พืชพิษ

 

ในสมัยก่อนมนุษย์รู้จักที่จะนำพืชมาใช้เพื่อดำรงชีวิต โดยการนำมาใช้เป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค  พืช สัตว์ และแร่ธาตุหลายชนิดได้มีการบันทึกถึงสรรพคุณในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอีกหลายชนิดได้บันทึกถึงความเป็นพิษ พืชพิษเหล่านี้ได้มีการนำมาใช้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้ล่าสัตว์ ฆ่าปลา หรือ นำมาใช้วางยาพิษ พืชพิษหลายชนิดถ้าใช้ในปริมาณน้อย ๆ ก็จะเป็นยารักษาโรคได้ เช่น เมล็ดแสลงใจในปริมาณน้อย ๆ จะเป็นยาเจริญอาหาร แต่ถ้าในปริมาณมาก จะเป็นพิษกระตุ้นระบบประสาท ทำให้ชัก และตายได้ เช่นเดียวกับพืชที่มีสารกลุ่มคาร์ดิแอคกลัยโคไซค์ ถ้าใช้ปริมาณน้อย ๆ จะทำให้หัวใจที่เต้นผิดปกติ เต้นได้ปกติขึ้น แต่ถ้าใช้ปริมาณมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้

          ความเป็นพิษของพืช จะขึ้นกับปริมาณพืชที่รับประทานเข้าไป และความทนทานต่อสารพิษของแต่ละบุคคล โอกาสที่จะเกิดพิษในเด็กจะมีมากกว่าในผู้ใหญ่ ซึ่งเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก นอกจากนี้ขนาดของสารพิษที่ก่อให้เกิดความเป็นพิษในเด็กก็มีค่าต่ำกว่าในผู้ใหญ่ สาเหตุความเป็นพิษที่เกิดขึ้นในเด็ก เนื่องจากพืชมีดอก และผลสีสวยดึงดูดใจให้ลิ้มลอง ส่วนในผู้ใหญ่มักเกิดจากการรับประทานพืชที่ไม่รู้จักชื่อ หรือความเข้าใจผิดเนื่องจากพืชบางชนิดมีหลายชื่อ ชื่อพ้อง หรือการใช้สมุนไพรที่ไม่ถูกวิธีหรือเกินขนาดที่ควร ส่วนความเป็นพิษที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้องมักเกิดจากพืชพิษที่ขึ้นปะปนกับพืชที่ใช้เป็นอาหารของสัตว์ ความเป็นพิษนี้จะสร้างความสูญเสียอย่างสูง

          ในประเทศไทยได้มีการบันทึกถึงความเป็นพิษจากพืชชนิดต่าง ๆ เช่น พิษจากการรับประทานเมล็ดทองหลางฝรั่งหรือโพธิ์ศรี เด็กที่รับประทานเข้าไปจะมีอาการแสบร้อนในคอ กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศรีษะ ถ่ายเหลว และตาแดง การรับประทานเหง้าดองดึง ทำให้มีอาการอาเจียนรุนแรงและเสียชีวิต การรับประทานฝักมันแกว ทำให้เกิดอาการช็อค หมดสติ และหยุดหายใจ การรับประทานเมล็ดมะกล่ำตาหนู ทำให้เกิดอาการอาเจียนรุนแรง และชัก เป็นต้น

          ฉะนั้นประชาชนคนไทยทุกคนควรจะต้องเรียนรู้ และศึกษาอย่างถ่องแท้ถึงชนิดและลักษณะของพืชพิษ สารสำคัญที่เป็นพิษ วิธีการป้องกันและรักษาขั้นเบื้องต้น เพื่อจะช่วยป้องกันการเกิดความเสียหาย และการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

 

การจำแนกกลุ่มของพืชพิษ

 

          ในการจำแนกกลุ่มของพืชพิษทำได้หลายวิธี แต่การแบ่งตามผลต่อระบบร่างกายของคนจะเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย สามารถแบ่งพืชพิษออกได้ 5 กลุ่ม ได้แก่

1.     พืชที่มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร

2.     พืชที่มีผลต่อระบบเลือดและหัวใจ

3.     พืชที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง

4.     พืชที่ระคายเคืองต่อผิวหนัง

5.     พืชที่มีผลต่อระบบอื่น ๆ

1.  พืชที่มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร แบ่งออกได้ 4 กลุ่มย่อย  ได้แก่

