1.  ชื่อสมุนไพร           ชุมเห็ดเทศ

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna alata (L.) Roxb.

          ชื่อวงศ์           FABACEAE (LEGUMINOSAE ) - Caesalpinioideae

          ชื่อพ้อง           Cassia alata L.

          ชื่ออังกฤษ        Acapulo, Candelabra bush, Candle bush, Ringworm bush

          ชื่อท้องถิ่น        ขี้คาก, ชุมเห็ดใหญ่, ตะลี่พอ, ลับมืนหลวง, หมากกะลิงเทศ

 

2.  ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้พุ่ม มีกิ่งแตกออกด้านข้างในแนวขนานกับพื้น  ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปรี โคนใบมน ปลายใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อใหญ่ ตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกจะบานจากล่างขึ้นบน ใบประดับมีสีน้ำตาลแกมเหลืองห่อหุ้มดอกย่อยซึ่งมีกลีบดอกสีเหลืองทองเป็นรูปไข่เกือบกลมหรือรูปช้อน ผลเป็นฝักยาวมีครีบ 4 ครีบ ฝักแก่สีดำและแตกตามยาว เมล็ดแบนเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ผิวขรุขระ มีสีดำ

 

3.  ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          - ใบ              บรรเทาอาการท้องผูก  ใช้เป็นยาภายนอกรักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน

          - ดอก             บรรเทาอาการท้องผูก

 

4.  สารสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสารออกฤทธิ์

          สารออกฤทธิ์คือ anthraquinone glycoside จากใบได้แก่ isochrysophanol, physcion-l-glycoside, chrysophanol, chrysophanic acid, emodine, rhein, aloe-emodin, 4,5-dihydroxy-2-hydroxy methylanthrone, และ 4,5-dihydroxy-1-hydroxy methylanthrone (1-7, 8) ในใบชุมเห็ดเทศควรมีสาร hydroxyanthracene derivatives ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.0 โดยน้ำหนัก (โดยคำนวณเป็น rhein-8-glucoside) (9)

 

5.  ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          5.1   ฤทธิ์รักษาอาการท้องผูก

                 จากการศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 80 ราย พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับชาชงจากใบชุมเห็ดเทศ (เตรียมโดยการชงใบชุมเห็ดเทศ 3-6 กรัม ด้วยน้ำเดือด 120 มิลลิลิตร ทิ้งไว้นาน 10 นาที และปรับให้มีสารอนุพันธ์ของ hydroxyl-anthracene ประมาณ 0.04 กรัม) ก่อนนอน ให้ผลในการรักษาอาการท้องผูก โดยผู้ป่วยสามารถถ่ายภายใน 24 ชั่วโมงได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก ซึ่งให้ผลการรักษาไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้ยาระบายมิสท์แอลบา (ประกอบด้วย magnesium sulfate 8 กรัม และ magnesium carbonate 1.2 กรัม) (8)

                 เมื่อให้สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศแห้งด้วยน้ำร้อนกับหนูแรททางปากในขนาด 500 และ 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์ช่วยระบาย (10, 11) และเมื่อให้สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำกับหนูเม้าส์ทางปากในขนาดเทียบเท่าผงใบชุมเห็ดเทศแห้ง 5, 10 และ 20 กรัม/กิโลกรัม จะทำให้หนูเม้าส์ถ่ายเหลว โดยการให้ในขนาดต่ำ (5 กรัม/กิโลกรัม) จะออกฤทธิ์ช้ากว่าในขนาดสูง (10 และ 20 กรัม/กิโลกรัม) (12) สาร anthraquinone glycoside จากใบได้แก่ isocrysophanol, physcion-l-glycoside, chrysophanol, emodine, rhein, และ aloe-emodin (1-7) มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย (13)

          5.2   ฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้

                 สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำขนาดเทียบเท่าผงใบชุมเห็ดเทศแห้ง 5 กรัม/กิโลกรัม ทำให้ลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาหดตัวได้ร้อยละ 25 ของฤทธิ์จากฮีสตามีน 1 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำขนาดเทียบเท่าผงใบชุมเห็ดเทศแห้ง 10 และ 20 กรัม/กิโลกรัม มีผลเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ของหนูเม้าส์ได้มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (12) สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำในขนาด 15 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ทำให้ลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาหดตัวได้ในหลอดทดลอง (14) ในขณะที่สารกลัยโคไซด์จากใบชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้ (1)

