1.  ชื่อสมุนไพร           เสลดพังพอนตัวผู้

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria lupulina Lindl.         

          ชื่อวงศ์           ACANTHACEAE

          ชื่อพ้อง           ไม่มี

          ชื่ออังกฤษ        Porcupine flower, Hophead Barleria, Philippine violet, 
                             Hophead

          ชื่อท้องถิ่น        เช็กเชเกี่ยม, พิมเสนต้น, เสลดพังพอนตัวผู้

 

2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 1.5 เมตร แตกกิ่งก้านมาก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปแถบแกมขอบขนาน กว้าง 0.9-1.4 เซนติเมตร ยาว 3-9.5 เซนติเมตร  ปลายใบมนเป็นติ่งหนามสั้น โคนใบรูปลิ่ม ผิวใบเกลี้ยง ก้านใบยาวได้ถึง 6 มิลลิเมตร ซอกใบมีหนามแหลม ดอกช่อเชิงลดออกที่ปลายกิ่งยาวได้ถึง 9 เซนติเมตร ใบประดับรูปไข่กว้าง กว้างได้ถึง 1.2 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 1.8 เซนติเมตร ปลายเป็นติ่งหนามสั้น มีขนครุยสั้นที่ด้านหลังของต่อมที่กาบหุ้มผล ใบประดับย่อยรูปใบหอก ปลายเป็นติ่งหนาม กลีบเลื้ยงเชื่อมติดกันปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่กว้าง ขนาดไม่เท่ากัน กว้าง 1-4 มิลลิเมตร ยาว 6-9 มิลลิเมตร ปลายเป็นรยางค์แข็งสั้น กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ปลายผายออกเป็น 2 ปาก สีเหลือง ผลแห้งแตกได้รูปกระสวย

 

3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          -ส่วนใบ           รักษาอาการอักเสบจากแมลงกัดต่อย

 

4. สารสำคัญที่ออกฤทธิ์

          สารพวก irridoid มีฤทธิ์ลดการอักเสบ (1,2)

 

5.  ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

          5.1   ฤทธิ์ลดการอักเสบ

       สารสกัดเมทานอลของส่วนเหนือดินของต้นเสลดพังพอนตัวผู้มีฤทธิ์ลดการอักเสบแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังในหนูแรท โดยไม่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร (3,4) และมีรายงานว่าสาร iridoids บางชนิดจากเสลดพังพอนตัวผู้มีฤทธิ์ลดการอักเสบ (1)

          5.2   ฤทธิ์ลดอาการปวด

                 สารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มจากส่วนเหนือดินของเสลดพังพอนตัวผู้ ช่วยลดอาการปวดในหนูเม้าส์ ที่ทำให้เกิดอาการปวดด้วย acetic acid หรือฟอร์มาลิน  แต่ใช้ไม่ได้ผลกับอาการปวดจากความร้อน (5)

          5.3   ฤทธิ์ลดน้ำตาล

                 สารสกัดด้วยเมทานอลจากส่วนเหนือดินของเสลดพังพอนตัวผู้ เมื่อให้กับหนูแรทที่ถูกทำให้เป็นเบาหวาน  พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลได้ปานกลาง (6)

 

6. อาการข้างเคียง

          ยังไม่มีรายงาน

 

7. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

          7.1   การทดสอบความเป็นพิษ

                 เมื่อให้หนูเม้าส์ได้รับสารสกัดด้วยเมทานอลจากส่วนเหนือดินของต้นเสลดพังพอนตัวผู้ โดยการป้อนหรือฉีดเข้าช่องท้อง พบความเป็นพิษปานกลาง (6)

 

8.  วิธีการใช้เสลดพังพอนตัวผู้รักษาอาการเนื่องจากแมลงกัดต่อย

          8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

       ใช้ใบขยี้แล้วทาแก้แมลงกัดต่อย (7)  

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                 ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.             Satayavivad J, Suksamrarn A, Tanasomwong W, Tonsuwannon W, Chantharaksri U. The antiinflammatory action of iridoids obtained from Barleria lupulina. การประชุม Princess Congress I, 10-13 December, Bangkok, 1987. p.26.

2.             Sunit S, Kanjana W,  Kanyawim K,  Apichart S. Iridoid glucosides from the flowers of Barleria lupulina. Planta Med 2003;69(9):877-9.

3.             Suba V, Murugesan T, Kumaravelrajan R, Mandal SC, Saha BP. Antiinflammatory, analgesic and antiperoxidative efficacy of Barleria lupulina Lindl. extract. Phytother Res 2005;19:695-9.

4.             Wanikiat P, Panthong A, Sujayanon P, Yoosook C, Rossi AG, Reutrakul V. The anti-inflammatory effects and the inhibition of neutrophil responsiveness by Barleria lupulina and Clinacanthus nutans extracts. J Ethnopharmacol 2008;116:234–44.

5.             Reanmongkol W, Subhadhirasakul S. Antinociceptive effects of Barleria lupulina extract in mice. Songklanakarin J Sci Technol 1997;19(2):189-95.

6.             Suba V, Murugesan T, Arunachalam G, Mandal SC, Saha BP. Anti-diabetic potential of Barleria lupulina extract in rats. Phytomedicine 2004;11:202-5.

7.             สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.  คู่มือสมุนไพรประจำตู้ยา.  กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล, 2531.