อ้อยแดง




อ้อยแดง

 

1.   ชื่อสมุนไพร                    อ้อย

           ชื่อวิทยาศาสตร์         Saccharum officinarum L.

           ชื่อวงศ์                     GRAMINEAE (POACEAE)

           ชื่อพ้อง                    Saccharum chinense  Roxb., Saccharum officinale Salisb.

                                      Saccharum atrorubens  Cuzent & Pancher ex Drake,

                                      Saccharum glabrum  Cuzent & Pancher,

                                      Saccharum infirmum  Steud., Saccharum luzonicum  Hack.

                                      Saccharum obscurum  Cuzent & Pancher ex Drake,

                                      Saccharum rubicundum  Cuzent & Pancher ex Drake        

            ชื่ออังกฤษ                Sugar cane, sugarcane

           ชื่อท้องถิ่น                 กะที  อ้อยขม  อ้อยดำ  อ้อยแดง  อำโป

 

2.   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

      ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นสูง 3-6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 ซม. สีม่วงแดง มักมีไขฉ่ำน้ำ มีรสหวาน ลิ้นใบเป็นเยื่อ ยาวประมาณ 5 มม. มักมีขน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ กว้าง 3-6 ซม. ยาว 1-2 เมตร ปลายเรียวแหลม ขอบสาก ดอกช่อดอกแขนง ยาว 50-100 ซม. ช่อดอกยาว 2.6-4.0 มม. กาบช่อย่อยแผ่นล่างยาว 2.8-4.0 มม. กาบช่อย่อยแผ่นบนยาว 2.6-3.9 มม. ขอบมีขน กาบล่างยาว 2.5-3.5 มม. ดอกย่อย บน ๆ ไม่มีกาบล่าง อับเรณูสีเหลือง ยาว 1.0-1.8 มม. ยอดเกสรตัวเมียสีม่วง (1)

 

3.   ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

     ลำต้นทั้งสด หรือแห้ง (ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บลำต้นที่สมบูรณ์เต็มที่)

     สรรพคุณยาไทย รสหวาน และขม แก้ปัสสาวะพิการ แก้ขัดเบา (2)

 

4.   สารสำคัญ

     น้ำอ้อย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ฟีนอลิก (phenolic) และกลุ่มไฟโตสเตอรอล (phytosterol) เช่น สติ๊กมาสเตอรอล (stigmasterol) เบต้าซิโตสเตอรอล (β-sitosterol) (3)

     ไขเปลือกอ้อย มีสารชื่อ โพลิโคซานอล (4)

 

    

5.   ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

            ฤทธิ์ขับปัสสาวะ

           เมื่อป้อนสารสกัดใบอ้อยด้วยเอทานอล ขนาด 200 และ 400 มก./กก. นน. ตัว  ให้กับหนูแรทตัวผู้ที่เหนี่ยวนำให้เป็นนิ่วด้วยสาร ethylene glycol (0.75% vol./vol.) ผสมลงในน้ำดื่ม 28 วัน  พบว่าสารสกัดใบอ้อยด้วยเอทานอล ขนาด 200 และ 400 มก./กก. นน ตัว  มีฤทธิ์ขับปัสสาวะได้ดีเมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน furosemide ขนาด 5 มก./กก. นน. ตัว และสามารถป้องกันการเกิดนิ่วที่ไตได้ด้วย (5)

 

      ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

   การศึกษาในหลอดทดลองของสารสกัดใบอ้อยด้วยเอทานอล และเมทานอล พบว่าสารสกัดเอทานอล และเมทานอลของใบอ้อยที่ความเข้มข้น 100 มคก./มล. สามารถต้านการอักเสบได้โดยไปยับยั้งเอนไซม์ hyaluronidase ได้ 66.13 และ79.30% ตามลำดับ     และเมื่อมาทดสอบการอักเสบกับอุ้งเท้าหนูแรทที่ทำให้เกิดการอักเสบ บวม แดง ด้วยสารคาราจีแนน  พบว่าสารสกัดใบอ้อยด้วยเอทานอลที่ความเข้มข้น 200 และ 500 มก./กก. สามารถยับยั้งการอักเสบได้ 59.57 และ 87.23%  ที่เวลา 240 นาที ตามลำดับ ในขณะที่สารสกัดใบอ้อยด้วยเมทานอลที่ความเข้มข้น 200 และ 500 มก./กก. สามารถยับยั้งการอักเสบได้ 55.31 และ 80.85%  ที่เวลา 240 นาที ตามลำดับเมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน diclofenac ขนาด 20 มก./กก. (6)

     ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

     สารสกัดใบอ้อยด้วยเอทานอล และเมทานอล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี hydrogen peroxide radical scavenging เท่ากับ 32.03 และ 33.30% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับวิตามินซีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเท่ากับ 77.36% ด้วยวิธีเดียวกัน  และหากทดสอบด้วยวิธี DPPH (2, 2 – diphenyl 1, 1 picrylhydrazyl) radical scavenging พบว่าสารสกัดใบอ้อยด้วยเอทานอล และเมทานอล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เท่ากับ 79.64 และ 76.53% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับวิตามินซีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเท่ากับ 97.66% ด้วยวิธีเดียวกัน (6)

     ฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

      สารโพลิโคซานอล (policosanol) จากไขเปลือกต้นอ้อย ซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือสารออกตะโคซานอล (octacosanol) จากการศึกษาเมื่อป้อนสารโพลิโคซานอลให้กระต่ายที่มีระดับคอเลสเตอรอลปกติ ขนาด 5 -200 มก./กก. นาน 4 สัปดาห์ พบว่าระดับคอเลสเตอรอล และคอเลสเตอรอลชนิด LDL (low density lipoprotein-C) ลดลง แต่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของสารโพลิโคซานอล และไม่มีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลชนิด HDL (high density lipoprotein) (7)

 

6.   อาการข้างเคียง

     ยังไม่มีรายงาน

 

 

 

7.   การทดสอบความเป็นพิษ

     การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันในหนูแรทด้วยสารสกัดจากใบอ้อยด้วยเอทานอล พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายเป็นครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่ามากกว่า 2 ก./กก. โดยไม่มีความผิดปกติของอวัยวะใดๆ (pharmtech) การศึกษาความเป็นพิษเรื้อรังในหนูแรทเมื่อป้อนสารโพลิโคซานอล (policosanol) ซึ่งพบได้ในไขเปลือกอ้อย (sugarcane wax) ขนาด 0.5-500 มก./กก. นาน 12 เดือน ไม่พบความเป็นพิษ (8)  มีรายงานการศึกษาวิจัยในประเทศบราซิลว่าการเผาป่าอ้อยก่อนการตัดเก็บอ้อยเพื่อมาทำน้ำอ้อยนั้น มีผลทำให้น้ำอ้อยมีสารปนเปื้อนของสาร polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) ซึ่งสารตัวนี้คือสารที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ และหากสะสมระยะยาวอาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกายได้ ดังนั้นหากน้ำอ้อยมีสารปนเปื้อนของสาร PAHs ก็อาจทำให้เป็นพิษต่อร่างกายได้ แต่มีข้อแนะนำว่าสามารถป้องกันได้โดยการล้างทำความสะอาดสถานที่ และลำต้นอ้อยก่อนที่จะทำเป็นน้ำอ้อย (9)

 

8.   วิธีการใช้

      8.1 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

          ลำต้นอ้อยแดงทั้งสด หรือแห้ง ใช้เป็นยาแก้อาการขัดเบา โดยใช้ลำต้นสดวันละ 1 กำมือ (สดหนัก 70 - 90 กรัม  แห้งหนัก 30 - 40 กรัม) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำรับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มล.) (2)

     8.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

          ไม่มี

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.  Clayton WD, Davidse G, Gould F, Lazarides M, Soderstrom TR. Poaceae. In: Dassenayake MD, Fosberg FR, Clayton WD, eds. A revised handbook to the Flora of Ceylon, Vol 8. Rotterdam: A.A. Balkema, 1994.

2.  สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน อ้อยแดง.  Avaliable from :

     http://www.ittd.mju.ac.th/lanna/images/stories/data/Medicine/0151.pdf. [cited 2018 Jan 08].

3.  Feng S, Luo Z, Zhang Y, Zhong Z, Lu B.  Phytochemical contents and antioxidant capacities of different parts of two sugarcane (Saccharum officinarum L.) cultivars. Food Chem. 2014;151:452-8.

4. Singh A, Lal UR, Mukhtar HU, Singh PS, Shah G, and Dhawan RK.  Phytochemical profile of sugarcane and its potential health aspects.  Pharmacogn Rev. 2015 Jan-Jun;9(17):45–54.

 

5.  Palaksha, M. N.; Ravishankar, K.; Girija, Sastry V.  Biological evaluation of in vivo diuretic, and antiurolithiatic activities of ethanolic leaf extract of Saccharum officinarum.   Indo Am J  Pharm Res. 2015;5(6):2232.8.

6. Ghiware N.B., Aseemuddin N., Kawade R.M., Vadvalkar S.M.   Pharmacological exploration of Saccharum officinarum leave extracts For its anti-oxidant and anti-Inflammatory activity.  Int.J.PharmTech Res. 2012,4(4):1785-91.

7. Arruzazabala ML, Carbajal D, Mas R, Molina V, Valdes S, Laguna A.  Cholesterol-lowering effects of policosanol in rabbits. Biol Res. 1994;27(3-4):205-8.

8.  Alemán CL, Más R, Hernández C, Rodeiro I, Cerejido E, Noa M, et al.  A 12-month study of policosanol oral toxicity in Sprague Dawley rats. Toxicol Lett. 1994;70(1):77-87.

9. Tfouni SAV, Souza NG, Neto MB, Loredo ISD, Leme FM, Furlani RPZ. Polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) in sugarcane juice.  Food Chem. 2009;116: 391-4.