1.        ชื่อสมุนไพร           ขี้เหล็ก

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia siamea (Lamk.) Irwin et Barneby

          ชื่อวงศ์           FABACEAE (LEGUMINOSAE -CAESALPINIOIDEAE)

          ชื่อพ้อง           Cassia  florida   Vahl

                             Cassia  siamea   Lam.

          ชื่ออังกฤษ        Cassod tree, Siamese senna, Thai copperpod, Siamese cassia

          ชื่อท้องถิ่น        ขี้เหล็กแก่น, ขี้เหล็กบ้าน, ขี้เหล็กหลวง, ขี้เหล็กใหญ่, ผักจี้ลี้, แมะขี้เหละพะโด, ยะหา

 

2.  ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ต้น ลำต้นมักคดงอเป็นปุ่ม เปลือกสีเทาถึงน้ำตาลดำ กิ่งอ่อนมีลายตามยาว และมีขนละเอียดนุ่ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับกัน  ตัวใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่ม ดอกออกเป็นช่อ ออกตามปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีเหลือง ผลเป็นฝักแบน มีลักษณะแคบและยาว เมื่อแก่จัดจะมีสีดำ เมล็ดรูปไข่ ยาว แบน มีสีน้ำตาลอ่อน เรียงตัวตามขวาง

 

3.  ส่วนที่ใช้เป็นยา

          - ใบ              รักษาอาการท้องผูก ใช้เป็นยาระบาย

 

4.  สารสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์

          Anthraquinone มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย

 

5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          5.1   ฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้

                 สารสกัดใบด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 25 มีผลเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้กบและสุนัข (1)

          5.2   ฤทธิ์เป็นยาถ่าย

                 ขี้เหล็กมีสาร anthraquinone (2-5) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย (6) จากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากใบด้วยน้ำร้อน มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายในหนู (7)

 

6.  อาการข้างเคียง

          ยังไม่มีรายงาน

 

7.  หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ

          7.1   การทดสอบความเป็นพิษ

                 มีการศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากใบขี้เหล็ก โดยป้อนและฉีดสารสกัดใบขี้เหล็กเข้าใต้ผิวหนังของหนูเม้าส์ ขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง (8) เมื่อฉีดสารสกัดใบขี้เหล็กด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 แก่หนูตัวเมีย พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่งคือ 1 กรัม/กิโลกรัม แสดงว่าสารสกัดมีพิษระดับปานกลาง (9) ส่วนการทดสอบพิษแบบเฉียบพลันอีกการทดลองหนึ่งพบว่าใบขี้เหล็กมีผลทำให้สัตว์ทดลองตาย (10) เมื่อนำส่วนสกัดอัลคาลอยด์จากใบขี้เหล็กมาป้อนหนูตะเภาหรือหนูแรทในขนาดเทียบเท่าผงใบแห้ง 70 กรัม/กิโลกรัม ไม่พบพิษ (1) เมื่อใช้สารสกัดจากใบขี้เหล็กด้วยแอลกอฮล์ร้อยละ 25 ป้ายที่ตาหนูแรท มีผลทำให้เยื่อบุตาของหนูอักเสบ เมื่อผสมสารสกัดลงในอาหารให้หนูตะเภากิน พบว่ามีผลเพิ่มการขับถ่ายอุจจาระ เมื่อผสมสารสกัดลงในอาหารให้สุนัขกิน พบว่าสุนัขอาเจียน และเมื่อทดลองในอาสาสมัคร 21 คน พบว่ามีอาการท้องเสีย 1 คน การทดลองทางคลินิก พบว่าขนาดที่ปลอดภัยคือ 4-8 กรัม หรือประมาณ 0.8-0.1 กรัม/กิโลกรัม ในอาสาสมัครที่ให้สารในขนาด 6 กรัม ไม่พบว่าเป็นอันตราย และในหญิงที่รับประทานในขนาดที่สูงถึง 15 กรัมก็ไม่พบอันตราย (1)  มีรายงานพบ toxic alkaloid (C14H19O3N) ซึ่งทำให้ตาย ในส่วนของฝักและใบ (11) 

