ข่อย |
ข่อย
1. ชื่อสมุนไพร ข่อย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Streblus asper Lour.
ชื่อวงศ์ MORACEAE
ชื่อพ้อง -
ชื่ออังกฤษ Siamese rough bush, Tooth brush tree
ชื่อท้องถิ่น กักไม้ฝอย ซะโยเส่ ตองขะแหน่ ส้มพอ สะนาย
2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้น ใบออกตรงข้าม มีขนาดเล็ก ขอบใบหยักแบบซี่ฟัน เกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ต่างดอกกัน ดอกเพศผู้รวมกันเป็นช่อดอกแบบหัวกลม มีก้านดอกสั้นสีเหลืองอมเขียวหรือเกือบขาว ส่วนดอกเพศเมีย ก้านดอกจะยาว มักจะออกเป็นคู่สีเขียว ผลมีกลีบเลี้ยงหุ้มเกือบรอบ ผลสุกมีสีเหลืองอ่อน เปลือกชั้นนอกนิ่มและฉ่ำน้ำ เมล็ดเกือบกลมมีลักษณะคล้ายเมล็ดพริกไทย
3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ
- เปลือกต้นสด รักษาอาการปวดฟัน (1)
4. สารสำคัญ
- สารกลุ่มคาดิแอค ไกลโคไซด์ (cardiac glycosides) (2,3)
- สารกลุ่ม ไตรเตอร์ปีนอยด์ (triterpenoids) (4)
- สารกลุ่มฟีนอลิก (phenolics) และฟลาโวนอยด์ (flavonoids) (5)
- น้ำมันหอมระเหย (volatile oil) (6)
- สารกลุ่มลิกแนน (lignans) (23)
5. การศึกษาทางคลินิกและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
การศึกษาทางคลินิก
ผลต่อสุขภาพช่องปาก
การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยโรคเหงือกอักเสบเรื้อรังจำนวน 42 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ใช้น้ำยาฉีดล้างร่องลึกปริทันต์ (subgingival irrigation) ที่มีส่วนผสมของสารสกัดของใบข่อย เสริมการขูดหินนํ้าลายและเกลารากฟัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใช้น้ำกลั่น ผลการทดสอบพบว่าน้ำยาที่มีส่วนผสมของสารสกัดของใบข่อยมีผลในการลดการอักเสบของเหงือก แต่ไม่มีผลต่อความลึกของร่องลึกปริทันต์ (probing depth) ระดับการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ (relative attachment level) และจำนวนเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในช่องปาก Aggregatibacter actinomycetemcomitans และ Porphyromonas gingivalis (7)
การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัคร 30 คน อายุระหว่าง 18-24 ปี แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดเอทานอลของใบข่อย เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ใช้น้ำกลั่น ผลการทดสอบพบว่าน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดของใบข่อยมีผลในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus mutans ที่พบได้ในช่องปาก ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดคราบหินปูนในช่องปาก (8)
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อยีสต์
การทดสอบในหลอดทดลอง (in vitro) พบว่าสารสกัดเอทานอลของใบข่อยมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อยีสต์ Candidal albican ในเซลล์เยื่อบุของช่องปาก (human buccal epithelial cells) ได้ (9) และยังพบว่าสารสกัดเอทานอลของใบข่อยมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อยีสต์ C. albican ที่ติดบนฟันปลอมชนิดอะคลิลิก (denture acrylic) ได้ (10)
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
สารสกัดเมทานอลและเอทานอลของใบข่อยมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย S. mutans ในหลอดทดลอง (11-12)
ฤทธิ์ต้านอักเสบ
