มะคำดีควาย |
1. ชื่อสมุนไพร มะคำดีควาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sapindus rarak DC.
ชื่อวงศ์ SAPINDACEAE
ชื่อพ้อง Dittelasma rarak (DC.) Hiern
ชื่ออังกฤษ Soap nut tree
ชื่อท้องถิ่น ประคำดีควาย (ภาคกลาง, ภาคใต้) ชะแซ ซะเหล่เด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มะซัก ส้มป่อยเทศ หมากซัก (ภาคเหนือ)
2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นสูง 5 - 10 ม. เปลือกต้นสีน้ำตาลแกมเทา ใบประกอบแบบขนนกยาวได้ถึง 30 ซม. เรียงสลับ ใบย่อย 5 - 9 คู่ รูปใบหอก กว้าง 2 - 3 ซม. ยาว 6 - 10 ซม. เนื้อใบหนา เกลี้ยง โคนใบสอบและเบี้ยว ปลายใบสอบเรียวแหลม ดอกช่อแยกแขนงออกที่ปลายกิ่งกลีบดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน ผลสดรูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. เมล็ดรูปทรงกลม สีดำ แข็งมาก (1)
3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ
ผลแก่ ดับพิษทั้งปวง ดับพิษร้อนภายใน แก้พิษตานซาง แก้ไข้ แก้กาฬ แก้ไข้เซื่องซึม แก้หอบหืด แก้ไข้หวัดในเด็ก แก้ร้อนใน แก้ฝี แก้เลือดและเสลด แก้บวม แก้โรคผิวหนัง แก้รังแค แก้สิว ส่วนผลทำยาสระผม แก้เหา โดยต้มเอาน้ำชโลมผมหรือแผล แก้ชันนะตุ (โรคผิวหนังพุพองบนศรีษะเด็ก) แก้เชื้อรา แก้รังแค แต่ไม่ควรทิ้งไว้นานเกินไป ระวังอย่าให้เข้าตา จะทำให้แสบตา ตาอักเสบได้ ผลใช้ซักผ้าแทนสบู่ ผลต้มเอาฟองสุมหัวเด็กแก้หวัด คัดจมูก แช่น้ำล้างหน้า รักษาผิว ผลรสขม ดับพิษต่างๆ บำรุงน้ำดี แก้กาฬภายใน สุมเป็นถ่าน ทำยากินแก้ร้อนในกระหายน้ำ ปรุงยาแก้พิษร้อน พิษไข้ แก้ไข้เซื่องซึม พิษตานซาง ใช้ร่วมกับเมล็ดมะกอกสุมไฟ กินแก้หอบเนื่องจากปอดชื้นปอดบวม แก้ไข้ แก้เสลด สุมฝีอันเปื่อยพัง แก้จุดกาฬ น้ำต้มจากเนื้อผลเป็นยาฆ่าแมลง เบื่อปลาและไล่ปลิง น้ำชงจากผลเป็นยาแก้ตุ่มสิว ตุ่มหนอง น้ำชงจากเนื้อผลเป็นยาแก้โรคหิด (1 - 3)
4. สารสำคัญที่ออกฤทธิ์
สารในกลุ่มซาโปนิน (saponins) เช่น rarasaponins I-III, raraoside A, a-hederin, sapindoside B, hederagenin (1, 4 - 8)
5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
5.1 ฤทธิ์ต้านเชื้อรา
สารสกัดน้ำจากส่วนผลซึ่งทำเป็นผงแห้ง มีฤทธิ์ต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนัง (dermatophytes), Cryptococcus neoformans และ Candida albicans (9 - 11) สาร a-hederin และสาร sapindoside B มีฤทธิ์ต้านเชื้อราและยีสต์ โดยสาร sapindoside B มีฤทธิ์ต้าน Candida albicans ATCC 10230, C. krucei, Trichophyton mentagophyte, T. rubrum และ Acremonium spp. ในขณะที่สาร a-hederin มีฤทธิ์ต้าน Trichophyton mentagophyte, T. rubrum และ Acremonium spp. (4)
การศึกษาทางคลินิกฤทธิ์ต้านเชื้อรา
สารสกัดน้ำจากส่วนเปลือกผลซึ่งทำให้แห้งด้วยความเย็น (Freeze dry) เมื่อนำไปผสมในแชมพูในขนาด 5 มก./มล. แล้วให้อาสาสมัครจำนวน 30 คนทดลองสระ พบว่าทำให้เส้นผมสะอาดและอาการคันศีรษะลดลง (12)
5.2 ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
สารสกัดน้ำของเนื้อผลของมะคำดีควายซึ่งอุดมไปด้วยสารซาโปนินมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เมื่อทำการทดสอบกับหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมบริเวณใบหูด้วยน้ำมันสลอด (croton oil) โดยทาสารสกัดดังกล่าวขนาด 1.25 และ 2.5 มก./หู แล้วสังเกตผลเป็นเวลา 4 ชม. (6)
ยังไม่มีรายงาน
7. ความเป็นพิษ
สารที่ทำให้เกิดพิษคือสารกลุ่ม saponins หากเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบ หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หากเข้าทางจมูก จะทำให้เกิดอาการระคายเคือง จาม ถ้าฉีดเข้ากระแสโลหิตทำให้เม็ดเลือดแดงแตก (12) สารสกัด 90%เอทานอล:น้ำ (1:1) จากผลของมะคำดีควาย มีฤทธิ์ทำลายเม็ดเลือด ทำให้เม็ดเลือดแตกโดยพบค่าดัชนีการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง (hemolytic index; HI) เท่ากับ 3000 (13) สารสกัดน้ำจากผลของมะคำดีควาย (2%w/v) มีความเป็นพิษต่อปลา เมื่อทำการทดสอบกับปลานิล (Oreochromis niloticus Linn) โดยขนาดน้อยสุดที่ทำให้ปลาตาย 100% คือ 100 ppm (14) และพบว่าสารที่ทำให้เกิดพิษคือสารสารกลุ่ม saponin (12)
