1.  ชื่อสมุนไพร           มะหาด

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus lacucha Roxb.  

          ชื่อวงศ์           MORACEAE

          ชื่อพ้อง           Artocarpus lakoocha Roxb.  

          ชื่ออังกฤษ        Monkeyjack  (1)

          ชื่อท้องถิ่น        กาแย, ตาแป, ตาแปง, มะหาดใบใหญ่, หาด

 

2.  ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ยืนต้น สูงประมาณ 30 เมตร ทรงพุ่มแผ่กว้าง มีใบเดี่ยวแตกออกเรียงสลับกัน รูปขอบขนานหรือรูปวงรี กว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซ็นติเมตร หลังใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ท้องใบสาก ดอกเป็นช่อออกที่ซอกใบ ช่อดอกค่อนข้างกลม ก้านดอกสั้น ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ผลเป็นผลรวม สีเหลือง ผิวขรุขระ มีขนนุ่ม

 

3.  ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

          - เปลือกต้น      ใช้ขับพยาธิ  (2, 3, 4) และรักษาโรคผิวหนัง  (1)

          - เนื้อไม้          ใช้ขับพยาธิ (1)

 

4.  สารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์

          สารออกฤทธิ์คือ oxyresveratrol  หรือ 2, 4, 3’, 5’ tetrahydroxystilbene (1, 5) Artocarpin (a-D-galactosyl-binding lectin from seed ), Isolectins agglutinin (ALA)

    

5.  ฤทธิ์ทางยา

          5.1   ฤทธิ์ฆ่าพยาธิ

                 ผงปวกหาดที่ใช้ในการรักษามี 4 รูปแบบ คือ เป็นยาชงละลายน้ำ ยาน้ำ ยาเม็ด และแคปซูล ซึ่งสามารถลดจำนวนไข่ของพยาธิทั้งในคนและสุน จากการศึกษาโดยแบ่งผู้ป่วยที่มีพยาธิตืดวัวให้รับประทานยาปวกหาดเปรียบเทียบกับยารักษาพยาธิที่ใช้ทั่วไป  พบว่ายาปวกหาดบริสุทธิ์ ขนาด 3 กรัม ครั้งเดียว มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคพยาธิตืดวัวได้ดีเท่ากับยาพราซิควอนเตล ขนาด 300 มิลลิกรัม ครั้งเดียว และดีกว่ายานิโคลซาไมด์  ขนาด 2 กรัม ครั้งเดียว  (6)  

                 สารสกัดด้วยน้ำจากมะหาดในขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว สามารถกำจัดพยาธิใบไม้ขนาดเล็กในลำไส้หนูแรท (Stellantchasmus falcatus) ได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากป้อนสารสกัด (7)

                 สารสกัดด้วยน้ำของมะหาดที่ความเข้มข้น 0.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถฆ่าพยาธิใบไม้ชนิด Haplorchis taichui ในหลอดทดลองได้หมดในเวลา 12 ชั่วโมง (8) และสารสกัดหยาบด้วยน้ำที่ความเข้มข้น 500 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการเคลื่อนไหวของพยาธิตัวกลมชนิด Seteria labiato papillosa ที่พบในลำไส้วัวควายในหลอดทดลองได้ภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากให้สารสกัด และทำให้พยาธิตัวแบนชนิด Fasciola gigantica, Paramphistomum cervi, Eurytrema pancreaticum และ Fishoederius cobboldi เคลื่อนไหวลดลงตามลำดับในเวลา 3-12 ชั่วโมง เมื่อนำพยาธิที่ทดสอบมาตรวจสอบสภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนพบว่า พยาธิตัวกลม  Haemonchus placei มีผนังลำตัวแตกเป็นร่องลึก ในขณะที่พยาธิตัวแบนมีผนังลำตัวบวมเป็นกระเปาะ แตก และเกิดการหลุดลอกออก อย่างไรก็ตามสารสกัดมะหาดไม่มีผลต่อพยาธิตัวแบนชนิด Gigantocotyle explanatum, Cotylophoron cotylophorum และ Paramphistomum cervi (9) นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดหยาบของมะหาดที่มี oxyresveratrol ร้อยละ 70 ยังสามารถยับยั้งการเคลื่อนไหวและฆ่าพยาธิตัวแบนชนิด Fasciola gigantica ทั้งตัวเต็มวัยและตัวอ่อนได้เช่นเดียวกัน (1)