          5.3   ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ

                 สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์และครีมชุมเห็ดเทศเข้มข้นร้อยละ 20 สามารถรักษาผู้ป่วยโรคกลาก 30 ราย และโรคเกลื้อน 10 ราย ได้ดีเทียบเท่ากับยาขี้ผึ้ง whitfield แต่ไม่มีผลรักษาราที่เล็บและหนังศีรษะ (15)  ยาเตรียมชุมเห็ดเทศในรูปแบบทิงเจอร์และครีม (ซึ่งมีสารสำคัญ rhein 600 ไมโครกรัม/กรัม) ให้ผลในการรักษาผู้ป่วยโรคกลากเกลื้อนที่ผิวหนังได้เช่นเดียวกับยาครีมโคลไตรมาโซลร้อยละ 1 (16) สารสกัดใบชุมเห็ดเทศสดด้วยน้ำ (ใบสด 100 กรัมต่อน้ำ 50 มิลลิลิตร) ความเข้มข้นร้อยละ 100 ทาบริเวณแขน และขา  หรือความเข้มข้นร้อยละ 90 ทาบริเวณคอ และมือ  และความเข้มข้นร้อยละ 80 ทาบริเวณหน้า  วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน 2 ชั่วโมง มีผลรักษาโรคกลากเกลื้อนชนิด Pityraisis versicolor ที่มีสาเหตุจากเชื้อรา  Malassezia furfur ในผู้ป่วยจำนวน 200 คนได้ (17)

                 สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำ (18, 19) สารสกัดด้วยเอทานอล (20-23) สารสกัดด้วยเมทานอล (24-26) และสาร aloe-emodin, rhein (19-22) emodol, 4,5-dihydroxy-1-hydroxymethylanthrone, 4,5-dihydroxymethylanthraquinone (19) และ chrysophanol (3, 6, 7, 20, 22) จากใบชุมเห็ดเทศ มีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ผิวหนังได้แก่ Epidermophyton floccosum (20-22), Microsporium gypseum, Trichophyton rubrum  (20-23, 25, 26), T. mentagrophytes (18-20, 22, 24)  และ M. canis (20, 23)  เมื่อเทียบกับยา tolnaftate (21)  โดยสาร rhein ให้ผลยับยั้งเชื้อรา E. floccosum, T. mentagrophytes, และ T. rubrum ได้ดีที่สุด (20)  สารสกัดด้วยเอทานอล สารแอนทราควิโนน (27) และสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยเอทานอล ความเข้มข้น 0.104 มิลลิกรัม/มิลลิลตร (28) มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา T. rubrum (27) และ M.  gypseum (28) ในจานเพาะเชื้อ ได้พอๆกับยา ketoconazole (27, 28) และ itraconazole (28) นอกจากนี้สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยคลอโรฟอร์ม, อีเทอร์, แอลกอฮอล์ และน้ำ (15, 29-30) และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 จากทุกส่วนของชุมเห็ดเทศ (31) มีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคกลากได้

                 สารสกัดด้วยน้ำและเอทานอลจากเปลือกต้นชุมเห็ดเทศสามารถยับยั้งเชื้อยีสต์ Candida albicans ได้ โดยที่ความเข้มข้น 30 ไมโครกรัม/ไมโครลิตร จะให้ผลดีเมื่อเปรียบเทียบกับยา ticonazole 30 ไมโครกรัม/ไมโครลิตร (32) แต่สารสกัดจากใบด้วยน้ำและเอทานอลไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อยีสต์ (20, 23)

น้ำมันหอมระเหยจากใบชุมเห็ดเทศ (33)  สารสกัดจากเปลือกต้นด้วยเมทานอล (34) มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis ในจานเพาะเชื้อได้ปานกลาง (33, 34) สารสกัดด้วยน้ำจากใบชุมเห็ดเทศสามารถยับยั้งเชื้อ Escherichia coli ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อได้ที่ความเข้มข้นมากกว่า 21.8 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (35)

 