ทดสอบฤทธิ์ต้านอักเสบโดยฉีดสารสกัดเอทานอลของใบข่อยขนาด 125, 250 และ 500 มก./กก.นน.ตัว เข้าทางช่องท้องของหนูแรทที่ถูกเหนี่วนำให้ฝ่าเท้าบวมด้วยสาร carrageenan ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดใบข่อยมีฤทธิ์ต้านอักเสบ ลดอาการบวมของฝ่าเท้าของหนูแรทได้ โดยขึ้นอยู่กับขนาดของสารสกัด รวมทั้งยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอักเสบ ได้แก่ cyclooxygenase (COX)-2 และ inducible nitric oxide synthase (iNOS) ในเซลล์แมคโครฟาจ RAW 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสาร lipopolysaccharides (LPS) แต่ไม่มีผลต่อการยับยั้งเอนไซม์ COX-1 (13)
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
ทดสอบแยกสารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอลของใบข่อยที่ผ่านการอบและผ่านการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (freeze-dried) พบสารประกอบ phenolics และ flavonoids และมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระจากการทดสอบด้วยวิธี DPPH radical scavenging activity (5)
ฤทธิ์ต้านมะเร็ง
ทดสอบแยกสารจากน้ำมันหอมระเหยของใบข่อยสด พบสาร phytol, α-farnesene, trans-farnesyl acetate, caryophyllene และ trans-trans-α-farnesene และมีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวกลุ่มลิมโฟซิติค (lymphocytic leukaemia) ของหนูเม้าส์ (6) สารกลุ่ม cardiac glycosides จากเปลือกต้นข่อย มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MDA-MB-231 และเซลล์มะเร็งรังไข่ชนิด OVCAR3 ในหลอดทดลอง (3) สารสกัดเมทานอลของเปลือกต้นข่อย มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Daltons ascitic lymphoma (14) และมะเร็งตับชนิด ehrlich ascites carcinoma ในหนูเม้าส์ (15)
ฤทธิ์ต้านไวรัสตับอักเสบ
สารสกัดเมทานอลของแก่นไม้ เปลือกต้น และรากของข่อย มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสตับอักเสบ Hepatitis B virus (HBV) ได้ผลดีในหลอดทดลอง (16-17) สารกลุ่มลิกแนน (lignans) ที่แยกได้จากแก่นไม้ของข่อยมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ (18)
ฤทธิ์ต่อระบบประสาท
ทดสอบแยกสารจากเปลือกต้นข่อยด้วยไมโครเวฟ (microwave-assisted extraction) และทดสอบฤทธิ์ต่อระบบประสาทในหนูเม้าส์ โดยให้สารสกัดหยาบ และสารสกัดที่แยกจากส่วน n-hexane, dichloromethane และ aqueous fractions ขนาด 100, 200, 400 มก./กก.นน.ตัว และสาร betulin ขนาด 25, 50 และ 100 มก./กก. ทางปาก ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดที่แยกได้จากส่วน n-hexane fractions ขนาด 400 มก./กก. และสาร betulin ขนาด 100 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านอาการชัก (anticonvulsant activity) สูงสุด และสารสกัดส่วน n-hexane และ dichloromethane fractions ขนาด 400 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้า (antidepressant) โดยพบว่าการเคลื่อนไหว (immobility) จากการทดสอบด้วยเทคนิค forced swim test (FST) ของหนูลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (4) สารสกัดน้ำของใบข่อยมีฤทธิ์ลดอาการของโรคพาร์กินสัน (Parkinsons Disease) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการของโรคพาร์กินสันด้วยสาร MPTP (1-methyl-4-phenyl-1,2,3,6-tetrahydropyridine) โดยมีผลทั้งต่อการเคลื่อนไหว (motor) และการเรียนรู้ (cognitive) ของหนูทดลอง (19)
ฤทธิ์ยับยั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
ทดสอบแยกสารสกัดปีโตรเลียมอีเทอร์ (petroleum ether) และสาร α-amyrin acetate ของเปลือกต้นข่อย และทดสอบฤทธิ์ยับยั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin โดยให้สารสกัดปีโตรเลียมอีเทอร์ขนาด 100, 250 และ 500 มก./กก.นน.ตัว และสาร α-amyrin acetate ขนาด 25, 50 และ 75 มก./กก.นน.ตัว ทางปาก เป็นเวลา 15 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมบวกที่ให้ยา glibenclamide ขนาด 0.5 มก./กก. ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดปีโตรเลียมอีเทอร์และ α-amyrin acetate มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดย α-amyrin acetate ขนาด 75 มก./กก. ลดได้สูงสุด (71.10%) (20)