          5.2   ฤทธิ์ต้านเมลานิน

                 จากการทดสอบประสิทธิภาพในการลดเมลานิน ของสารสกัดจากแก่นไม้มะหาด โดยให้อาสาสมัครสตรี 20 คน ใช้สารสกัดจากแก่นไม้มะหาดความเข้มข้นร้อยละ 0.25 (น้ำหนัก/ปริมาตร) ในตัวทำละลายโปรปิลีนไกลคอล  ทาต้นแขน 1 ข้างและข้างที่เหลือทาตัวทำละลายโปรปิลีนไกลคอลเป็นข้างควบคุม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ในขณะเดียวกันเปรียบเทียบกับอาสาสมัครอีก 2 กลุ่มที่ใช้สารสกัดชะเอมเทศ (licorice) ความแรงร้อยละ 0.25 และ kojic acid ความแรงร้อยละ 3 พบว่าสารสกัดมะหาดมีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำให้ผิวขาว ให้ผลเร็วภายหลังการใช้เพียง 4 สัปดาห์ ตามด้วย  Kojic acid (6 สัปดาห์) และสารสกัดชะเอมเทศ  (10 สัปดาห์) ตามลำดับ เมื่อครบ 12 สัปดาห์พบว่าสารสกัดแก่นไม้มะหาดทำให้ผิวขาวมากสุด และจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นหากนำมาเตรียมเป็นอีมัลชั่น อาสาสมัครที่ทาโลชั่นมะหาดความแรงร้อยละ 0.1โดยน้ำหนัก ที่ต้นแขนและแก้ม เป็นเวลา 2 และ 3 สัปดาห์จะมีผิวขาวขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดมะหาดและ oxyresveratrol ซึ่งเป็นสารหลักในสารสกัดดังกล่าวสามารถยับยั้งเอ็นไซม์ mushroom tyrosinase ในหลอดทดลองได้  โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งฤทธิ์เอ็นไซม์ได้ครึ่งหนึ่ง เท่ากับ 0.76 และ 0.83 กรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ (1)

          5.3   ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส

                 สารสำคัญของมะหาด คือ oxyresveratrol มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริมได้แก่ HSV-1 และ HSV-2 ที่ผิวหนังของหนูไมซ์ ที่ความเข้มข้น 30 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร นอกจากนี้หากใช้  oxyresveratrol ร่วมกับ acyclovir จะเสริมฤทธิ์กัน  ทำให้มีฤทธิ์ยับยั้ง HSV-1 ได้ดีขึ้น ถ้าให้หนูกิน oxyresveratrol 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมงต่อวัน จะช่วยชะลอการเกิดรอยโรคได้  หากทาครีมที่มี oxyresveratrol ร้อยละ 30 บริเวณที่ติดเชื้อวันละ 5 ครั้ง จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและป้องกันชีวิตหนูได้ (1)

                 จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า oxyresveratrol ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในสารสกัดมะหาดมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส HSV-1 และ HSV-2  และไวรัสเอสด์ (HIV-1/LAI) ได้ (1)

 

6.  อาการข้างเคียง

          ยังไม่มีรายงาน

 

7.  ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์

          7.1   การทดสอบความเป็นพิษ

                 การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันโดยให้หนูแรทและหนูเม้าส์กินผงปวกหาด และ สารสกัดด้วยอีเทอร์ของเนื้อไม้ต้นมะหาด ตามลำดับ พบว่ามีความเป็นพิษเล็กน้อย (10, 11) เมื่อป้อนสารสกัดด้วยอีเทอร์ของเนื้อไม้ต้นมะหาด ขนาด 40 และ 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสาร oxyresveratrol ขนาด 720 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ร่วมกับแมกเนเซียมซัลเฟต ให้กับหนูขาวและกระต่าย พบว่าไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ที่ทำให้เกิดพิษหลังป้อนได้ 3 และ 7 วัน  โดยที่ค่า blood urea nitrogen (BUN) ในเลือดเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดด้วยอีเทอร์ และสาร 2, 4, 3', 5' tetrahydroxystilbene แต่จะกลับคืนสู่สภาวะปกติภายใน 7 วัน (11)

