ซากหรือพันซาด
ชื่อวิทยาศาสตร์ Erythophleum succirubrum Gagnep.
วงศ์ Leguminosae-Caesalpinioideae (Fabaceae)
ชื่ออื่น ๆ ชาด ซาด คราก เตรีย ตะแบง
ลักษณะของพืช ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูงประมาณ 20-35 เมตร ดอกสีเหลือง ผลเป็นฝักคล้ายสะตอ ยาว 12-18 เซนติเมตร
ส่วนที่เป็นพิษ เมล็ด ใบ เนื้อไม้ เปลือกไม้ ราก
สารพิษที่พบ สารกลุ่ม alkaloids ได้แก่ cassaine, cassaidine, acetylcassaidine, erythrophleine, coumingine, ivorine, coumidine
อาการพิษ อาการเริ่มแรกของการรับประทานเมล็ดซากคือ อาเจียน ซึ่งอาการมักจะเกิดหลังจากรับประทานประมาณ 30 นาที-1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ หลังจากนั้นจะมีผลต่อระบบประสาทอาจเกิดจากพิษโดยตรง หรืออาจเกิดจากผลทางอ้อมที่หัวใจทำงานผิดปกติแล้วเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และทำให้เสียชีวิตได้ ความเป็นพิษเกิดจากความเข้าใจผิดคิดว่าเมล็ดของพันซาดเป็นเมล็ดของไม้แดง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมาก แต่เมล็ดของไม้แดงจะเล็กกว่า
ตัวอย่างผู้ป่วย - เด็กชายอายุ 3 ปี รับประทานเมล็ดต้นซากประมาณ 15 เมล็ด นาน 12 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล หลังจากการรับประทานประมาณ 30 นาที มีอาการอาเจียนหลายครั้ง ปวดท้อง ผลการตรวจของแพทย์พบว่ามีอาการซึมเล็กน้อย ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ อุณหภูมิร่างกายปกติ ความดันโลหิต 100/100 มิลลิเมตรปรอท หายใจ 32 ครั้งต่อนาที ชีพจร 96 ครั้ง/นาที เบาเร็วไม่สม่ำเสมอ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ระบบอื่น ๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ ให้การรักษาโดยให้สารน้ำและ NaHCO3 เข้าหลอดเลือดดำ ให้ออกซิเจน 30 นาที ต่อมาผู้ป่วยมีอาการหมดสติและหัวใจหยุดเต้น คลื่นหัวใจมีลักษณะ cardiac standstill ไม่ตอบสนองต่อการรักษา คนไข้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
- เด็กชายอายุ 2 ปี มีประวัติรับประทานเมล็ดซากพร้อมผู้ป่วยรายที่ 1 แต่รับประทาน 3-4 เมล็ด ครึ่งชั่วโมงต่อมามีอาการอาเจียน 3-4 ครั้ง ปวดท้อง ผลการตรวจของแพทย์พบว่า มีอาการซึมลง และชีพจรไม่สม่ำเสมอ อุณหภูมิร่างกายปกติ ความดันโลหิต 90/50 มิลลิเมตรปรอท หายใจ 32 ครั้ง/นาที ชีพจร 100 ครั้ง/นาที ไม่สม่ำเสมอ ผู้ป่วยมีอาการซึมเล็กน้อย หัวใจเต้นเร็ว ตรวจระบบอื่น ๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ ให้การรักษาโดยให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำ ให้ออกซิเจน 2 ชั่วโมงต่อมาผู้ป่วยรู้สึกตัวดีขึ้น ชีพจรยังเต้นไม่สม่ำเสมอ วันต่อมาผู้ป่วยรู้สึกตัวดี สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจซ้ำ พบว่ามีลักษณะปกติ ผลการรักษา ผู้ป่วยกลับบ้านในวันที่ 3 ของการรักษา
- เด็กหญิงอายุ 5 ปี รับประทานเมล็ดต้นซาก 10-15 เมล็ด 7 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล หลังรับประทานครึ่งชั่วโมง มีอาการอาเจียนหลายครั้ง ซึมลง การตรวจร่างกาย อุณหภูมิ 36.8 องศาเซลเซียส ความดันโลหิต 80/50 มิลลิเมตรปรอท หายใจ 40 ครั้ง/นาที ชีพจร 50 ครั้ง/นาที semicoma หายใจไม่สม่ำเสมอ ตรวจหัวใจพบว่าเต้นช้าและจังหวะไม่สม่ำเสมอ ตรวจระบบอื่น ๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ การรักษา โดยให้สารน้ำ NaHCO3, atropine และ dopamine เข้าหลอดเลือดดำ และให้ออกซิเจน ผลการรักษา พบว่าหัวใจเต้นช้าตลอดเวลา ผู้ป่วยมีอาการซึมลง เรื่อย ๆ 3 ชั่วโมงต่อมาเริ่มหายใจช้า ความดันโลหิตลด และเสียชีวิตในที่สุด
