เร่ว |
1. ชื่อสมุนไพร เร่ว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Amomum villosum var. xanthioides (Wall.
ex Baker) T.L.Wu &
S.J.Chen
ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE
ชื่อพ้อง Amomum xanthioides Wall. ex Baker
ชื่ออังกฤษ bastard cardamom, tavoy cardamom
ชื่อท้องถิ่น หมากแหนง ผาลา มะหมากอี มะอี้ หมากเน็ง หมากแหน่ง หมากอี้
2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก สูง 2-4 ม. มีเหง้าใต้ดิน ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปร่างเรียวยาว ปลายเรียวแหลมหรือขอบขนาน ห้อยลง กว้าง 7 ซม. ยาว 50 ซม. ก้านใบสั้นมาก ดอกช่อ ออกโดยตรงจากเหง้า ดอกย่อยขนาดเล็ก สีขาว ผลขนาด 1.4-2 ซม. มีขนสีแดงปกคลุมคล้ายเงาะเมื่อสุกสีแดง เมล็ดสีน้ำตาล (1)
3. ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ
เมล็ดแห้ง ใช้ขับลม แก้คลื่นเหียน อาเจียน (2)
4. สารสำคัญ
เมล็ดมีน้ำมันหอมระเหย พบสารที่สำคัญได้แก่ camphor, borneol, bomyl acetate, linalool, nerolidol, p-methyloxy-trans ethylcinnamate (2-3)
5. การศึกษาทางคลินิกและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
การศึกษาฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหารของหนูแรท โดยป้อนสารสกัดเมทานอลจากเมล็ดเร่วขนาด 1,000 มก./กก.น้ำหนักตัว ส่วนสกัดบิวทานอล ขนาด 350 มก./กก.น้ำหนักตัว และส่วนสกัดน้ำ ขนาด 530 มก./กก. มีผลลดขนาดแผลในกระเพาะอาหารของหนูแรทจากการเหนี่ยวนำด้วยกรดไฮโตรคลอริกและเอทานอล (HCl-EtOH) ได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร cimetidine 200 มก./กก.น้ำหนักตัว และสารสกัดจากเร่วยังช่วยลดการหลั่งกรด ลดปริมาณน้ำย่อย เพิ่มความเป็นกรดด่างในกระเพาะอาหารได้เช่นเดียวกับกลุ่มที่ได้รับยาแผนปัจจุบัน และเมื่อนำสารสกัดเอทานอลมาทดสอบฤทธิ์ต่อเชื้อ Helicobactor pylori พบค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ (MIC) เท่ากับ 1.43 มคก./มล. ซึ่งใกล้เคียงกับยา ampicillin (4) สอดคล้องกับการทดสอบฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารของสารสกัดจากเร่ว สารสกัดเมทานอลขนาด 250 และ 500 มก./กก.น้ำหนักตัว สามารถลดการหลั่งน้ำย่อยและของเหลวในกระเพาะอาหารหนูแรท และลดการหลั่งกรดได้ตามขนาดที่ได้รับ อีกทั้งมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เปปซินได้ 33.74 และ 54.90% ตามลำดับ ในขณะที่สารสกัดแอลกอฮฮล์จากเมล็ดเร่ว ขนาด 250 และ 500 มก./กก.น้ำหนักตัว มีผลยับยั้งฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้จากการเหนี่ยวนำด้วย L-dopa ได้ 59.36 ± 3.27% และ 69.38 ± 3.46% ตามลำดับ จึงเป็นส่วนช่วยสนับสนุนฤทธิ์ของเมล็ดเร่วเพื่อบรรเทาโรคในระบบทางเดินอาหารตามภูมิปัญญาดั้งเดิม (5)
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
สารสกัดด้วยน้ำ:แอลกอฮออล์ (1:1) จากเมล็ดเร่ว ความเข้มข้น 20-500 มคก./มล. สามารถกระตุ้นการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์เพิ่มขึ้นตามสารสกัดที่ได้รับ และเมื่อให้สารสกัดจากเร่วขนาด 500 มคก./มล.ร่วมกับอินซูลิน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลินในการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้อย่างมีนัยสำคัญ (6)
