. Toxicity test of Combretum quadrangulare Kurz. Special Project for the degree of B. Sc. (Pharm), Faculty of Pharmacy, Bangkok: Mahidol University, 1987.

6.     เทวีรัตน์  ศรีทอง  อังคณา  หาญบรรจง  สุภาพร  อิสริโยดม  อาคม  สังข์วรานนท์  อรุณี  อิงคากุล.  ประสิทธิภาพของผลมะเกลือ เมล็ดสะแกนา และต้นหญ้ายาง ต่อการกำจัดตัวเต็มวัยขิงพยาธิไส้เดือนในไก่ไข่.  สมุนไพรไทย: โอกาสและทางเลือกใหม่ของอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ ครั้งที่ 3, 11-12 พฤษภาคม, กรุงเทพฯ, 2548.

7.             นิตยสารหมอชาวบ้าน.   หมอไทยเชื่อหรือไม่.   กรุงเทพฯ: เอช. เอน. การพิมพ์, 2525;4(35): 103-5.

8.     กองวิจัยการแพทย์.   สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1.   กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. กระทรวงสาธารณสุข, 2526. หน้า 103.

9.             พระเทพวิมลโมลี.   ตำรายาพื้นบ้าน.   กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มงกุฏราชวิทยาลัย, 2524. หน้า 31.

10.         บวร เอี่ยมสมบูรณ์.   ดงไม้.   กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2518.

11.         วีณา ศิลปอาชา.   ตำรายาพื้นบ้าน.   กรุงเทพฯ: โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง, 2529.