1.1 กลุ่มที่มีผลระคายเคืองต่อเยื่อบุปากและลำคอ : พืชเหล่านี้จะออกฤทธิ์ทันที ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดบริเวณปากและคอ

1.2 กลุ่มที่มีผลระคายเคืองต่อเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร พืชเหล่านี้จะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ

1.3 กลุ่มที่มีผลระคายเคืองต่อเยื่อบุลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย และ ถ้ารับประทานปริมาณมากจะมีผลต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย

1.4 กลุ่มที่มีผลทำให้กระเพาะและลำไส้อักเสบอย่างช้า ๆ หลังจากทานพืชเหล่านี้แล้ว นาน 1 ชั่วโมง หรืออาจนานถึง 2 วัน จึงจะเกิดพิษ

 

1.1 พืชที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุปากและลำคอ

          พืชเหล่านี้มักจะมีผลึกของแคลเซียมออกซาเลทอยู่ภายในเซลล์ในสภาพเป็นกลุ่มที่เรียกว่า raphidesซึ่งเมื่อถูกน้ำ ผลึกนี้จะแตกออก ทำให้ปวดแสบปวดร้อนภายในปาก นอกจากนี้พืชกลุ่มนี้บางชนิดยังมีสารพิษประเภทอื่นอีก เช่น เรซิน และโปรโทอะนีโมนีนซึ่งจะทำให้เกิดเป็นตุ่มพุพอง บริเวณริมฝีปาก ลิ้น และบริเวณคอหอย ลิ้นเคลื่อนไหวลำบากทำให้กลืนอาหารยาก พูดไม่ถนัด อาการเหล่านี้อาจจะคงอยู่เป็นเวลาหลายวัน บางครั้งจะมีอาการอาเจียนร่วมด้วย

          ตัวอย่างพืชกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่พบได้ในวงศ์ Araceaeได้แก่    

กระดาด Alocasia spp.

บุก Arisaema spp.

บอนสี Caladium spp.

บอน เผือก Colocasia spp.

สาวน้อยประแป้ง หรือ อ้ายใบ้ Dieffenbachia spp.

พลูฉีก Monstera spp.

 

          ต้นอ้ายใบ้หรือว่านหมื่นปี (Dumbcane) นอกจากทำให้ระคายเคืองต่อเยื่อบุปากและคอแล้วยังอาจทำให้การพูดผิดไปได้ พืชต้นนี้มีสารก่อเกิดพิษ คือ แคลเซียมออกซาเลท และ เอนไซม์ที่สามารถย่อยโปรตีนได้ ชื่อ  dumbain

การรักษา

          ล้างปาก รับประทานยาลดกรดครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ ทุก ๆ 2 ชั่วโมง และทานอาหารเหลวจนกว่าอาการจะทุเลาลง แต่ถ้าผู้ป่วยกลืนพืชพิษเข้าไปไม่ควรทำให้อาเจียน เพราะจะทำให้สารพิษสัมผัสเยื่อบุปากและคออีกครั้ง ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อล้างท้อง และให้การรักษาตามอาการ

 

 

1.2 พืชที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร

          พืชพวกนี้เมื่อกินเข้าไป จะทำให้เกิดการอาเจียนและท้องเสียเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะว่าพืชเหล่านี้มีสารพิษที่เป็นแอลคาลอยด์ชื่อ lycorine, crinamine, lycoramine ซึ่งมีผลไปกระตุ้นศูนย์การอาเจียนที่สมองทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย พืชเหล่านี้เป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงด้วย มีผลต่อทางเดินอาหาร หัวใจ และระบบประสาท ทำให้เซื่องซึม ชัก และอาจจะทำลายเนื้อเยื่อตับด้วย พืชพิษเหล่านี้จะพบได้ในวงศ์ Amaryllidaceae ตัวอย่างพืชเหล่านี้ ได้แก่ พืชในสกุลพลับพลึง Crinum และ Narcissus เป็นต้น

การรักษา

          ไม่แนะนำการทำให้อาเจียนเพราะคนไข้จะมีอาการอาเจียนอยู่แล้ว ควรจะล้างท้อง และใช้ถ่าน (activated charcoal) ในการดูดพิษแอลคาลอยด์ และควรให้เกลือแร่ป้องกันการสูญเสียน้ำ และแร่ธาตุ

 

1.3 พืชที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุผนังลำไส้

          พืชเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องเสีย หลังจากรับประทานเข้าไปภายใน 1 ชั่วโมง สารพิษที่พบในพืชกลุ่มนี้  ได้แก่ ซาโปนิน เรซิน โปรโทอะนีโมนีน และสารอื่น ๆ