เมื่อฉีดการสารสกัดน้ำจากเมล็ดเร่ว ขนาด 2.5 มก./กก.น้ำหนักตัว เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ที่เวลา 2 วันก่อนการเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานด้วยการฉีด alloxan มีผลป้องกันการเกิดเบาหวานในสัตว์ทดลอง โดยคงระดับน้ำตาลให้อยู่ในค่าปกติและป้องกันการลดลงของระดับอินซูลินได้ เมื่อทำการผ่าพิสูจน์ซากของหนูเบาหวานพบว่าเกิดความเสียหายบริเวณเซลล์แลงเกอร์ฮานส์ของตับอ่อนและเซลล์ลดขนาดลง แต่ไม่พบความผิดปกตินี้ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากเมล็ดเร่ว (7) เช่นเดียวกับการศึกษาของ Lee และคณะที่พบว่าสารสกัดน้ำจากเมล็ดเร่วสามารถป้องกันความเสียหายจากการเกิดความเครียดออกซิเดชันในเซลล์ตับอ่อนเพาะเลี้ยงจากหนูแฮมสตอร์จากการเหนี่ยวนำด้วย alloxan โดยลดการเกิดอนุมูลอิสระ (reactive oxygen species: ROS) ลดระดับแคลเซียมไอออนภายในเซลล์ ลดการแตกหักของสายดีเอ็นเอ (DNA fragmentation) ร่วมกับการเพิ่ม NAD+ และระดับ ATP ในเซลล์ และเมื่อบ่มเซลล์แลงเกอร์ฮานส์ของตับอ่อนด้วยสารสกัดน้ำจากเมล็ดเร่วและ alloxan สามารถป้องกันฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนของ alloxan ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดเบาหวานได้ (8)
ฤทธิ์ลดการเกิดพังผืดในตับ
เมื่อป้อนสารสกัดน้ำจากเมล็ดเร่ว ขนาด 100 มก./กก.น้ำหนักตัว ช่วยบรรเทาความเสียหายของตับ หนูแรทจากการได้รับ dimethylnitrosamine โดยลดค่าเอนไซม์และค่าชีวทางเคมีที่บ่งถึงการทำงานของตับ ได้แก่ระดับเอนไซม์ alanine aminotransferase, aspartate aminotransferase, alkaline phosphatase, ค่าบิลิรูบินทั้งหมดในเลือด (total bilirubin) อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงลดระดับของไฮดรอกซีโพรลีน (hydroxyproline) และมาลอนไดแอลดิไฮด์ (malondialdehyde) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การเกิดลิปิดเปอร์ออกซิเดชัน (lipid peroxidation) ในเนื้อเยื่อตับ นอกจากนี้ยังกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์และสารต้านออกซิเดชัน ได้แก่ระดับเอนไซม์ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส (superoxide dismutase), คะตะเลส (catalase) และสารกลูต้าไธโอน (glutathione) ในเนื้อเยื่อตับ และลดการเกิดพังผืดในตับ โดยผ่านกระบวนการต้านการอักเสบ ลดจำนวนการเกิดเซลล์ตาย และการสะสมคอลลาเจนในเซลล์ตับ (9) เมื่อป้อนหนูแรทด้วยส่วนสกัดเมทานอลจากเมล็ดเร่ว ขนาด 25, 50 และ 100 มก./กก.น้ำหนักตัว ในช่วงสัปดาห์ที่ 7-14 ของการเหนี่ยวนำให้เกิดผังผืดในตับด้วยการฉีด thioacetamide 200 มก./กก. เป็นเวลา 14 สัปดาห์ ช่วยลดการเกิดผังผืดในตับได้ โดยอาศัยฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ลดระดับอนุพันธ์ออกซิเจนที่ว่องไว (reactive oxygen species; ROS) เพิ่มปริมาณกลูต้าไธโอน และกลูต้าไธโอนเปอร์ออกซิเดส (glutathione-peroxidase) ยับยั้งการสะสมคอลลาเจนในเซลล์ตับ รวมถึงช่วยลดระดับไซโตคานย์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบและการสร้างพังผืดในเนื้อเยื่อตับได้แก่ nitric oxide synthase (iNOS), tumor necrosis factor alpha (TNF-α), transforming growth factor beta (TGF-β), platelet-derived growth factor beta (PDGF-β) และ connective tissue growth factor (CTGF) (10) นอกจากนี้ยังมีผลลดการเกิดพังผืดในตับของสัตว์ทดลองที่ผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เมื่อป้อนสารสกัดเอทิลอะซีเตทจากผลเร่วที่ขนาด 12.5, 25 หรือ 50 มก./กก. หรือยา ursodeoxycholic acid ขนาด 25 มก./กก. สามารถป้องกันการเกิดพังผืดในตับ ลดอาการท้องมาน และลดการสะสมคอลลาเจนในเซลล์ตับในหนูแรทที่ถูกตัดถุงน้ำดี และเมื่อบ่มเซลล์สเตลเลต (LX-2 cells stellate cell) ที่แยกจากหนูแรทด้วยสารสกัดเอทิลอะซีเตทจากเมล็ดเร่ว พบว่าสารสกัดจากเร่วจะยับยั้งการส่งต่อสัญญาณของ α-SMA และ Smad2/3 จากการกระตุ้นด้วย TGF- β ส่งผลให้การเกิดพังผืดในตับลดลง (11)