 

8. วิธีการใช้

8.1   ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

                 เคี่ยวแก่นมะหาดกับน้ำจนเกิดฟอง ช้อนฟองขึ้นมาทิ้งให้แห้ง ทำให้เป็นผง รับประทานกับน้ำเย็นครั้งละ 1-2 ช้อนชา (3-5 กรัม) ก่อนอาหารเช้า หลังกินผงปวกหาดแล้ว 2 ชั่วโมง ให้กินดีเกลือตาม ในเด็กรับประทานผงปวกหาด ครึ่งหนึ่งของที่แนะนำ (12, 13)

8.2   ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

                            ไม่มี

 

เอกสารอ้างอิง

1.         Jagtap UB, Bapat VA. Artocarpus: a review of its traditional uses, phytochemistry and pharmacology. J Ethnopharmacology 2010;129:142–66.

2.             Manmontri M. Report on the anthelmintic activity of Puak-Haad against tape-worm. J Med Assoc Thai 1969;32(6):1-9.

3.             Yodhabandu C. A pharmacopoeial study on "Puag Haad” (2, 4, 3', 5' tetrahydroxystilbene).  Special project for the degree of B. Sc. (Pharm), Bangkok: Chulalongkorn University, 1960.

4.             Wisutsonthorn J, Sukprasert A, Aareekul S, et al. Formulation of some Thai folkloric anthelmintic preparations. Seminar on Medicnal plants Development, 17-19 July, Bangkok, Thailand, 1985.

5.             Sambhandharaksa C, Thantivatana P, Ratanachi T.  Pharmacognostical and phytochemical studies of Artocarpus lakoocha Roxb.   J Natl Res Counc 1965;3:68-78.

6.             Charoenlarp P, Radomyos P, Bunnag D. The optimum dose of Puag-Haad in the treatment of Taeniasia. J Med Assoc Thai 1989;72(2):71-3.

7.     ธนพล อยู่เย็น, ชโลบล วงศ์สวัสดิ์. ผลของมะหาดและรากขี้เหล็กต่อพยาธิใบไม้ขนาดเล็กในลำไส้หนูแรท.  J Thai Tradit Altern Med 2008;6(Suppl 2):111.

8.     ชโลบล วงศ์สวัสดิ์, พีระวุฒิ วงศ์สวัสดิ์. ผลของพืชสมุนไพรต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวพยาธิพยาธิใบไม้ด้วยเทคนิคจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Effect of anthelminthic plants on the tegumental surface changes of the trematode using scanning electron microscopy). The 31st Congress on Science and Technology of Thailand at Suranaree University of Technology, 18 – 20 October} Nakhon Ratchasima, 2005.

9.             Saowakon N, Chaichanasak P, Wanichanon C, Reutrakul V, Sobhon P. In vitro effect of an aqueous extract of Artocarpus lakoocha on the intestinal parasites in cattle. Planta Med 2010; 76:422.

10.         Nilvises N, Panyathanya R, Wamnutchinda W. Toxicity test of Puag Haad (Artocarpus lakoocha). Bull Dep Med Sci 1985;27(1):49.

11.         Ngamwat W, Permpipat U, Sithisomwong N, et al. Toxicity of Puak-Haad extracts: The extracts from Artocarpus lakoocha  Roxb. wood (Ma-haad). การประชุม PRINCESS CONGRESS I, 10-13 ธันวาคม ณ โรงแรม แชงเกอรีล่า กรุงเทพฯ, 1987. หน้า 80.

12.         กองวิจัยทางการแพทย์.   สมุนไพรพื้นบ้าน ตอนที่ 1.   กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.  กระทรวงสาธารณสุข, 2526.

13.         วีณา ศิลปอาชา. ตำรายากลางบ้านกรุงเทพฯ: โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง, 2529.