สารพิษกลุ่มซาโปนิน

          ผู้ป่วยที่รับประทานพืชพิษที่มีซาโปนินจะทำให้เกิดระคายเคืองต่อเยื่อบุหรือทำให้อักเสบได้ แล้วมีการดูดซึมสารพิษเข้าสู่กระแสเลือด มีผลทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ และทำให้เกิดอาการพิษต่อระบบไหลเวียนโลหิต และชักได้

 

ตัวอย่างพืชที่มีสารพิษซาโปนิน

ชื่อไทย

ชื่อพฤกษศาสตร์

วงศ์

ส่วนที่เป็นพิษ

มะเนียงน้ำ

Aesculus hippocastanum

Hippocastanaceae

ผล

เทียนหยด

Duranta repens

Verbenaceae

ผล

มันแกว

Pachyrhizus erosus

Fabaceae

เมล็ด

สกุลหางไหลแดง

Derris spp.

Fabaceae

เมล็ดและราก

ก้ามปู

Samanea saman

Fabaceae

เมล็ดและเปลือกต้น

สกุลมะคำดีควาย

Sapindus spp.

Sapindaceae

ผล

 

การรักษา

          ล้างท้อง ให้ยาเคลือบกระเพาะและลำไส้ เช่น น้ำนม ไข่ขาว และให้เกลือแร่ป้องกันการสูญเสีย เกลือแร่

 

 

 

 

พืชพิษกลุ่มอื่น ๆ ที่มีผลต่อเนื้อเยื่อบุกระเพาะและลำไส้

          สารพิษในกลุ่มนี้ยังไม่ทราบสูตรโครงสร้างที่แน่นอน พืชพิษที่เป็นปัญหาในกลุ่มนี้คือ มะเยา (tung tree) ผลของมะเยามียางซึ่งเป็นพิษ ซึ่งพืชพิษกลุ่มนี้อาจเป็นพิษถึงตายได้ เนื่องจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ พืชพิษในกลุ่มนี้ ได้แก่

ชื่อไทย

ชื่อพฤกษศาสตร์

วงศ์

ส่วนที่เป็นพิษ

มะเยา

Aleurites fordii

Euphorbiaceae

น้ำยาง

โพธิสัตว์

Aleurites moluccana

Euphorbiaceae

น้ำยาง

บานบุรีสีเหลือง

Allamanda cathartica

Apocynaceae

น้ำยาง

 

1.4 พืชที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้อย่างช้า ๆ

          พืชพิษกลุ่มนี้เมื่อรับประทานเข้าไประยะเวลาหนึ่ง จึงจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร พืชบางชนิดอาจใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น พืชที่มีสารพิษ toxalbumins หรืออาจจะต้องใช้เวลามากกว่านั้น เป็นระยะเวลา 1-2 วัน

          พืชพิษกลุ่มนี้แบ่งออกได้ 4 กลุ่มย่อย ดังนี้

          1.  กลุ่มที่มีสารเลคติน

          2.  กลุ่มที่มีสารสเตียรอยด์แอคคาลอยด์  

          3.  กลุ่มที่มีสารออกซาเลท

          4.  กลุ่มที่มีสารโคชิซีน

 

          1.  กลุ่มที่มีสารเลคติน

          พืชพิษกลุ่มนี้จะมีสารเลคติน (เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง) ซึ่งถูกดูดซึมได้อย่างช้า ๆ ในระบบทางเดินอาหารที่อักเสบเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดพิษทั่วร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง อ่อนเพลีย จุกเสียด กระหายน้ำ ปวดศรีษะ อาจถ่ายเป็นเลือด ความดันเลือดต่ำ และอัมพาต

ตัวอย่างพืชพิษ ได้แก่

 

ชื่อไทย

ชื่อพฤกษศาสตร์

วงศ์

ส่วนที่เป็นพิษ

สารพิษ

มะกล่ำตาหนู

Abrus precatorius

Fabaceae

เมล็ด

abrin

ละหุ่ง

Ricinus communis

Euphorbiaceae         

เมล็ด

ricin

โพธิ์ฝรั่ง

Hura crepitans

Euphorbiaceae

เมล็ด

hurinและcrepitin

สบู่ดำ

Jatropha curcas

Euphorbiaceae         

เมล็ด

curcin

         

 