6. อาการข้างเคียง
ยังไม่มีรายงาน
7. ความเป็นพิษทั่วไป
การศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดเมทานอลและปิโตรเลียมอีเทอร์ของใบข่อย โดยประเมินค่าความเข้มข้นที่ทำให้ไรทะเล หรือ อาร์ทีเมีย (brine shrimps model) ตายลงร้อยละ 50 (LC50) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลมีความเป็นพิษอย่างอ่อน (weakly toxic) ส่วนสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ไม่มีความเป็นพิษ (non toxic) และทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน (acute toxicity) โดยให้สารสกัดเมทานอลและปิโตรเลียมอีเทอร์ขนาด 2,000 มก./กก. ครั้งเดียว ทางปาก แล้วสังเกตุอาการณ์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 14 วัน และทดสอบความเป็นพิษแบบกึ่งเรื้อรัง (sub-chronic toxicity) โดยให้สารสกัดเมทานอลและปิโตรเลียมอีเทอร์ขนาด 400 มก./กก.นน.ตัว/วัน ทางปาก เป็นระยะเวลา 28 วัน ในหนูเม้าส์ ผลการศึกษาพบว่าทั้งสารสกัดเมทานอลและปิโตรเลียมอีเทอร์ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษใดๆ (21)
ทดสอบความเป็นพิษต่อตัวอ่อนของสารสกัดเมทานอลของเปลือกต้นข่อย พบว่าก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตัวอ่อนปลาม้าลาย (zebrafish embryos) โดยมีผลในการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate) และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดอาการบวมน้ำ (oedema) เล็กน้อย ซึ่งนักวิจัยระบุว่าอาจเป็นผลของสารกลุ่ม cardiac glycosides ซึ่งเป็นสารที่มีรายงานการออกฤทธิ์ต่อหัวใจ (22)
8. วิธีการใช้
8.1 การเตรียมยาสมุนไพรแบบง่ายและวิธีใช้ตามตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข(สาธารณสุขมูลฐาน)
เปลือกข่อยรักษาอาการปวดฟัน โดยใช้เปลือกต้นสด ขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือสับเป็นชิ้น ต้มกับน้ำพอสมควรและใส่เกลือให้มีรสเค็ม ต้มนาน 10-15 นาที เอาน้ำขณะที่ยังอุ่น อมบ่อยๆ (1)
8.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ไม่มีข้อมูล
เอกสารอ้างอิง
1. ปัจจุบัน เหมหงษา, พรรณี ลิ้มสวัสดิ์, รุจินาถ อรรถสิษฐ, อรุณลักษณ์ รัตนสาลี, บรรณาธิการ. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน; 2542.
2. Rastogi S, Kulshreshtha DK, Rawat AK. Streblus asper Lour. (Shakhotaka): a review of its chemical, pharmacological and ethnomedicinal properties. Evid Based Complement Alternat Med 2006;3(2):217-22.
3. Ren Y, Chen WL, Lantvit DD, Sass EJ, Shriwas P, Ninh TN, et al. Cardiac glycoside constituents of Streblus asper with potential antineoplastic activity. J Nat Prod 2017;80(3):648-58.
4. Verma V, Tripathi AC, Saraf SK. Bioactive non-sterol triterpenoid from Streblus asper: microwave-assisted extraction, HPTLC profiling, computational studies and neuro-pharmacological evaluation in BALB/c mice. Pharm Biol 2016;54(11):2454-64.
5. Ibrahim NM, Mat I, Lim V, Ahmad R. Antioxidant activity and phenolic content of Streblus asper leaves from various drying methods. Antioxidants (Basel) 2013;2(3):156-66.
6. Phutdhawong W, Donchai A, Korth J, Pyne SG, Picha P, Ngamkham J, et al. The components and anticancer activity of the volatile oil from Streblus asper. Flavour Fragr J 2004;19:445-7.