8. วิธีการใช้
8.1 วิธีใช้มะคำดีควายเพื่อรักษาชันตุ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) (15)
- นำส่วนผลของมะคำดีควายประมาณ 5 ผลมาทุบพอแตก ต้มกับน้ำประมาณ 1 ถ้วย ทาที่หนังศีรษะบริเวณที่เป็น วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น จนกว่าจะหาย (ระวังอย่าให้เข้าตา จะทำให้แสบตา)
- ใช้ส่วนผล 1 ผล ผ่าเมล็ดออก แกะเอาแต่เนื้อมาตีกับน้ำจนเกิดฟอง แล้วนำมาสระผมเด็ก วันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะหาย
8.2 วิธีใช้วิธีใช้มะคำดีควายเพื่อรักษาผิวหนังพุพอง น้ำเหลืองเสีย (3)
- ใช้ส่วนผล 10 - 15 ผล ต้มกับน้ำพอประมาณ นำเฉพาะน้ำมาชะล้าง หรือแช่บริเวณที่เป็นแผลนาน 5 นาที ทั้งเวลาเช้าและเย็น
8.3 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
- ไม่มีระบุเป็นยาเดียว
เอกสารอ้างอิง
1. นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพร:ไม้พื้นบ้าน (3). กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชนจำกัด; 2542.
2. สุธรรม อารีกุล, จำรัส อินทร, สุวรรณ ทาเขียว, และอ่องเต็ง นันทแก้ว. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของประเทศไทย เล่ม 3. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน); 2551.
3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. มะคำดีควาย [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 29 มิ.ย. 60]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=103
4. Chunet C. Chemistry and some biological activities of fruits of Sapindus rarak A.DC. วิทยานิพนธ์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2003.
5. Morikawa T, Xie Y, Ninomiya K, Okamoto M, Muraoka O, Yuan D, et al. Inhibitory effects of acylated acyclic sesquiterpene oligoglycosides from the pericarps of Sapindus rarak on tumor necrosis factor-alpha-induced cytotoxicity. Chem Pharm Bull 2010; 58(9): 1276-80.
6. Khayungarnnawee A, Jarikasem S, Sematong T,Laovithayanggoon S, Khapang J. Topical anti-inflammatory activity of saponin rich extract from Sapindus rarak. Thai J Pharm Sci 2012; 36(SUPPL.): 41-3.
7. Asao Y, Morikawa T, Xie Y, Okamoto M, Hamao M, Matsuda H, et al. Structures of acetylated oleanane-type triterpene saponins, rarasaponins IV, V, and VI, and anti-hyperlipidemic constituents from the pericarps of Sapindus rarak. Chem Pharm Bull 2009; 57(2):198-203.
8. Morikawa T, Xie Y, Asao Y, Okamoto M, Yamashita C, Muraoka O, et al. Oleanane-type triterpene oligoglycosides with pancreatic lipase inhibitory activity from the pericarps of Sapindus rarak. Phytochemistry 2009; 70(9): 1166-72.
9. Wuthi-Udomlert M, Luanratana O, Imwidhthaya P,Komudom Y. Antifungal activity of Sapindus rarak. Ann Res Abst, Mahidol Univ 2000; 27: 358-9.
10. Wuthi-Udomlert M, Prathanturarug S. Antimicrobial study on Thai medicinal plants against human dermatopathogens. Ann Res Abst, Mahidol Univ (Jan 1-Dec 31, 2001) 2002; 29: 185.
11. แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ, อ้อมบุญ ล้วนรัตน์. การศึกษาสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ต้านราโรคผิวหนังและราฉวยโอกาส. ทำเนียบผลการวิจัย 2003; 11(11): 62-3.
12. อุมาภัณฑ์ เอี่ยมศิลป์, อุษณีย์ อนุวรรตวรกุล, อ้อมบุญ ล้วนรัตน์. การสกัดมะคำดีควายเพื่อใช้ในแชมพูสระผม. โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล 1996.
13. วไลพร พรวิรุฬห์ วีณา ถือวิเศษสิน วีณา จิรัจฉริยากุล และรุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. ดัชนีการทำลายเซลเม็ดเลือดแดงในมาตรฐานสมุนไพรไทย. Special Project, Faculty of Pharmacy, Mahidol University 1989.
14. Chiayvareesajja S, Mahabusarakam W, Maxwell JF, Wiriyachitra P, Towers GHN. Thai piscicidal plants, I. J Sci Soc Thailand 1987; 13: 29-45.
15. สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2541.