มะแว้งต้น |
มะแว้งต้น
1. ชื่อสมุนไพร มะแว้งต้น
1.1 ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum sanitwongsei Craib C
ชื่อวงศ์ SOLANACEAE
ชื่อพ้อง -
ชื่ออังกฤษ -
ชื่อท้องถิ่น มะแว้งต้น
1.2 ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum indicum L.
ชื่อวงศ์ SOLANACEAE
ชื่อพ้อง -
ชื่ออังกฤษ -
ชื่อท้องถิ่น มะแว้งขม
1.3 ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum violaceum Ortega
ชื่อวงศ์ SOLANACEAE
ชื่อพ้อง -
ชื่ออังกฤษ -
ชื่อท้องถิ่น มะแว้งต้น, มะแว้งขม
2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
Solanum indicum L., S. sanitwongsei Craib C และ S. violaceum Ortega
เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของมะแว้งขม มะแว้งต้น และมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่คล้ายกัน แต่แตกต่างกันที่ลักษณะของสีของผล ลวดลายของผล และลักษณะการมีและไม่มีหนามตามส่วนต่างๆของต้นเท่านั้น โดย S. sanitwongsei ไม่มีหนาม ผลพบลักษณะทั้งมีลวดลายตาข่ายและไม่มีลวดลายตาข่าย แต่ S. violaceum และ S. indicum จะมีหนามในทุกส่วนของพืช และผลจะมีลวดลายปรากฏอยู่
2.1 S. sanitwongsei Craib C
ไม้เถาล้มลุก ไม่มีหนามทุกส่วนของต้น ลำต้นส่วนโคนแข็ง ส่วนปลายอ่อน แผ่นใบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ขอบใบหยักเป็นพูแบบขนนก ดอกเป็นแบบช่อกระจะหรือกึ่งช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายยอดและซอกใบ กลีบดอกสีม่วง ผลแบบผลมีเนื้อหลายเมล็ด เมื่อแก่สีเหลือง สุกสีส้ม ผิวเรียบเป็นมัน รูปกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. ก้านผลยาว 2.2 ซม. เมล็ดแบบ สีซีด เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 มม.
2.2 S. indicum L.
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ต้นตั้งตรง ตามกิ่งก้าน เส้นใบ มีหนามแข็งโค้งงอคล้ายเล็บเหยี่ยว ใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ ขอบใบหยักเว้าเป็นคลื่น หรือหยักแบบขนนก ช่อดอกแบบช่อกระจะ เกิดบริเวณเหนือซอกใบ ดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่บริเวณส่วนโคนของช่อดอก ก้านช่อดอกยาว 3-5 มม. ก้านดอกยาว 1.4-2 ซม. แข็ง ปกคลุมด้วยขนและหนาม กลีบดอกสีม่วงเชื่อมติดกันเป็นรูปกงล้อ ผลแบบผลมีเนื้อหลายเมล็ด กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 มม. ผิวเรียบสีเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มเมื่อสุก เมล็ดแบนรูปร่างไม่ค่อยแน่นอน อาจเป็นรูปไตแกมรูปไข่
2.3 S. violaceum Ortega
ไม้พุ่มสูงประมาณ 40-50 ซม. ลำต้นและกิ่งก้านพบขนรูปดาวประปราย และมีหนามตะขอ แข็งลักษณะของหนามสั้นโค้ง โคนหนา ปลายเรียวแหลม ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ ส่วนใหญ่มีลักษณะไม่สมมาตร ปลายใบแหลมโคนใบเฉียงหรือตัด ขอบใบหยักข้างละ 2-3 หยัก แต่ละหยักลึก 2-3 ซม. ดอกช่อแบบช่อกระจะ มีก้านเรียงสลับบนแกนกลางลดหลั่น ตามลำดับ ช่อดอกยาว 3-5 ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3 ซม. ดอกสีม่วง ผลกลม ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีส้ม เส้นผ่านศูนย์กลางผล 6-8 มม. ก้านผลยาว 0.5-1 ซม. เมล็ดรูปกลม ขนาดประมาณ 2 มม. (1-2)
3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ
- ผล แก้ไอ ขับเสมหะ (3)
4. สารสำคัญ
สารกลุ่มอัลคาลอยด์ (alkaloids), ไกลโคไซด์ (glycosides), สเตอรอล (sterols), ไตรเตอปีนอยด์(triterpenoids), ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) และแทนนิน (tannins) (4-8)
5. การศึกษาทางคลินิกและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
การศึกษาทางคลินิก
บรรเทาอาการไอ
การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยอายุระหว่าง 18-60 ปี ที่มีอาการไอแบบเฉียบพลัน เป็นระยะเวลาน้อยกว่า 7 วัน แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะ (antibiotic) และตำรับยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของมะแว้งต้น (S. indicum L.) เป็นส่วนผสม เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยา antibiotic และยาหลอก ผลการทดสอบพบว่าตำรับยาสมุนไพรมีผลในการบรรเทาอาการไอได้ (9)
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ยับยั้งความดันโลหิตสูง
ทดสอบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง โดยให้สารสกัดเอทานอลจากผลมะแว้งต้น (S. sanitwongsei Craib C) ขนาด 100 และ 150 มก./กก.นน.ตัว ทางปาก เป็นเวลา 7 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมบวกที่ให้ยารักษาความดันโลหิตสูง bisoprolol พบว่าสารสกัดมะแว้งต้นมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูงได้ (4) และให้สารสกัดเอทานอลจากผลมะแว้งต้น (S. indicum L.) ขนาด 100 และ 300 มก./กก. ทางปาก เป็นเวลา 7 วัน พบว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูงในหนูแรทได้เช่นเดียวกัน (10)
ฤทธิ์ต้านอักเสบ
สาร steroidal glycosides จากมะแว้งต้น (S. violaceum Ortega) มีฤทธิ์ต้านอักเสบในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลล์ โดยยับยั้งการสร้าง superoxide anion และการหลั่งเอ็นไซม์ elastase ซึ่งเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเกิดการอักเสบ (11)
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
ผลมะแว้งต้น (S. indicum L.) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากการทดสอบด้วยวิธี FRAP test และ Folin-Ciocalteau assay (12)
ฤทธิ์ลดปวด ลดไข้ ต้านการอักเสบ และกดระบบประสาทส่วนกลาง
การทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเมทานอลจากผลมะแว้งต้น (S. indicum L.) ในหนูแรท ทดสอบฤทธิ์ลดปวด โดยให้สารสกัดมะแว้งต้นขนาด 250 และ 500 มก./กก. เปรียบเทียบกับยา aspirin ขนาด 100 มก./กก. ทดสอบฤทธิ์ลดไข้ โดยให้สารสกัดมะแว้งต้นขนาด 250 และ 500 มก./กก. เปรียบเทียบกับยา paracetamol 150 มก./กก. ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยให้สารสกัดมะแว้งต้นขนาด 250 และ 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยา diclofenac sodium ขนาด 1 มก./กก. ทดสอบฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง โดยให้สารสกัดมะแว้งต้นขนาด 250 และ 500 มก./กก. เปรียบเทียบกับยา diazepam ขนาด 0.5 มก./กก. ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดมะแว้งต้นมีฤทธิ์ในการลดปวด ลดไข้ ต้านการอักเสบ และกดระบบประสาทส่วนกลาง (5)
6. อาการข้างเคียง
ยังไม่มีรายงาน
7. ความเป็นพิษทั่วไป
7.1 การทดสอบความเป็นพิษ
ทดสอบความเป็นพิษของสารสกัด 50% เอทานอลจากลำต้นของมะแว้งต้น (S. sanitwongsei Craib C) ขนาด 10 ก./กก. โดยวิธีกรอกเข้าทางปากหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูถีบจักร ไม่พบความเป็นพิษ (13) ทดสอบโดยให้สารสกัดผลมะแว้งต้น (S. indicum) ขนาด 1 ก./กก./วัน ทางปาก เป็นเวลา 6 เดือน ผลการทดสอบพบว่า ช่วง 4 เดือนแรกของการทดสอบไม่พบความผิดปกติใดๆ แต่เมื่อทดสอบเป็นเวลา 6 เดือน พบว่ามีระดับคอเลสเตอรอลและ blood urea nitrogen (BUN) ลดลง และน้ำหนักของตับเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (14)
8. วิธีการใช้
8.1 การเตรียมยาสมุนไพรแบบง่ายและวิธีใช้ตามตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)
ใช้รักษาอาการไอและขับเสมหะ นำผลแก่สด 5-10 ผล โขลกพอแหลก คั้นเอาแต่น้ำ ใส่เกลือ จิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ กินบ่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น (3)
8.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ยาประสะมะแว้ง ยาเม็ด ยาผง (รพ.) ยาลูกกลอน (รพ.)
สูตรตำรับ ในผงยา 96 ก. ประกอบด้วย
1. ผลมะแว้งต้น ผลมะแว้งเครือ หนักสิ่งละ 24 ก.