การรักษา

          ทำให้คนไข้อาเจียนและรับประทานยาเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ และรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อล้างท้อง หรือให้รับประทานยาถ่ายเพื่อลดการดูดซึมสารพิษ

 

          2.  กลุ่มที่มีสารสเตียรอยด์แอลคาลอยด์

          สารสเตียรอยด์แอลคาลอยด์ที่เป็นพิษ ได้แก่ สารโซลานีนซึ่งอยู่ในรูปกลัยโคไซด์ โดยทั่วไปจะถูกดูดซึมได้น้อย แต่ถ้าผนังกระเพาะและลำไส้อักเสบจึงจะถูกดูดซึมเข้าไปสู่กระแสเลือดได้ สารโซลานีนก่อเกิดพิษน้อยในผู้ใหญ่ โดยทั่วไปจะระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้ ทำให้ปวดศีรษะและเซื่องซึม พืชในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์มะเขือ Solanaceae ผลของพืชเหล่านี้มักจะมีสารพิษ โดยเฉพาะพวกโทงเทง และหญ้าต้อมต๊อก ตัวอย่างพืชกลุ่มนี้

ชื่อไทย

ชื่อพฤกษศาสตร์

ส่วนที่เป็นพิษ

ราตรี

Cestrum nocturnum

ผลดิบ

โทงเทง

Physalis spp.

ผลดิบ

มะเขือขื่น

Solanum aculeatissimum

ผลดิบ

มะแว้งนก หรือ หญ้าต้อมต๊อก

Solanum nigrum

ผลดิบ

มันฝรั่ง

Solanum tuberosum

ต้นอ่อนที่กำลังงอก

 

          3.  กลุ่มที่มีกรดออกซาลิค

          สารพิษ กรดออกซาลิค ซึ่งในปริมาณน้อยจะไม่เป็นพิษ ถ้าในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการคัน สารนี้มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผนังกระเพาะลำไส้ และจะถูกดูดซึมผ่านผนังที่อักเสบทำให้เกิดเป็นแคลเซียมออกซาเลท ซึ่งมีผลทำให้ปริมาณแคลเซียมอิออนลดลง ซึ่งภาวะเช่นนี้จะมีผลต่อการทำงานของหัวใจ และประสาทส่วนกลาง ไตพิการ เนื่องจากมีการตกตะกอนของแคลเซียมออกซาเลท ตัวอย่างพืชพิษกลุ่มนี้

ชื่อไทย

ชื่อพฤกษศาสตร์

วงศ์

ส่วนที่เป็นพิษ

โกฏฐ์น้ำเต้า

Rheum rhaponticum

Polygonaceae

ใบและก้านใบ

สกุลผักกาดส้ม

Rumex acetosa

Polygonaceae

ใบ

เถาคันแดง

Parthenocissus quinquefolia

Vitidaceae

ผล

 

          4.  กลุ่มที่มีสารโคชิซิน

          สารโคชิซิน เป็นสารพิษที่มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลส์ ความเป็นพิษของสารนี้ เนื่องจากมีการสะสม สารนี้อาจเป็นพิษถึงตายได้ เนื่องจากระบบหายใจและระบบหมุนเวียนของเลือดล้มเหลว เกิดการสูญเสียน้ำ ตัวอย่างพืชกลุ่มนี้ ได้แก่ ดองดึงหัวขวาน (Gloriosa superba วงศ์ Liliaceae) ทุกส่วนของพืชเป็นพิษ

ารรักษา

          รีบส่งโรงพยาบาลทันทีเพื่อป้องกันการช็อค และให้การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น

 

2.  พืชที่มีพิษต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ

          พืชในกลุ่มนี้จะมีผลต่อการเต้นและการบีบตัวของหัวใจ และมีผลต่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ พืชพิษกลุ่มนี้แบ่งออกได้ 2 กลุ่ม ดังนี้

 

          2.1  พืชที่มีสารกลุ่มคาร์ดิแอคกลัยโคไซด์

          พืชกลุ่มนี้จะมีพิษเมื่อรับประทานเกินขนาด ส่วนใหญ่จะเกิดพิษกับเด็ก เนื่องจากรับประทานผลหรือดอกของพืชพิษเหล่านี้ ซึ่งมักจะมีสีสวย จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุปาก และกระเพาะอาหาร เกิดอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดศรีษะ และปวดท้อง หลังจากสารพิษถูกดูดซึมเข้าเส้นเลือด จะไปกระตุ้นหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและเต้นผิดปกติ อาการดังกล่าวอาจอยู่ได้นานถึง 2-3 อาทิตย์ ตัวอย่างพืชกลุ่มนี้ที่พบได้ในประเทศไทย เป็นพืชในวงศ์ Apocynaceae ซึ่งจะมียาง ส่วนที่เป็นพิษพบได้ทุกส่วน