6.  อาการข้างเคียง

          อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย (8) และปวดท้องเนื่องจากการบีบตัวของสำไส้ (8, 9)

 

7.  ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

          7.1   การทดสอบความเป็นพิษ

                 การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน พบว่าสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 ไม่มีพิษเมื่อให้หนูเม้าส์ทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนัง แต่มีความเป็นพิษเล็กน้อยเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ (36, 37) เมื่อฉีดสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 85 เข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ในขนาด 2 กรัม/กิโลกรัม ไม่พบความเป็นพิษ (30, 38, 39) สารสกัดจากใบด้วยน้ำ (14) และสารสกัดจากส่วนเหนือดินของชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 (31) มีความเป็นพิษปานกลางเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ (14, 31)

                 การทดสอบพิษกึ่งเรื้อรัง พบว่าเมื่อผสมผงใบชุมเห็ดเทศในอาหารในขนาดร้อยละ 2 และ 10 ของอาหาร แล้วให้หนูแรทกินนาน 4 สัปดาห์ จะพบแผลในลำไส้ ตับ และไต และมีระดับฮีโมโกลบิน และ packed cell volume (PCV) สูงขึ้น แต่จำนวนเม็ดเลือดแดงลดลงใน 2 สัปดาห์แรก เมื่อใส่สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยเอทานอลขนาด 100 มิลลิกรัมในน้ำดื่มให้หนูแรทกินนาน 14 วัน พบว่าเกิดแผลในตับ เซลล์ตับตายกระจัดกระจาย และมีการคั่งของเลือดในเส้นเลือดดำ  การฉีดสาร emodin และ kaemferol ขนาด 10 มิลลิกรัม เข้าช่องท้องหนูแรทติดต่อกัน 14 วัน หรือฉีดสาร aloe-emodin ขนาด 100 มิลลิกรัม สาร rhein ขนาด 70 มิลลิกรัม เข้าช่องท้องนาน 4 วัน พบว่าเกิดแผลในตับของหนูทุกกลุ่ม กลุ่มที่ได้รับ aloe-emodin จะพบเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย หนูทุกกลุ่มมีระดับฮีโมโกลบิน และ PCV ลดลงภายใน 14 วัน (40)  เมื่อป้อนสารสกัดจากใบด้วยน้ำขนาด 10, 50, 100 และ 250 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้หนูแรทนาน 14 วัน จะพบระดับฮีโมโกลบิน และ เม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันหนูมีอาการเบื่ออาหาร ผอมแห้ง และน้ำหนักลด (41) การทดสอบพิษเรื้อรัง เมื่อป้อนสารสกัดจากใบด้วยเอทานอลร้อยละ 50 ให้หนูแรทในขนาด 0.75 กรัม/กิโลกรัม/วัน ซึ่งเท่ากับ 25 เท่าของขนาดใช้ในคน (1.5 กรัม/คน/วัน) นาน 6 เดือน ไม่พบความเป็นพิษ (37) 

          7.2   พิษต่อระบบสืบพันธุ์

                 เมื่อฉีดสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 เข้าช่องท้องหนูแรทในขนาด 125 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่มีผลทำให้แท้งและไม่พบพิษต่อตัวอ่อน แต่ผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรอบเดือนไม่ชัดเจน ส่วนสารสกัดจากใบด้วยน้ำขนาด 300 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร มีฤทธิ์ทำให้มดลูกหนูแรทหดตัวในหลอดทดลอง และมีฤทธิ์เสริม oxytocin (42)

          7.3   พิษต่อเซลล์

                 การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์โดยใช้ brine shrimp พบว่าสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำในขนาด 7.74 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ทำให้ brine shrimp ตายไปครึ่งหนึ่ง (43) และสารสกัดนี้มีความเป็นพิษต่อเซลล์ Vero โดยความเข้มข้น 1,414 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ทำให้เซลล์ Vero ตายไปครึ่งหนึ่ง (44)

          7.4   ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์

                 สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยเอทานอล มีผลก่อกลายพันธุ์ใน Salmonella typhimurium strain TA98 (45) และพบว่าสารสกัดชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ S. typhimurium strain TA98 และ TA100 โดยในการออกฤทธิ์ต้องการเอนไซม์จากตับหนูกระตุ้นการออกฤทธิ์ (46)