          7.2   พิษต่อตับ

                 มีรายงานการเกิดตับอักเสบเฉียบพลันในผู้ที่รับประทานใบขี้เหล็กเพื่อช่วยให้นอนหลับ แต่เมื่อหยุดยาอาการตับอักเสบก็ลดลงเป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีการทดลองในหนูแรท โดยให้บาราคอล ซึ่งเป็นสารจากขี้เหล็ก ในขนาด 60, 100 และ 120 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่าหลังจากนั้น 24 ชั่วโมง ยังไม่พบความผิดปกติของตับ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาพาราเซตามอลขนาดสูงซึ่งเป็นพิษต่อตับ การศึกษาพิษแบบกึ่งเฉียบพลัน โดยให้บาราคอลขนาด 60, 120 และ 240 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าน้ำหนักของหนูที่ได้รับบาราคอลจะลดลง ไม่พบการตายของเซลล์ตับ แต่มีบิลิรูบิน (bilirubin) เพิ่มขึ้นแสดงว่าตับมีการทำงานเพิ่มขึ้น และพบการเปลี่ยนแปลงของการย่อยไขมัน โดยจะขึ้นกับขนาดของบาราคอลที่ได้รับ ซึ่งผลดังกล่าวสามารถกลับสู่ปกติได้เมื่อหยุดใช้ (12)

                 นอกจากนี้ยังมีรายงานภาวะตับอักเสบที่เกิดจากยาขี้เหล็ก พบว่ามีผู้ป่วยอย่างน้อย 9 รายในปี พ.. 2542 มีภาวะตับอักเสบ โดยประเมินแล้วพบว่ามีความสัมพันธ์กับยาขี้เหล็กในระดับเป็นไปได้ (probable) จนถึงขั้นแน่นอน (definite) ตามเกณฑ์มาตรฐานการวินิจฉัยอาการไม่พึงประสงค์ต่อตับ หรือ DILI scale (drug induced liver injury scale) และยังมีผู้ป่วยอย่างน้อย 2 ราย ได้ทดลองกินยาขี้เหล็กซ้ำใหม่หลังภาวะตับอักเสบเฉียบพลันดีขึ้นแล้ว พบว่าเกิดอาการของตับอักเสบซ้ำอีก (13) และเมื่อต้นปี พ.. 2543 แพทย์ทางอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ  ได้รายงานถึงภาวะตับอักเสบที่อาจสัมพันธ์โดยตรงต่อการใช้สมุนไพรขี้เหล็ก หรืออาจเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างกันของยา (drug interaction) ทั้งนี้เนื่องจากจากการซักประวัติผู้ป่วยที่มีอาการตับอักเสบ พบว่าส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมบริโภคอาหารเสริมหรือยา รวมทั้งขี้เหล็กด้วย (14) นอกจากนี้ยังมีการทดสอบพิษต่อตับของบาราคอลในเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยงของตับคนเทียบกับพาราเซทามอลขนาดสูง พบว่าบาราคอลมีพิษต่อเซลล์มากกว่าพาราเซทามอลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (15)