ชื่อไทย

ื่อพฤกษศาสตร์

ยี่โถ

Nerium indicum

รำเพย

Thevetia peruviana

บานบุรีสีเหลือง

Allamanda cathartica

ชวนชม

Adenium obesum

 

          2.2  พืชที่มีสารไซยาโนจินิคกลัยโคไซด์

          พืชที่มีสารไซยาโนจินิคกลัยโคไซด์ เมื่อรับประทานเข้าไปจะสลายตัวให้กรดไฮโดรไซยานิค ซึ่งจะมีผลต่อเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการจับออกซิเจน จะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน คนไข้จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน หายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย กล้ามเนื้อกระตุก  มึนงง ไม่รู้สึกตัว ชักก่อนที่จะหมดสติ  สารไซยาโนจินิคกลัยโคไซด์เป็นสารที่สลายตัวได้เมื่อถูกความร้อน ฉะนั้นพืชเหล่านี้ถ้าผ่านกระบวนการใช้ความร้อน ไม่ว่าจะเป็นการต้ม เผา ปิ้ง ก็จะรับประทานได้  ตัวอย่างของพืชกลุ่มนี้

ชื่อไทย

ชื่อพฤกษศาสตร์

วงศ์

มันสำปะหลัง

Manihot esculenta

Euphorbiaceae

กระ

Elateriospermum tapos

Euphorbiaceae

ไฮแดรนเยีย

Hydrangea macrophylla

Hydrageaceae

 

3.  พืชที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง

          พืชที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

          3.1  กลุ่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressants)

          3.2  กลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้ชัก (convulsants)            

          3.3  กลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้ประสาทหลอน (hallucinogens)

 

          3.1  กลุ่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง

          พืชส่วนใหญ่ไม่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นพิษต่ออวัยวะอื่น ๆ อีกด้วย สารพิษที่พบว่ามีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ได้แก่ andromedotoxin, veratrine, solanine (พบได้ในพืชวงศ์ Solanaceae) และ soluble oxalate

         

          3.2  กลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้ชัก

          การเกิดอาการชัก มักเกิดหลังจากประสาทถูกกระตุ้น กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็ง กระตุก คนไข้อาจตายเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว  ตัวอย่างพืชพิษกลุ่มนี้

ชื่อไทย

ชื่อพฤกษศาสตร์

วงศ์

ส่วนที่เป็นพิษ

สารพิษ

เลี่ยน

Melia azedarach

Meliaceae

ผล

meliatoxin

แสลงใจ

Strychnos nux-vomica

Loganiaceae

เมล็ด

strychnine, brucine

 

          3.3  กลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้ประสาทหลอน

          ตัวอย่างพืชกลุ่มนี้

ชื่อไทย

ชื่อพฤกษศาสตร์

วงศ์

ส่วนที่เป็นพิษ

สารพิษ

กัญชา

Cannabis sativa

Cannabinaceae

ช่อดอกตัวเมียและใบ

tetrahybrocannabinol

จันทน์เทศ

Myristica fragrans

Myristicaceae

รก และเมล็ด

myristicin

ลำโพง

Datura alba

Solanaceae

เมล็ดและใบ

tropane alkaloids

Peyote

Lophophora williamsii

Cactaceae

ทั้งต้น

mescaline

 

4.  พืชที่ระคายเคืองต่อผิวหนัง

          ส่วนใหญ่พืชที่ระคายเคืองต่อผิวหนังมักจะมีหนาม ขน ที่แหลมคม หรือมียางที่เป็นพิษ เมื่อผิวหนังสัมผัสถูกพืชพิษเหล่านี้จะมีอาการเจ็บปวด บวม หรืออักเสบ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในเวลาต่อมา

          สารพิษในกลุ่มนี้จะพบได้ในส่วนใบ เปลือกต้น น้ำยาง ลำต้น ดอก ผล ขน และละอองเกสร  ความเป็นพิษมากน้อยของพืชกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับบุคคลที่สัมผัส ระยะเวลา และฤดูกาลของพืช พืชในกลุ่มนี้แบ่งออกได้  ดังนี้