 

8.  วิธีการใช้

          8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

                 1   การใช้ชุมเห็ดเทศรักษาอาการท้องผูก

                 -  ใช้ใบ 8-12 ใบ ตากแดดให้แห้ง ป่นเป็นผงชงกับน้ำเดือด  รินเฉพาะน้ำมาดื่ม (47)

                 - ใช้ใบสดหรือแห้งประมาณ 12 ใบ ต้มกับน้ำดื่มครั้งละแก้ว หรือใช้ดอกสดประมาณ 3 ช่อ ลวกแล้วรับประทาน (47)

                 - ใช้ดอก 1 ช่อ กินสดๆ เป็นยาระบาย (48)

                 - ใช้ใบและก้านขนาดใหญ่ ประมาณ 3-5 ช่อ นำมาต้มกับน้ำประมาณ 2 ขัน (1500 ซี.ซี.) ต้มให้เดือดเหลือน้ำประมาณ 1/2 ขัน ใส่เกลือพอมีรสเค็มเล็กน้อย ดื่มวันละ 1 แก้ว (250 ซี.ซี.)ครั้งต่อไป รับประทานดอกครั้งละประมาณ 1 ช่อ (49)

                 2   การใช้ชุมเห็ดเทศรักษากลาก เกลื้อน

                 - นำใบสดมาตำให้ละเอียดใช้ทาบริเวณที่เป็นกลากหรือผื่นคัน (50)

                 - นำใบชุมเห็ดเทศ 3-4 ใบ มาตำให้ละเอียดเติมน้ำมะนาวนิดหน่อย ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง (51)

                 - ใช้ใบสดขยี้ถูนานๆ และบ่อยๆตรงบริเวณที่เป็น (52)

          8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                 รับประทานครั้งละ 1 – 2 ซอง (ใบชุมเห็ดเทศแห้งซองละ 3 กรัม) (3 – 6 กรัม) ชงในน้ำเดือด 120 มิลลิลิตร นาน 10 นาที วันละ 1 ครั้งก่อนนอน บรรเทอาการท้องผูก (8)

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.             Rao JVLN, Sastry PSR, Poa RVK, Vimaladevi M. Occurrence of kaempferol and aloe-emodin in the leaves of Cassia alata. Curr Sci 1975;44(20):736-7.

2.             Smith RM, Sadaquat A. Anthraquinones from the leaves of Cassia alata from Fiji. NZ J Sci 1979;22(2):123-3.

3.             Harrison J, Garro CV. Study on anthraquinone derivatives from Cassia alata L. (Leguminosae). Rev Peru Bioquim 1977;(1):31-2.

4.             Rai PP. Anthracene derivative in leaves and fruits of Cassia alata. Curr Sci 1978;47(8):271-2.

5.             Raewthianchai S, Wacharothyangkul W, Chumsri P. The experimental and comparative in anthraquinones quality of Cassia species. Special project for the degree of B. Sc. (Pharm), Faculty of Pharmacy, Bangkok: Mahidol University 1980.

6.             Plengvidhya P, Suvagondha C. A study of diagnostic contents of leaves of some members in genus Cassia. J Pharm Assoc Siam, Third series 1957;10(1):10-2.

7.             Mulchandani NB, Hassarajani SA. Isolation of 1, 3, 8- trihydroxy- 2- methylanthraquinone from Cassia alata (leaves). Ibid 1975;14:2728B.

8.             Thamlikitkul V, Dechatiwonges T, Chantrakul C, et al. Randomized controlled trial of Cassia Alata Linn. for constipation. J Med Assoc Thai 1990;73(4):217-21.

9.             Department of Medical Sciences. Thai Herbal Pharmacopoeia Vol. 1. Bangkok: Prachachon, 1995.

10.         Elujoka BA, Ajulo AA, Iweibo GO. Chemical and biological analysis of Nigerian Cassia species for laxative activity. J Pharm Biomed Anal 1989;7(12):1453-1457.

11.         Ogunti EO, Elujoba AA. Laxative activity of Cassia alata. (Leguminosae) oil leaf Thailand. Fitoterapia 1993;64(5):437-9.