                 การศึกษาพิษเรื้อรังของใบขี้เหล็กในหนูแรทพันธุ์วิสตาร์ โดยป้อนผงใบขี้เหล็กแขวนตะกอนในน้ำให้กับหนูแรท ในขนาด 20, 200 และ 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม น้ำหนักตัว /วัน เป็นเวลา 6 เดือน ดูผลการทดสอบหลังจากหยุดให้ยา 2 สัปดาห์ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า หนูที่ได้รับใบขี้เหล็กทุกขนาด มีการเจริญเติบโตและการกินอาหารไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม หนูเพศเมียที่ได้รับใบขี้เหล็กขนาด 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีน้ำหนักไตมากกว่ากลุ่มควบคุม และหนูเพศเมียที่ได้รับใบขี้เหล็กขนาด 200 และ 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีค่า creatinine ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนหนูเพศผู้ที่ได้รับใบขี้เหล็กขนาด 200 และ 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีจำนวนเม็ดเลือดแดงต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และหนูเพศผู้ที่ได้รับใบขี้เหล็กขนาด 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีค่าฮีโมโกลบิน ระดับคลอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงของค่าโลหิตวิทยานี้กลับสู่ปรกติได้ภายหลังหยุดยาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผลของใบขี้เหล็กต่อค่าทางเคมีของซีรั่มนั้น พบว่าขี้เหล็กขนาด 200 และ 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทำให้ค่าบิลิรูบินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  การเปลี่ยนแปลงของค่าทางชีวเคมีนี้กลับสู่ปกติภายหลังหยุดยาเป็นเวลา 2 สัปดาห์สำหรับหนูเพศผู้ ส่วนหนูเพศเมียไม่กลับสู่สภาพปกติ เมื่อผ่าซากชันสูตรตรวจอวัยวะภายในต่างๆ พบว่าหนูที่ได้รับใบขี้เหล็กขนาด 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีน้ำหนักไตและน้ำหนักสัมพัทธ์ของไตและตับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าของอวัยวะภายในต่างๆ ยกเว้นตับของหนูบางตัวที่ได้รับใบขี้เหล็กขนาด 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีขนาดโตขึ้นและมีไขมันแทรกเห็นเป็นสีเหลือง (Fatty liver) จากการศึกษาเนื้อเยื่อทางจุลพยาธิวิทยาของตับแสดงให้เห็นว่า ใบขี้เหล็กมีพิษต่อตับอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มที่ได้รับใบขี้เหล็กขนาด 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยทำให้เซลล์ตับของหนูแรทเสื่อมสภาพและมีเซลล์ตาย (degeneration and necrosis) และความรุนแรงของพยาธิสภาพนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามขนาดของใบขี้เหล็กที่ได้รับ (16) จากการทดลองในหนูแรทเพศผู้ที่ได้รับบาราคอลซึ่งสกัดมาจากขี้เหล็ก ขนาด 10-100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 30 วัน ไม่พบความผิดปกติในตับและไต (17)

          7.3   พิษต่อเซลล์

                 เมื่อทดสอบสารสกัดด้วยเมทานอลจากใบสดกับ Raji cells พบว่าไม่มีพิษ (18)   แต่พบว่าสารบาราคอลจากใบอ่อนของขี้เหล็กเป็นพิษต่อเซลล์ P19 embryonal carcinoma cells (19)

8.  วิธีการใช้

          8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

                 ใช้ใบขี้เหล็ก 4-5 กำมือ ต้มเอาแต่น้ำดื่มก่อนอาหาร (20, 21)

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                            ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.             Arunluksana U. Pharmacological study of Cassia siamea leaves. Siriraj Hosp Gaz, Thailand 1949;1(9),435-44.

2.             Rai PP. Anthraquinones in Cassia siamea. Curr Sci 1977;46:814-5.

3.             Ahn BZ, Degen U, Lienjayetz C, Panchaly P, Zymalkowski F. Constituents of Cassia siamea. Arch Pharm 1978;311(7):569-78.

4.             Wagner H, El-sayyad SM, Seligmann O, Chari VM. Chemical constituents of Cassia siamea. I. 2- methyl- 5- acetonyl- 7- hydroxychromone cassiachromone). Planta Med 1978;33:259.

5.             Plengvidhya P, Suvagondha C. A study of diagnostic constants of leaves of some members in genus Cassia. J Pharm Assoc Siam, third series 1957;0(1):10-2.