- เด็กหญิงอายุ 6 ปี รับประทานเมล็ดต้นซาก 2 เมล็ด หลังรับประทานครึ่งชั่วโมงมีอาการอาเจียนหลายครั้ง ซึมลง จึงมารับการรักษาในโรงพยาบาล ผลการตรวจร่างกาย อุณหภูมิร่างกายปกติ ความดันโลหิต 100/60 มิลลิเมตรปรอท หายใจ 40 ครั้ง/นาที ชีพจร 100 ครั้ง/นาที ผู้ป่วยซึมลงเล็กน้อย หายใจสม่ำเสมอ หัวใจเต้นเร็วเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ระบบอื่น ๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ วันต่อมาผู้ป่วยรู้สึกตัวดี สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ การตรวจคลื่นหัวใจซ้ำ พบว่ามีลักษณะ SA block ชนิด Mobitz type I,T wave inversion in V1 -V3 ผลการรักษาผู้ป่วยกลับบ้านได้ในวันที่ 3 หลังการรักษาในสภาพปกติ
- เด็กหญิงอายุ 12 ปี รับประทานเมล็ดต้นซาก 3 เมล็ด 1 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล หลังรับประทานมีอาการอาเจียนหลายครั้ง วิงเวียนศีรษะ ปวดท้อง การตรวจร่างกาย อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ความดันโลหิต 130/90 มิลลิเมตรปรอท หายใจ 24 ครั้ง/นาที ชีพจร 94 ครั้ง/นาที รู้สึกตัวดี ผลการรักษาผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ในวันที่ 3
- มีรายงานจากโรงพยาบาลอำเภอกระสังว่า มีเด็ก 4 คน อายุประมาณ 10 ขวบ กินเมล็ดเข้าไปตั้งแต่ตอนเที่ยงจนถึงเวลา 9 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น จึงได้พามาโรงพยาบาล เนื่องจากเด็กมีอาการอ่อนเพลียมากเกือบไม่รู้สึกตัว หอบ และเสียชีวิต 1 คน ขณะมาถึงโรงพยาบาลได้ประมาณ 5–10 นาที ก่อนจะได้รับการรักษา ผลจากการตรวจร่างกายพบว่า ไม่ค่อยรู้สึกตัว หอบ หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ม่านตาหดเล็กมาก อีก 3 คนที่เหลือได้ให้การรักษาแบบประคบประคองตามอาการ ผลการรักษาหายเป็นปกติ จากการสอบถามเด็กที่รอดชีวิตพบว่า ได้กินเมล็ดเข้าไปคนละประมาณ 2-3 เมล็ดเท่านั้น
การรักษา ให้สารน้ำ, NaHCO3, atropine และ dopamine เข้าหลอดเลือดดำ และให้ออกซิเจน
บรรณานุกรม - เกรียงไกร โกวิทางกูร ศิราภรณ์ สวัสดิวร สุวิทย์ ลิลิตการตกุล. ภาวะพิษจากการรับประทานเมล็ดต้นซาก: รายงานผู้ป่วย 5 ราย. วารสารกรมการแพทย์ 2535; 17(4):257-62.
- นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด, 2542.
- วีณา จิรัจฉริยากูล (บรรณาธิการ). จุลสารข้อมูลสมุนไพร 2541;15(4):4-6.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
- Echeverria P, Taylor DN, Bodhidatta L, et al. Deaths following of a cardiotoxic plant in Kampuchean children in Thailand. Southeast Asian J Trop Med Public Health 1986;17(4):601-3.
- Sattayasai J, Sattayasai N, Laupattarahasem P, et al. Pharmacological properties of the aqueous extract of Erythrophleum succirubrum Gagnep. leaves. J Sci Soc Thailand 1983:9:47-52.
- Watt JM, Breyer MG. Medicinal and Poisonous Plant of Southern and Eastern. London: Livingstone, 1962.