ดีปลี




1.  ชื่อสมุนไพร                    ดีปลี

ชื่อวิทยาศาสตร์             Piper retrofractum Vahl

ชื่อวงศ์                     PIPERACEAE

ชื่อพ้อง                      Piper officinarum DC.

ชื่ออังกฤษ                 Javanese pepper, Balinese pepper

ชื่อท้องถิ่น                 -

2.  ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้เถา ไม่มีขนตามลำต้น ขึ้นเลื้อยพัน ข้อมีรากสำหรับยึดเกาะ ใบ เป็นใบเดี่ยวออกสลับ รูปไข่แกมดอกขอบขนาน กว้าง 3-5 ซม. ยาว 7-10 ซม. ผิวเกลี้ยงเป็นมัน โคนเบี้ยว ปลายแหลม ขอบเรียบ มีเส้นใบออกจากโคน 3-5 เส้น ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. ดอก ออกเป็นช่อแกน มีดอกย่อยเรียงแน่นบนช่อดอก ช่อดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ก้านช่อดอกยาวเท่ากับก้านใบ ช่อดอกเพศผู้ยาว 4-5 ซม. มีเกสรตัวผู้ 2-3 อัน ช่อดอกเพศเมีย ยาว 3-4 ซม. ผล อัดกันแน่นบนแกนช่อ ยาว 2.5-5 ซม. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. โคนกว้าง ปลายมน เมื่อสุกสีน้ำตาลแกมแดง (1)

3.  ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

ผลแก่แห้ง ผลแก่จัด แก้อัมพาต  แก้เส้นปัตตะฆาต  แก้เส้นอัมพฤกษ์  แก้คุดทะราดให้ปิดธาตุ  แก้โรคหลอดลมอักเสบ  เป็นยาขับระดู  เป็นยาธาตุ  ทาแก้ปวดอักเสบของกล้ามเนื้อ  ระงับอชิณโรค  บำรุงธาตุ  ขับลม  ขับลมให้กระจาย  ขับผายลม  แก้ลม  ขับลมในลำไส้  แก้ท้องร่วง  แก้ธาตุพิการ  แก้ธาตุไม่ปกติ  แก้ปฐวีธาตุพิการ  แก้วิสติปัฏฐี  แก้ปัถวีธาตุ  20  ประการ  บำรุงร่างกาย  เจริญอาหาร  แก้จุกเสียด  เจริญไฟธาตุ  แก้ปวดท้อง ขับเสมหะในโรคหืด  แก้อุระเสมหะ (เสมหะในทรวงอก)  ปรุงเป็นยาประจำ  ปัถวีธาตุ  เป็นยาขับรกให้รกออกง่าย  ภายหลังจากการคลอดบุตรและใช้เวลาโลหิตตกมาก  แก้เสมหะ  แก้หืดไอ  แก้ลมวิงเวียน  แก้ริดสีดวงทวาร  แก้คุดทะราด  แก้อาการท้องอืด  ท้องเฟ้อ  แก้อาการคลื่นไส้  (เกิดจากธาตุไม่ปกติ) (1 - 3)

4.  สารสำคัญที่ออกฤทธิ์

            สารกลุ่มแอลคาลอยด์ (alkaloids) เช่น piperine, piperanine, pipernonaline, dehydropipernonaline, piperlonguminine, piperrolein  B สารกลุ่ม phenolic  amides เช่น  retrofractamide  น้ำมันหอมระเหย 1%  ประกอบด้วย  terpinolene, caryophyllene, p-cymene, thujene, dihydrocarveol เป็นต้น (1, 3)

5.  ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

5.1 ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

สารสกัดเมทานอล เอธิลอะซีเตต และเอน-เฮกเซนของผลดีปลีมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบด้วยวิธี  2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) assay ซึ่งสารสกัดเอน-เฮกเซนมีฤทธิ์ดีที่สุดและมีฤทธิ์ดีกว่า ascorbic acid โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 57.66 ppm และ 66.12 ppm ตามลำดับ (4)

5.2 ฤทธิ์ต้านอักเสบ

ผลดีปลีมีฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วยกลไกในการยับยั้งการหลั่งเอนไซม์ cyclooxygenase II (COX-II) และยับยั้ง tumor necrosis factor-a (TNF-a) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 23.08±1.79 และ 15.74±2.50 มคก./มล. ตามลำดับ (5)

5.3 ฤทธิ์ต้านการแตกตัวของ mast cell

สารสกัดเมทานอลจากผลดีปลีสามารถลดการแตกตัวของ mast cell (mast cell degranulation) โดยพบว่าสารสกัดที่ขนาด 100 และ 200 มคก./มล. ทำให้ mast cell เกิดการแตกตัว 40.96% และ 32.83% ตามลำดับ ในขณะที่สารมาตรฐาน aminophylline ขนาด 100 มคก./มล. ซึ่งใช้เป็นสารเปรียบเทียบ ทำให้ mast cell เกิดการแตกตัว 40.97% ส่วน mast cell ที่ไม่ได้รับสารทดสอบใดๆ เกิดการแตกตัว 91.39% เมื่อสังเกตความเป็นพิษต่อเซลล์พบว่าสารสกัดที่ขนาด 100 และ 200 มคก./มล. ทำให้เซลล์มีอัตราการรอดชีวิต 94.10% และ 75% ตามลำดับทำให้สามารถสรุปได้ว่า สารสกัดเมทานอลจากผลดีปลีน่าจะมีประสิทธิภาพในการใช้เป็นยาต้านการแพ้ โดยที่ขนาด 100 มคก./มล. น่าจะมีทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากที่สุด (6)