6.             Mukerji B. The Indian pharmaceutical codex, Vol 1, Newdelhi India 1985.

7.             Owusu PD, Ampofo O. Evaluation of two ghanaian laxative drugs. Abstr Joint Meeting American Society of Pharmacognosy and Society of Economic Botany, 13-17 July 1981.

8.             Mokkhasmit M, Sawasdimongkol K, Sartravaha P. Toxicity study of some Thai medicinal plants. Bull Dep Med Sci Thai 1971;12(2):36-65. 

9.             Ketsingh A. Clinical trial on the antimalarial activity of some medicinal plants. Proceeding of Siriraj Symposium, Thailand, 1950:275-281.

10.         Suphakarn V, Ngunboonsri P, Glinsukon T. Biological value of plant proteins: protein quality and safety of khi-lek Cassia siamea. Ann Res Abstr, Bangkok: Mahidol University 1987.

11.         Council of Scientific & Industrial Research. The wealth of India: a dictionary of raw materials and industrial products Vol. II. New Delhi: Insdoc 1950:427pp. 

12.         Pumpaisalchai W, Siriaunkgul S, Taesothikul T, et al. Toxicity of barakol: hepatotoxicity and subacute toxicity. The 3rd World Congress on Medicinal Plant and Aromatic Plants for Human Welfare, 3-7 Feb, Chiang Mai, Thailand, 2003.

13.    สมบัติ ตรีประเสริฐสุข มงคล หงษ์ศิรินิรชร อนุชิต จูฑะพุทธิภาวะตับอักเสบจากสมุนไพร "ขี้เหล็ก" บทเรียนเพื่อการพัฒนาสมุนไพรไทยคลินิกนานาสาระ 2000;186(16):385-90.

14.         ไม่ปรากฏนามผู้แต่งติดฉลากเตือนใช้ขี้เหล็กระวังโรคตับ. Med J 2000;1(2):14.

15.    สมทรง ลาวัณย์ประเสริฐ ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ สุรชัย อัญเชิญ ยุพิน ลาวัณย์ประเสริฐ ดาเรสเซนต์การศึกษาความเป็นพิษของบาราคอลต่อตับโดยการทดสอบด้วยเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยงของตับคน ชนิดเฮพจี2. ไทยเภสัชสาร 2544;25(3-4):149-59.

16.    ปราณี ชวลิตธำรง ทรงพล ชีวะพัฒน์ เอมมนัส อัตตวิชญ์ สดุดี รัตนจรัสโรจน์ สมเกียรติ ปัญญามัง บุญมี สัญญสุจจารีการศึกษาพิษเรื้อรังของใบขี้เหล็กในหนูขาวการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ "พันธมิตรร่วมใจ กระบวนทรรศน์ใหม่เพื่อการวิจัยและพัฒนา". 15-16 พฤษภาคม, กรุงเทพฯ, 2544. หน้า 41.

17.         Thongsaard W, Dedachapunya C, Showpittapornchai U. Effects of subacute administration of barakol on liver and kidney function in rats. The 3rd World Congress on Medicinal Plant and Aromatic Plants for Human Welfare, 3-7 Feb, Chiang Mai, Thailand, 2003.

18.         Murakami A, Kondo A, Nakamura Y, Ohigashi H, Koshimizu K. Possible anti-tumor    promoting properties of edible plants from Thailand, and identification of an active   constituent, cardamonin, of Boesenbergia pandurata. Biosci Biotech Biochem 1993; 57(11):1971-3. 

19.         Permtermsin C, Chaichanthipyuth C, Lipipun V, et al. Evaluation of cytotoxic effect of barakol on P19 embryonal carcinoma cell. Thai J Pharm Sci 2002;26(suppl.):29.

20.    กองวิจัยทางการแพทย์.  สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1.  กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.  กระทรวงสาธารณสุข, 2526. หน้า 27.

21.         วีณา ศิลปอาชาตำรายากลางบ้านกรุงเทพฯ: โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง, 2529.