7. Taweechaisupapong S, Intaranongpai K, Suwannarong W, Pitiphat W, Chatrchaiwiwatana S, Wara-aswapati N. Clinical and microbiological effects of subgingival irrigation with Streblus asper leaf extract in chronic periodontitis. J Clin Dent 2006;17(3):67-71.
8. Taweechaisupapong S, Wongkham S, Chareonsuk S, Suparee S, Srilalai P, Chaiyarak S. Selective activity of Streblus asper on Mutans streptococci. J Ethnopharmacol 2000;70(1):73-9.
9. Taweechaisupapong S, Choopan T, Singhara S, Chatrchaiwiwatana S, Wongkham S. In vitro inhibitory effect of Streblus asper leaf-extract on adhesion of Candida albicans to human buccal epithelial cells. J Ethnopharmacol 2005;96(1-2):221-6.
10. Taweechaisupapong S, Klanrit P, Singhara S, Pitiphat W, Wongkham S. Inhibitory effect of Streblus asper leaf-extract on adhesion of Candida albicans to denture acrylic. J Ethnopharmacol 2006;106(3):414-7.
11. Limsong J, Benjavongkulchai E, Kuvatanasuchati J. Inhibitory effect of some herbal extracts on adherence of Streptococcus mutans. J Ethnopharmacol 2004;92(2-3):281-9.
12. Wongkham S, Laupattarakasaem P, Pienthaweechai K, Areejitranusorn P, Wongkham C, Techanitiswad T. Antimicrobial activity of Streblus asper leaf extract. Phytother Res 2001;15(2):119-21.
13. Sripanidkulchaia B, Junlatata J, Wara-aswapatia N, Hormdee D. Anti-inflammatory effect of Streblus asper leaf extract in rats and its modulation on inflammation-associated genes expression in RAW264.7 macrophage cells. J Ethnopharmacol 2009;124:56670.
14. Kumar RB, Kar B, Dolai N, Karmakar I, Bhattacharya S, Haldar PK. Antitumor activity and antioxidant status of Streblus asper bark against Dalton's ascitic lymphoma in mice. Interdiscip Toxicol 2015;8(3):125-30.
15. Kumar RB, Kar B, Dolai N, Karmakar I, Haldar S, Bhattacharya S, et al. Antitumor activity and antioxidant role of Streblus asper bark against Ehrlich ascites carcinoma in Swiss albino mice. J Exp Ther Oncol 2013;10(3):197-202.
16. Chen H, Li J, Wu Q, Niu XT, Tang MT, Guan XL, et al. Anti-HBV activities of Streblus asper and constituents of its roots. Fitoterapia 2012;83(4):643-9.
17. Li J, Huang Y, Guan XL, Li J, Deng SP, Wu Q, et al. Anti-hepatitis B virus constituents from the stem bark of Streblus asper. Phytochemistry 2012;82:100-9.
18. Li LQ, Li J, Huang Y, Wu Q, Deng SP, Su XJ, et al. Lignans from the heartwood of Streblus asper and their inhibiting activities to Hepatitis B virus. Fitoterapia 2012;83(2):303-9.
19. Singsai K, Akaravichien T, Kukongviriyapan V, Sattayasai J. Protective effects of Streblus asper leaf extract on H2O2-induced ROS in SK-N-SH cells and MPTP-Induced Parkinson's disease-like symptoms in C57BL/6 mouse. Evid Based Complement Alternat Med 2015;2015:970354.
20. Karan SK, Mondal A, Mishra SK, Pal D, Rout KK. Antidiabetic effect of Streblus asper in streptozotocin-induced diabetic rats. Pharm Biol 2013;51(3):369-75.
21. Suresh K RB, Puratchikodi A, Prasanna A, Dolai A, Majumder P, Mazumder UK, et al. Pre clinical studies of Streblus asper Lour in terms of behavioural safety and toxicity. Orient Pharm Exp Med 2011;11:243-9.
22. Kumar RBS, Kar B, Dolai N, Haldar PK. Study on developmental toxicity and behavioral safety of Streblus asper Lour. bark on Zebrafish embryos. Indian J Nat Prod Resour 2013;4(3):255-9.