12.    คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2549 ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2549 เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2547 (ฉบับที่ 4). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด, 2549.

13.         Campbell JM, Cooper RL. The presence of 3,4-benzopremin snuff associated with a high incidence of cancer. Chem Indus 1955:64-5.

14.         Akah PA. Abortifacient activity of some Nigerian medicinal plants. Phytother Res 1994;8(2):106-8.

15.         Imwidthaya S, Nilvises N, Ditprasop P. Treatment of Pityriasia versicolor and dermatophtosis with medicinal plants namely Cassia alata L., Rhinacanthus nasutus (L.) Kurz, Brucea amarissima Desv. Medicinal Plant and Primary Health Care Research Project.

16.    นลินี ฉันทรุจิกพงศ์ และคณะ. ศึกษาเปรียบเทียบชุมเห็ดเทศกับ 1% Clotrimazole cream ต่อโรคผิวหนังกลากเกลื้อน. รายงานการวิจัย โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ. อุบลราชธานี, 2534.

17.         Damodaran S, Venkataraman S. A study on the therapeutic efficacy of Cassia alata Linn. leaf extract against Pityriasia versicolor. J Ethnopharmacol 1994;42:19-23.

18.         Mulchandani NB, Hassarajani SA. Tabulated phytochemical reports December 1975. Phytochemistry 1975;14:2727-8.

19.         Fuzellier MC, Mortier F, Lectard P. Antifungal activity of Cassia alata L. Ann Pharm Fr 1982;40(4):357-63. 

20.    วันดี กฤษณพันธ์  แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ  มัลลิกา ไตรเดช  สุภาวี อาชวาคม. การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราของสารแอนทราควิโนนจากใบชุมเห็ดเทศ. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24, 19-21 ตุลาคม ณ. ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์  กรุงเทพฯ, 2541.

21.    จินตนา สุทธชนานนท์ และคณะ. ฤทธิ์ต้านเชื้อราของใบชุมเห็ดเทศ. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543.

22.    Kupitayanan P, Gristsanapan W, Wuthi-udomlert M. Antifungal activity of Cassia alata leaf extracts. Ann Res Abstr, (Jan1-Dec 31, 2001) Vol.29, Bangkok: Mahidol Univ ersity, 2002. 

23.         Ibrahim D, Osman H. Antimicrobial activity of Cassia alata from Malaysia. J Ethnopharmacol 1995;45:151-6.

24.    เกษร นันทจิต. ฤทธิ์ต้านจุลชีพของใบชุมเห็ดเทศ (Cassia alata Linn.). รายงานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2538. 

25.    เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร. ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของสารสกัดจากพืชสกุล Cassia sp. รายงานการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2543.

26.         Phongpaichit S, Pujenjob N, Rukachaisirikul V,  Ongsakul M. Antifungal activity from leaf extracts of Cassia alata L., Cassia fistula L., and Cassia tora L. Songklanakarin J Sci Technol 2004;26(5):741-8.

27.    โยธิน คำอุดม  รชตะ ปาระดี. โรคผิวหนังจากราและความไวของเชื้อสาเหตุต่อสารสกัดชุมเห็ดเทศ.  โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหิดล 2546. 

28.    โชติกา บุญ-หลง  กาญจนา พฤษพันธ์. การทดสอบฤทธิ์เบื้องต้นของสารสกัดจากสมุนไพรไทยต่อเชื้อราโรคผิวหนัง. การประชุมวิชาการ "วิทยาศาตร์การแพทย์ไทยกับกติกาใหม่ของโลก" กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 11, 9-11 พฤษภาคม, กรุงเทพ, 2543. 

29.    Avirutnant W, Wuthiudomlert M. The antifungal activity of Thai medicinal plants. J Pharm Sci Mahidol Univ 1983; 10(3):87-90.

30.         Palanichamy S, Nagarajan S. Antifungal activity of Cassia alata leaf extract. J Ethnopharmacol 1990;29:337-40.

31.    Dhawan BN, Patnaik GK, Tandon JS, et al. Screening of Indian plants for biological activity. VI. Indian J Exp Biol 1977;15:208-19.

32.         Somchit MN, Reezal I, Nur IE, Mutalib AR. In vitro antimicrobial activity of ethanol and water extracts of Cassia alata. J Ethnopharmacol 2003;84:1-4.