2. ใบสวาด ใบตานหม่อน ใบกะเพรา หนักสิ่งละ 12 ก.
3. เหง้าขมิ้นอ้อย หนัก 9 กรัม สารส้มสะตุ หนัก 3 ก.
ข้อบ่งใช้
บรรเทาอาการไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ช่วยขับเสมหะ
ขนาดและวิธีใช้
ชนิดผง
ละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือรับประทาน
ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-1.4 ก. เมื่อมีอาการ
เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 200-400 มก. เมื่อมีอาการ
ชนิดเม็ดและชนิดลูกกลอน
ละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือรับประทานหรือใช้อม
ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-1.4 ก. เมื่อมีอาการ
เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 200-400 มก. เมื่อมีอาการ
ข้อควรระวัง
- ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 15 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
- ไม่ควรใช้น้ำมะนาวแทรกเกลือ กับผู้ป่วยที่ต้องจำกัดการใช้เกลือ (15)
เอกสารอ้างอิง
1. วริญธร ธงศรี. การศึกษาเปรียบเทียบของมะแว้งต้น (Solanum sanitwongsei Craib) และมะแว้งขม (S. violaceum Ortega) ในประเทศไทย [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต]. นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร; 2556.
2. นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 3. กรุงเทพฯ: สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2542.
3. ปัจจุบัน เหมหงษา, พรรณี ลิ้มสวัสดิ์, รุจินาถ อรรถสิษฐ, อรุณลักษณ์ รัตนสาลี, บรรณาธิการ. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน; 2542.
4. Aminunsyah D, Dalimunthe A, Harahap U. Antihypertensive effect of ethanol extract of Solanum sanitwongsei craib. fruit in hypertensive wistar rats. Int J Chemtech Res 2014;6(11):4832-5.
5. Deb P Kr, Ghosh R, Chakraverty R, Debnath R, Das L, Bhakta T. Phytochemical and pharmacological evaluation of fruits of Solanum indicum Linn. Int J Pharm Sci Rev Res 2014;25(2):28-32.
6. El-Aasr M, Miyashita H, Ikeda T, Lee JH, Yoshimitsu H, Nohara T, et al. A new spirostanol glycoside from fruits of Solanum indicum L. Chem Pharm Bull (Tokyo) 2009;57(7):747-8.
7. Raju GS, Moghal MR, Dewan SM, Amin MN, Billah M. Characterization of phytoconstituents and evaluation of total phenolic content, anthelmintic, and antimicrobial activities of Solanum violaceum Ortega. Avicenna J Phytomed 2013;3(4):313-20.
8. Chang FR, Yen CT, El-Shazly M, Yu CY, Yen MH, Cheng YB, et al. Spirostanoids with 1,4-dien-3-one or 3β,7α-diol-5,6-ene moieties from Solanum violaceum. Bioorg Med Chem Lett 2013;23(9):2738-42.
9. Jayaram S, Walwalker P, Rajadhyaksha SS. Double blind trial of a herbal cough syrup in patients with acute cough. Indian Drug 1994;31(6):1-3.
10. Bahgat A, Abdel-Aziz H, Raafat M, Mahdy A, El-Khatib AS, Ismail A, et al. Solanum indicum ssp. distichum extract is effective against L-NAME-induced hypertension in rats. Fundam Clin Pharmacol 2008;22(6):693-9.
11. Yen CT, Lee CL, Chang FR, Hwang TL, Yen HF, Chen CJ, et al. Indiosides G-K: steroidal glycosides with cytotoxic and anti-inflammatory activities from Solanum violaceum. J Nat Prod 2012;75(4):636-43.
12. N'dri D, Calani L, Mazzeo T, Scazzina F, Rinaldi M, Rio DD, et al. Effects of different maturity stages on antioxidant content of Ivorian Gnagnan (Solanum indicum L.) berries. Molecules 2010;15(10):7125-38.
13. Mokkhasmit M, Swatdimongkol K, Satrawaha P. Study on toxicity of Thai medicinal plants. Bull Dept Med Sci 1971;12(2/4):36-65.
14. Abdel-Aziz H1, Fawzy N, Ismail AI, El-Askary H. Toxicological studies on a standardized extract of Solanum indicum ssp. Distichum. Food Chem Toxicol 2011;49(4):903-9.
15. บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2559 [อินเทอร์เน็ต]. [สืบค้นเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2560]; จาก:
http://www.lpnh.go.th/newlp/wpcontent/uploads/2013/10/
nlem2016_announcement_ratchakitcha120459_20160412.pdf