 

 

 

          4.1  พืชที่มีหนามหรือขน และมีสารพิษ ได้แก่

ชื่อไทย

ชื่อพฤกษศาสตร์

วงศ์

หมามุ่ย

Mucuna pruriens

Fabaceae

กะลังตังช้าง

Laportea bulbifera

Urticaceae

ตำแยตัวเมีย

Laportea interrupta

Urticaceae

ตำแยช้าง

Girardinia heterophylla

Urticaceae

 

          พืชในวงศ์ Urticaceae มีขนพิษ ซึ่งภายในขนจะมี protoplasm เวลาที่ผิวหนังสัมผัสกับพืชเหล่านี้ ปลายยอดของขนจะแตกออกและฉีดสารพิษออกมาทำให้ผิวหนังบวมแดง แสบคันและปวด สารพิษเหล่านี้ได้แก่ histamine, acetylcholine, 5-hydroxytryptamine, กรดมด และกรดน้ำส้ม เป็นต้น

การรักษา

          จะต้องกำจัดขนพิษเหล่านั้นออกไป โดยใช้เทียนไขลนไฟให้อ่อนตัว คลึงบริเวณที่ถูกขนพิษ หรือใช้ข้าวเหนียวนึ่งสุก ปั้นคลึงจนเป็นเนื้อเดียวกัน นำมาคลึงบริเวณที่ถูกขนพิษให้ทั่วเพื่อให้ขนพิษติดขี้ผึ้งหรือข้าวเหนียวออกมา แล้วทาด้วยยาคาลาไมน์ หรือครีมสเตียรอยด์

 

          4.2  พืชที่มียาง

          ยางที่เป็นพิษมีได้ 2 ลักษณะ คือยางขาวและยางใส พืชที่มียางขาว พบได้ในวงศ์ Euphorbiaceaeโดยเฉพาะในสกุล Euphorbia ตัวอย่างเช่น สลัดได (E. antiquorum), ส้มเช้า (E. ligularia), โป้ยเซียน (E. milii) และพญาไร้ใบ (E. tirucalli) เป็นต้น  ส่วนพืชที่มียางใสพบได้ในพืชสกุล Jatropha ได้แก่ สบู่ดำ (J. curcas), สบู่แดง (J. gossipifolia), ฝิ่นต้น (J. multifida), หนุมานนั่งแท่น (J. podagrica) และพืชวงศ์ Araceae เช่น บอน (Colocasia esculenta var. aquatilis), เผือก (C. esculenta), สาวน้อยประแป้ง (Dieffenbachia seguine), กระดาด (Alocasia indica), กระดาดแดง (A. indica var. metallica), กระดาดดำ (A. macrorhiza), พลูฉีก (Monster adeliciosa)  ถ้าสัมผัสถูกพืชที่มียางจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เป็นผื่นแดง   ผิวหน้าบวม และอาจจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้

การรักษา

          ในกรณีที่สัมผัสกับน้ำยางใสให้ล้างด้วยน้ำและสบู่ แต่ถ้าถูกน้ำยางขาวซึ่งล้างด้วยน้ำและสบู่ไม่ออกให้ล้างหรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ แล้วทาด้วยคาลาไมด์ และรับประทานยาแก้แพ้ ควรประคบบริเวณที่มีอาการด้วยน้ำเย็นจัดประมาณครึ่งชั่วโมง ถ้ายางเข้าตาควรล้างตาทันทีด้วยน้ำยาล้างตา หยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มีตัวยาเป็นสเตียรอยด์ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

          4.3  พืชที่มีเอนไซม์

          ตัวอย่างเช่น bromelin พบในสับปะรด จะทำให้เกิดการระคายเคืองผิวเล็กน้อย

          4.4  พืชที่มี calcium oxalates

          ได้แก่พืชวงศ์ Araceae พืชเหล่านี้มักจะมีผลึกของแคลเซียมออกซาเลทอยู่ภายในเซลล์ในสภาพเป็นกลุ่มที่เรียกว่า raphides ซึ่งถ้ารับประทานก็จะเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร และถ้าสัมผัสก็จะทำให้เกิดการระคายเคือง พืชเหล่านี้ ได้แก่ กระดาด Alocasia spp., บุก Arisaema spp., บอนสี Caladium spp., บอน, เผือก Colocasiaspp., สาวน้อยประแป้ง หรือ อ้ายใบ้ Dieffenbachia spp., พลูฉีก Monstera spp.