33.         Benjamin TV. Analysis of the volatile constituents of local plants used for skin disease. J Afr Med Pl 1980;(3):135-9.

34.         Rao KS. Antibacterial activity of some medicinal plants of Papua New Guinea. Int J Pharmacog 1996;34(3):223-5.

35.         Kanbutra P, Porntrakulpipat S, Borisutpeth P, et al. Anti-bacterial activity of Thai medicinal plants on Escherichia coli (F18+). The 2nd International Conference on Medicinal Mushroom and The International Conference on Biodiversity and Bioactive Compounds, 17-19 July, Pattaya: Thailand, 2003. 

36.         Mokkhasmit M, Swatdimongkol K, Satrawaha P. Study on toxicity of Thai medicinal plants. Bull Dept Med Sci 1971;12(2/4):36-65.

37.    นาถฤดี สิทธิสมวงศ์ ทรงพล ชีวะพัฒน์ เอมมนัส หวังหมัด สุธิดา ไชยราช พัชรินทร์ รักษามั่น จรินทร์ จันทรฉายะ. พิษของใบชุมเห็ดเทศวารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2534;33(4):145-54.

38.         Palanichamy S, Nagarajan S. Analgesic activity of Cassia alata leaf extract and kaempferol 3-O-sophoroside. J Ethnopharmacol 1990;29(1):73-8.

39.         Palanichamy S, Nagarajan S. Anti-inflammatory activity of Cassia alata leaf extract and kaempferol 3-O-sophoroside. Fitoterapia 1990;61(1):44-7.

40.         Yagi SM, EI Tigani S, Adam SEI. Toxicity of Senna obtusifolia fresh and fermented leaves (Kawal), Senna alata leaves and some products from Senna alata on rats. Phytother Res 1998;12(5):324-30.

41.         Sodipo OA, Effraim KD, Emmagun E. Effect of aqueous leaf extract of Cassia alata (Linn.) on some haematological induces in albino rats. Phytother Res 1998;12(6):431-3.

42.         Rao VSN, Menezes AMS, Gadelha MGT. Antifertility screening of some indigenous plants of Brazil. Fitoterapia 1988;59(1):17-20.

43.         Lagarto PA, Silva YR, Guerra SI, Iglesias BL. Comparative study of the assay of Artemia salina L. and the estimate of the medium lethal dose (LD50 value) in mice, to determine oral acute toxicity of plant extracts. Phytomedicine 2001;8(5):395-400.

44.         Yoosook C, Bunyapraphatsara N, Boonyakiat Y, Kantasuk C. Anti-Herpes simplex virus activities of crude water extracts of Thai medicinal plants. Phytomedicine 2000;6(6):411-9.

45.         Leamworapong C. Effect of a food preservative nitrite on mutagenicity of Thai medicinal plants using the Ames test. Annual Thesis Abstr, Faculty of Graduate Studies, Bangkok: Mahidol University, 1989.

46.    แก้ว กังสดาลอำไพ  วรรณี โรจนโพธิ์  ชนิพรรณ บุญยี่การประเมินฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสมุนไพรไทยในรูปของยาตำรับสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และสมุนไพรบางชนิด โดยวิธีเอมส์เทสต์. การประชุมวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 3, 3-4 ธันวาคม, กรุงเทพฯ 2533. หน้า 47-9.

47.         . โคธนบาล. แบบสัมภาษณ์ผู้ใช้โดยโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง.

48.         วีณา ศิลปอาชา. ตำรายากลางบ้าน. กรุงเทพฯ: โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง, 2529.

49.         บวร เอี่ยมสมบูรณ์. ดงไม้. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2518.

50.         เปี่ยม บุณยะโชติ. ตำราโบราณว่าด้วยโรคเด็กและสุภาพสตรี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เฟื่องอักษร, 2514. หน้า 39.

51.         พระเทพวิมลโมลี. ตำรายากลางบ้าน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มงกุฏราชวิทยาลัย, 2524. หน้า 140.

52.         กองวิจัยทางการแพทย์. สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาตร์การแพทย์. กระทรวงสาธารณสุข, 2526. หน้า 34.