6. อาการข้างเคียง
ยังไม่มีรายงาน
7. การทดสอบความเป็นพิษ
สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์:น้ำ (1:1) จากผลแห้งแก่ของเร่ว ไม่แสดงอาการพิษ เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ก./กก.น้ำหนักตัว และเมื่อป้อนให้หนูเม้าส์กินที่ขนาด 32 ก./กก.น้ำหนักตัว โดยพบขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง คือ 34.3 ก./กก.น้ำหนักตัว (12)
8. วิธีการใช้
8.1 ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)
แก้อาการท้องอืดเฟ้อ ขับลมแน่นจุกเสียด นำเมล็ดในจากผลแก่มาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1-3 กรัม (ประมาณ 3-9 ผล) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร (2)
8.2 ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ไม่มี
เอกสารอ้างอิง
1. นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. หนังสือสมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 4. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด, 2543: 740 หน้า.
2. สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน. หนังสือสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, 2541: 176 หน้า.
3. Vibuljan S. การวิจัยทางด้านเคมีของสมุนไพรเร่ว. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต, สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543: 138 หน้า.
4. Lee YS, Kang MH, Cho SY, Jeong CS. Effects of constituents of Amomum xanthioides on gastritis in rats and on growth of gastric cancer cells. Arch Pharm Res. 2007;30(4):436-43.
5. Yamazaki T, Matsushita Y, Kawashima K, Someya M, Nakajima Y, Kurashige T. Evaluation of the pharmacological activity of extracts from amomi semen on the gastrointestinal tracts. J Ethnopharmacol. 2000;71(1-2):331-5.
6. Kang Y, Kim HY. Glucose uptake-stimulatory activity of Amomi Semen in 3T3-L1 adipocytes. J Ethnopharmacol. 2004;92(1):103-5.
7. Park BH, Park JW. The protective effect of Amomum xanthoides extract against alloxan-induced diabetes through the suppression of NFkappaB activation. Exp Mol Med. 2001 Jun 30;33(2):64-8.
8. Lee JH, Park JW, Kim JS, Park BH, Rho HW. Protective effect of Amomi semen extract on alloxan-induced pancreatic beta-cell damage. Phytother Res. 2008;22(1):86-90.
9. Wang JH1, Wang J, Choi MK, Gao F, Lee DS, Han JM, Son CG. Hepatoprotective effect of Amomum xanthoides against dimethylnitrosamine-induced sub-chronic liver injury in a rat model. Pharm Biol. 2013;51(7):930-5.
10. Wang JH, Shin JW, Choi MK, Kim HG, Son CG. An herbal fruit, Amomum xanthoides, ameliorates thioacetamide-induced hepatic fibrosis in rat via antioxidative system. J Ethnopharmacol. 2011;135(2):344-50.
11. Kim HG, Han JM1, Lee JS, Lee JS, Son CG. Ethyl acetate fraction of Amomum xanthioides improves bile duct ligation-induced liver fibrosis of rat model via modulation of pro-fibrogenic cytokines. Sci Rep. 2015;5:14531.
12. มงคล โมกขะสมิต กมล สวัสดีมงคล ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย วารสารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 1971;13(1):36-66