คำถาม : กัญชา
  • ขอสอบถามเกี่ยวกับ สรรพคุณของกัญชา ว่ามีงานวิจัยรองรับว่าสามารถช่วยรักษาโรคหรืออาการใดได้บ้าง ใช้วิธีใดในการรักษา (ต้มน้ำดื่ม สกัดน้ำมัน ฯลฯ) และหากใช้เป็นระยะเวลานานจะมีผลเสียต่อร่างกายไหมครับ
  • Date : 28/6/2562 16:31:00
คำตอบ : การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้กัญชาในการักษาอาการและโรคต่างๆ
1. ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการได้รับเคมีบำบัด
2. เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ (Appetite stimulation)
3. ลดอาการปวด (Analgesic effect)
4. ลดอาการปลอกประสาทเสื่อม (Multiple sclerosis, MS)
5. ช่วยควบคุมอาการลมชัก (Epilepsy)
6. ลดความดันในตาของผู้ป่วยต้อหิน (Glaucoma)
7. ป้องกันและรักษาอาการสมองฝ่อ (Neurodegeneration and neuroprotection)
8. คลายความวิตกกังวล (Antianxiety effect)
9. การรักษามะเร็ง (Anticancer effect)
ซึ่งมีการศึกษาทั้งในระดับหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และการศึกษาทางคลินิก และมีการใช้รูปแบบสารในลักษณะต่างๆ กันในแต่ละงานวิจัย
ข้อห้ามใช้และอาการข้างเคียง
มีคำแนะนำว่าไม่ควรใช้สารกลุ่มนี้ในผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้อยู่ระหว่างให้นมบุตร และผู้ป่วยจิตเวช ส่วนการใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและโรคความดันควรอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ควรให้สารกลุ่มนี้ร่วมกับ ยากลุ่ม CNS depressants อาการข้างเคียงของการใช้สารกลุ่มสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (delta-9-tetrahydrocannabinol, หรือ THC) ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้ และขนาดยาที่ใช้ โดยควรเริ่มจากขนาดต่ำก่อนและถ้าจำเป็นต้องเพิ่มขนาดควรทำช้าๆ ผู้ที่ได้รับสารกลุ่มนี้มักสามารถพัฒนาให้ร่างกายยอมรับผล psychoactive effect ของยา (tolerance) ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงควรรักษาขนาดของยาให้คงที่โดยพิจารณาตามผลการรักษาที่ได้รับเป็นหลัก โดยอาการข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ง่วงซึม มึนงง ปวดศีรษะ การมองเห็นไม่ชัดเจน ปากแห้ง วิตกกังวล มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ คลื่นไส้ มีความผิดปกติของการรับรู้ อาการที่ไม่ค่อยพบเช่น เดินเซ ซึมเศร้า ท้องเสีย ความดันต่ำ หวาดระแวง และ ปวดท้อง อาเจียน (cannabis hyperemesis syndrome) อย่างไรก็ตามเนื่องจากกัญชายังจัดเป็นวัตถุเสพติดในประเทศไทย แม้เพิ่งอนุญาตให้สามารถนำมาทำการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ได้ การทำการวิจัยจึงไม่แพร่หลายมากนัก กลไกการออกฤทธิ์ในการรักษาโรคบางชนิดที่กล่าวมาแล้วนั้น ถึงแม้จะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ยังไม่มีความครอบคลุมสำหรับทุกๆ โรค และยังคงต้องรอผลการวิจัยเพิ่มเติมทางคลินิกให้มากกว่านี้

เอกสารอ้างอิง : https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/453/%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2/