ว่านมหากาฬ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynura pseudochina (L.) DC. var. hispida Thwaites
ชื่อวงศ์ COMPOSITAE (ASTERACEAE)
ชื่อพ้อง Gynura hispida Thw.
ชื่ออังกฤษ -
ชื่อท้องถิ่น ดาวเรือง
2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก สูง 75-100 ซม. ไม่ค่อยแตกกิ่ง ยกเว้นเมื่อมีดอก ลำต้นอวบน้ำ สีม่วง มีขน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกกลับ กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 5-10 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบสอบขอบใยหยักซี่ฟัน ห่างและตื้น มีขนทั้งสองด้าน ดอกช่อกระจุกแน่นออกเดี่ยวๆ หรือรวมเป็นช่อเชิงลดหลั่น 2-7 ช่อที่ปลายยอด ชั้นใบประดับรูปคนโท ใบประดับรูปใบหอกปลายสีม่วง กว้าง 2-2.5 มม. ยาว 8-10 มม. ดอกสีเหลืองแกมส้ม กลีบดอกยาว 8-10 มม. ผลแห้งเมล็ดล่อน รูปแถบแกมขอบขนานยาว 3-4 มม. ผิวเกลี้ยงหรือมีขนระหว่างสัน (1)
3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ
ใบสด (ใบเพสลาด) และส่วนหัวใต้ดิน ใช้รักษาฝีหนอง ทำให้เย็น ถอนพิษ บรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน ดับพิษร้อน รักษาพิษอักเสบ (2)
4. สารสำคัญ
Quercetin-rutinoside, 3,5-dicaffeoyl quinic acid, 4,5-dicaffeoyl quinic acid, 3-dicaffeoyl quinic acid, 5- dicaffeoyl quinic acid และสารกลุ่มแอลคาลอยด์ (3-4)
5. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
5.1 ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
สาร quercetin-rutinoside, 3,5-dicaffeoyl quinic acid, 4,5 dicaffeoyl quinic acid และ 3-, หรือ 5- caffeoyl quinic acid ที่สกัดได้จากส่วนใบว่านมหากาฬมีฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อทำการทดสอบในหลอดทดลอง (in vitro) คือมีผลยับยั้ง nuclear factor kappa B (NF-kB) โดยมีค่าปริมาณของสารที่มีผลยับยั้งการทำงานของโปรตีนลงครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 25-83 มคก./มล. (3)
การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอลจากใบว่านมหากาฬในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดเอทานอลใบว่านมหากาฬขนาด 0.16-20 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง interleukin-1-β (IL-1β) ในเซลล์เม็ดเลือดของมนุษย์ (human blood cells) ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) (5)
6. การศึกษาทางคลินิก
การศึกษาฤทธิ์รักษาโรคสะเก็ดเงินของว่านมหากาฬ ในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาระดับไม่รุนแรงถึงปานกลาง (mild to moderate plaque psoriasis) จำนวน 25 คน ทั้งเพศชายและหญิง (อายุเฉลี่ย 48.6 ± 14 ปี) โดยทายาขี้ผึ้งที่มีสารสกัดเอทานอลจากใบว่านมหากาฬ (สัดส่วนสารสกัดต่อตัวทำละลายเท่ากับ 1:10) บริเวณแผลของผู้ป่วยด้านหนึ่งของร่างกาย ส่วนอีกด้านตรงข้ามทายา triamcinolone 0.1% เพื่อเปรียบเทียบ วันละ 2 ครั้ง นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ วินิจฉัยอาการของโรคด้วยแบบประเมิน Targeted Area Score (TAS), Psoriasis Severity Index (PSI) และ Physicians Global Assessment (PGA) scores และทำการเก็บตัวอย่างผิวหนังทั้งช่วงก่อนและหลังการทดลองเพื่อตรวจลักษณะทางพยาธิวิทยาด้วยเทคนิค immunohistochemistry ผลการศึกษาพบว่า การทายาขี้ผึ้งสารสกัดว่านมหากาฬมีผลช่วยบรรเทาอาการของโรคสะเก็ดเงินได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนการรักษา และมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้ยา triamcinolone 0.1% นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบของผิวหนังได้แก่ NF-κB p65 และ Ki-67 และมีผลช่วยลดความหนาของชั้นผิวหนังกำพร้า (epidermal) บริเวณแผลสะเก็ดเงินได้ (6)
7. อาการข้างเคียง/ข้อควรระวัง
ยังไม่มีรายงาน
8. ความเป็นพิษทั่วไปและต่อระบบสืบพันธุ์
ยังไม่มีรายงาน
9. วิธีการใช้
9.1 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)
1. ใบสดใช้โขลกผสมกับเหล้า ใช้พอกฝี
2. นำส่วนหัวใต้ดิน ล้างทำความสะอาด ตำพอกหรือฝนกับน้ำปูนใส ทาบริเวณที่เป็นฝีและแผลพุพอง วันละ 3-4 ครั้ง
9.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ไม่มี
เอกสารสอ้างอิง
1. นันทวัน บุณยะประภัศร และ อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พิ้นบ้าน เล่ม 4. กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด, 2541:740 หน้า.
2. สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2541: 176 หน้า.
3. Siriwatanametanon N, Prieto J, Heinrich M. Chemical and biological studies on the methanol extract of Gynura pseudochina var. hispida. Planta Med. 2010;76:DOI: 10.1055/s0030-1264584.
4. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ, เอมอร โสมนะพันธุ์, รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. การวิเคราะห์หาอัลคาลอยด์ในสมุนไพรไทย ภาค 1. วารสารเภสัชศาสตร์. 2524; 8(4): 109-15.
5. Thamaree S, Rugrungtham K, Ruangrungsi N, Thaworn N, Kemsri W. The inhibitory effects of andrographolide and extracts of some herbal medicines on the production of proinflammatory cytokines by LPS-stimulated human blood cells. Chula Med J. 2001: 45(8): 661-70.
6. Rerknimitr P, Nitinawarat J, Weschawalit S, Wititsuwannakul J, Wongtrakul P, Jutiviboonsuk A, et al. The Efficacy of Gynura pseudochina DC. var. hispida Thv. Ointment in treating chronic plaque psoriasis: A randomized controlled trial. J Altern Complement Med. 2016;22(8):669-75.