6.  อาการข้างเคียง/ข้อควรระวัง

ไม่ควรบริโภคปริมาณมากเกินไป จะทำให้กระเพาะอักเสบ แสบทวารเวลาถ่าย คนมีไข้ไม่ควรกินจะทำให้ร้อนใน หญิงมีครรภ์ห้ามกินเพราะอาจทำให้แท้งได้ (2 - 3)

7.  ความเป็นพิษ

ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษจากการใช้ดีปลีทั้งผล แต่มีการรายงานความเป็นพิษของสาร piperine ซึ่งเป็นสารสำคัญของดีปลี ซึ่งการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสาร piperine ในหนูเม้าส์เพศผู้ พบค่า LD50 จากการให้ครั้งเดียวแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (i.v.) ฉีดเข้าทางช่องท้อง (i.p.) ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (s.c.) กรอกเข้ากระเพาะอาหาร (i.g.) และฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (i.m.) เท่ากับ 15.1, 43, 200, 330, และ 400 มก./กก. ตามลำดับ  เมื่อทดสอบในหนูเม้าส์เพศเมีย พบค่า LD50 จากการให้ครั้งเดียวแบบฉีดเข้าทางช่องท้อง (i.p.) เท่ากับ 60 มก./กก. เมื่อทดสอบในหนูเม้าส์เพศผู้ระยะหย่านม พบค่า LD50 จากการให้ครั้งเดียวแบบฉีดเข้าทางช่องท้อง (i.p.) เท่ากับ 132 มก./กก. เมื่อทดสอบในหนูแรทเพศเมีย พบค่า LD50 จากการให้ครั้งเดียวแบบฉีดเข้าทางช่องท้อง (i.p.) และกรอกเข้ากระเพาะอาหาร (i.g.) เท่ากับ 33.5 และ 514 มก./กก. ตามลำดับ ซึ่งสาเหตุการตายส่วนใหญ่ของสัตว์ทดลองคือทางเดินหายใจเป็นอัมพาตภายในเวลา 3 – 17 นาที และการทดสอบแบบกึ่งเฉียบพลันพบว่า หนูแรทจะตายภายใน 1 – 3 วันหลังจากได้รับสารทดสอบ การตรวจสอบเนื้อเยื่อพบว่า มีเลือดออก เซลล์ตาย และเกิดการบวมในทางเดินอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และต่อมหมวกไต (7) และการศึกษาความเป็นพิษของ piperine ในหนูเม้าส์ พบว่าที่ขนาด 10 และ 20 มก./กก.น้ำหนักตัว ทำให้หนูเพศเมียมีระยะ diestrous phase ยาวนานขึ้น ซึ่งส่งผลให้การผสมพันธุ์และการปฏิสนธิลดลง และเมื่อให้หนูกิน piperine หลังจากการผสมพันธุ์ 5 วัน พบว่าการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้วในผนังมดลูกลดลง เช่นเดียวกับการฉีดสาร piperine เข้าไปในมดลูกของหนูก็ทำให้การฝังตัวของไข่ลดลง แต่ไม่ทำให้เกิดความผิดปกติของรังไข่หรือมดลูกในระดับเซลล์ (8)

8. วิธีการใช้

8.1 วิธีใช้ดีปลีเพื่อบรรเทาอาการไอและมีเสมหะ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) (2)

- ใช้ผลแก่แห้ง ประมาณ ½ - 1 ผล ฝนกับน้ำมะนาวแทรกเกลือเล็กน้อยกวาดคอหรือจิบบ่อยๆ

- ใช้ผลแก่แห้ง ประมาณ 10 - 15 ผล ใส่น้ำประมาณ ½ ลิตร ต้มเอาน้ำดื่ม

8.2 วิธีใช้ดีปลีเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง (3)

- โดยใช้ผลดีปลีแก่แห้ง 1 กำมือ (ประมาณ 10 - 12 ผล) เติมน้ำ 2 ถ้วยแก้ว ต้ม 10 - 15 นาที ดื่มแต่น้ำวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร       

8.3 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

- ไม่มีระบุการใช้เป็นยาเดียว

เอกสารอ้างอิง

1.   นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพร:ไม้พื้นบ้าน (2). กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชนจำกัด; 2541.

2.   สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2541.

3.      ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. ดีปลี [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 3 ก.ค. 60]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=58

4.      Jadid N, Hidayati D, Hartanti SR, Arraniry BA, Rachman RY, Wikanta W. Antioxidant activities of different solvent extracts of Piper retrofractum Vahl. using DPPH assay. AIP Conference Proceedings (2017), 1854(1, Proceedings of [the] International Biology Conference: Biodiversity and Biotechnology for Human Welfare, 2016).

5.      Kakatum N. Anti-inflammatory activity of Thai traditional remedy extract for muscle pain treatment called Sahasthara and its plant ingredients. A thesis submitted in partial fulfillment of the requirements for the degree of master of science in applied Thai traditional medicine 2011;1-87. ($63138)

6.      Jadid N, Rachman RY, Hartanti SR, Abdulgani N, Wikanta W, Muslihatin W. Methanol extract of Piper retrofractum Vahl. potentially mediates mast cell stabilization. Int J Pharma Bio Sci 2016;7(2):379-83.

7.      Piyachaturawat P, Glinsukon T, Toskulkao C. Acute and subacute toxicity of piperine in mice, rats and hamsters. Toxicology Letters 1983;16(3-4):351-9.

8.      Daware M, Mujumdar AM, Ghaskadbi S. Reproductive toxicity of piperine in Swiss albino mice. Planta Med 2000;66(3):231-6.