เทียนบ้าน |
1. ชื่อสมุนไพร เทียนบ้าน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Impatiens balsamina L.
ชื่อวงศ์ BALSAMINACEAE
ชื่อพ้อง -
ชื่ออังกฤษ Garden balsam
ชื่อท้องถิ่น เทียนดอก เทียนไทย เทียนสวน
2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พืชล้มลุก ลำต้นสีเขียวอ่อน อุ้มน้ำ เนื้อใสโปร่ง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับเวียนรอบลำต้น รูปยาวเรียว โคนใบและปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ก้านใบสั้นมีปุ่มเรียงเป็นแนวยาว 2 ข้าง ดอกออกเดี่ยวๆ หรือออกหลายดอกอยู่รวมกัน กลีบรองกลีบดอกมี 3 กลีบ รูปไข่ป้อม เล็ก สีเขียว กลีบดอก 5 กลีบ กลีบบนรูปกลมปลายเว้าเล็กน้อย กลีบข้าง 2 กลีบกว้าง กลีบล่างงอ เป็นกระเปาะ กระเปาะมีจงอยยื่นออกมาเป็นหลอดเล็กยาว ปลายโค้งงอขึ้นเล็กน้อย กลีบดอกมีหลายสี เช่น ขาว ชมพู แดง หรือ หลายสีผสมกัน ผลรูปไข่ หรือรูปรี มีขนสีขาว แก่จัดจะแตกเป็นริ้วๆ ตามยาวของผล และม้วนขมวด แต่ละช่องมีเมล็ดจำนวนมาก (1)
3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ
ใบและดอกสดใช้พอกรักษาแผลที่ถูกเสี้ยนหรือแก้วตำ ฝี และแผลพุพอง (2-3)
4. สารสำคัญ
ใบเทียนบ้านมีสารประกอบชื่อ 2-methoxy-1, 4-naphthoquinone มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราในพืช และพบกรดอินทรีย์หลายชนิด ในดอกพบสาร anthocyanin, leucoanthocyanins และ flavanols (3)
5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
5.1 ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
สารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds) ที่สกัดได้จากส่วนดอกเทียนบ้าน มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อทำการทดสอบในหลอดทดลอง (in vitro) โดยมีผลยับยั้งการผลิต nitric oxide (NO) ในเซลล์ microglial BV- 2 ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) (4)
การศึกษาฤทธิ์แก้ปวดและต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันของเทียนบ้านในสัตว์ทดลอง โดยทดลองป้อนสารสกัดน้ำจากใบเทียนบ้านขนาด 500, 1000 และ 2000 มก./กก. ให้แก่หนูแรท 1 ชั่วโมง ก่อนเหนี่ยวนำให้หนูเกิดอาการบวมและอักเสบตรงอุ้งเท้าด้วยการฉีด carrageenan 1% ผลจากการสังเกตอาการบวมของอุ้งเท้าหนูเมื่อเวลาผ่านไป 3 ชั่วโมงพบว่า การกินสารสกัดน้ำจากใบเทียนบ้านช่วยยับยั้งอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยขึ้นอยู่กับขนาดการได้รับสาร (dose dependent) และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การยับยั้งอาการบวมเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมได้เป็น 34.16, 44.58 และ 65.42% (สำหรับขนาด 500, 1000 และ 2000 มก./กก. ตามลำดับ) นอกจากนี้ยังพบว่าการกินสารสกัดน้ำจากใบเทียนบ้านมีฤทธิ์ยับยั้งอาการปวดเมื่อนำหนูไปทดสอบด้วยวิธี tail flick test (5)
52. ฤทธิ์แก้ปวด
การป้อนสารสกัดเมทานอลจากดอกเทียนบ้านให้แก่หนูเม้าส์ขนาด 50-400 มก./กก. มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด เมื่อทดสอบด้วยวิธีกระตุ้นด้วยสารเคมีและความร้อน (chemical- and heat-induced pain) ได้แก่ การฉีดกรดอะซิติกเข้าช่องท้องเพื่อให้เกิดอาการเจ็บปวดและสังเกตการหดตัวของช่องท้อง (acetic acid-induced writhing test), ความสามารถในการทนอยู่บนแท่นร้อน (hot plate test), การจุ่มหางหนูลงในน้ำร้อน (tail immersion test) และการฉีดฟอร์มาลินเข้าใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้า (formalin test) (6)
5.3 ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
การศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดชนิดต่างๆ ได้แก่ เอทานอล คลอโรฟอร์ม และน้ำ จากส่วนใบ ลำต้น และรากของเทียนบ้านมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวก (Bacillua cereus, Listeria monocytogenes, Clostridium perfringens และ Staphylococcus aureus) และแกรมลบ (Salmonella typhimurium, Escherichia coli, Vibrio parahaemolyticus, Klebsiella pneumonia และpseudomonas aeruginosa) (7-8)
5.3 ฤทธิ์ต้านเชื้อรา
การศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดชนิดต่างๆ ได้แก่ แอลกอฮอล์ คลอโรฟอร์ม มีเทน และน้ำ จากส่วนใบ และรากของเทียนบ้านมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Aspergillus nigra, Candida albicans, Aspergillus flavus, Trichoderma reesei และ Penicillum sp. (8)
6. การศึกษาทางคลินิก
ยังไม่มีรายงาน
7. อาการข้างเคียง/ข้อควรระวัง
ยังไม่มีรายงาน
8. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์
ศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของเทียนบ้าน โดยป้อนสารสกัดน้ำจากใบเทียนบ้านขนาด 3 ก./กก. ให้แก่หนูแรทเพียงครั้งเดียวพบว่า ไม่ทำให้หนูตาย และไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ภายใน 24 ชั่วโมง (5) เช่นเดียวกับการทดลองป้อนสารสกัดเมทานอลจากดอกเทียนบ้านขนาด 500-5,000 มก./กก. ให้แก่หนูเม้าส์เพียงครั้งเดียว เพื่อทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันพบว่า สารสกัดเมทานอลดอกเทียนบ้านขนาดดังกล่าวไม่ทำให้หนูตาย และไม่ก่อให้เกิดพิษใดๆ ในช่วงระยะเวลาใน 72 ชั่วโมงหลังจากได้รับสารสกัด (6)
9. วิธีการใช้
9.1 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)
ใบและดอกสด ประมาณ 1 กำมือ ตำละเอียด พอกฝี หรือคั้นน้ำทาบริเวณที่เป็นฝี และแผลพุพองวันละ 3 ครั้ง (สีจากน้ำคั้นจะติดอยู่นาน จึงควรระวังการเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าและร่างกายส่วนอื่นๆ) (3)
9.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ไม่มี
เอกสารอ้างอิง
1. นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พิ้นบ้าน เล่ม 2. กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด, 2541:640 หน้า.
2. นันทวัน บุณยะประภัศร และคณะ. ก้าวไปกับสมุนไพร เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ธรรกมลการพิมพ์, 2530: 243 หน้า.
3. สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2541: 176 หน้า.
4. Kim CS, Subedi L, Kim SY, Choi SU, Choi SZ, Son MW, et al. Two new phenolic compounds from the white flower of Impatiens balsamina. Phytochem Lett. 2015; 14: 215-20.
5. Debashree N, Subhalakshmi A, Rita S, Pfuzia A. Study of anagelsic and anti-inflammatory effects of Impatiens balsamina leaves in albino rats. Int J Pharm Bio Sci. 2013; 4(2): 581-7.
6. Imam MZ, Nahar N, Akter S, Rana MS. Antinociceptive activity of methanol extract of flowers of Impatiens balsamina. J Ethnopharmacol. 2012; 142(3): 804-10.
7. Kang SN, Goo YM, Yang MR, Ibrahim RI, Cho JH, Kim IS, et al. Antioxidant and antimicrobial activities of ethanol extract from the stem and leaf of Impatiens balsamina L. (Balsaminaceae) at different harvest times. Molecules. 2013; 18(6): 6356-65.
8. Rajendran R, Manikandan A, Hemalatha K, Sweety M, Prabhavathi P. Antimicrobial activity of Impatiens balsamina plant extract. World J Pharm Pharm Sci. 2014; 3(7): 1280-6.