ผกากรอง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lantana camara L.
วงศ์ Verbenaceae
ชื่ออื่น ๆ ก้ามกุ้ง เบญจมาศป่า ขะจาย ตาปู มะจาย คำขี้ไก่ ดอกไม้จีน เป็งละมาศ สาบแร้ง ยี่สุ่น สามสิบ หญ้าสาบแร้ง Cloth of gold, Hedge flower
ลักษณะของพืช ไม้พุ่ม ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม มักมีขน ใบเดี่ยว ขอบใบหยัก สาก ด้านท้องใบมีขน ดอกเป็นดอกช่อเรียงตัวเป็นรูปกลม มีสีต่าง ๆ ตั้งแต่สีขาว เหลืองนวล หรืออาจเป็นสองสี ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นเป็นสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ ภายในมี 2 เมล็ด
ส่วนที่เป็นพิษ ผล และใบ
สารพิษที่พบ สารกลุ่มไตรเทอร์ปีน ได้แก่ lantadene A หรือ rehmannic acid, lantadene B และ lantadene C
อาการพิษ - ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากผกากรองมักไม่แสดงอาการพิษทันที แต่จะเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง อาการพิษที่เกิดขึ้น ได้แก่ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง (lethargy) ขาดออกซิเจน หายใจช้าและลำบาก รูม่านตาขยาย (mydriasis) กลัวแสง กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน โคม่า และการตอบสนองของกล้ามเนื้อ tendon ถูกกด
- อาการพิษที่เกิดขึ้นในสัตว์ มีพิษกึ่งเฉียบพลันในสัตว์ทดลองที่กินใบผกากรอง คือ ซึม ไม่อยากอาหาร ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย หลังจากนี้ 1-2 วัน จะพบอาการเหลือง และขาดน้ำตามเนื้อเยื่อเมือก กล้ามเนื้ออักเสบ ตาอักเสบ ผิวหนังไวต่อแสง ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบที่เรียกว่า pink nose เจ็บ อาการอักเสบนี้อาจลุกลามไปถึงโพรงจมูก ตา ปาก เกิดเป็นแผลบวม ปลายจมูกแข็ง หนังตาบวม หูหนาและแตก คันหน้าจนสัตว์เลี้ยงถูบ่อยทำให้เป็นแผลหรือตาบอดได้ โดยมากได้รับพิษประมาณ 1-4 อาทิตย์ อาจตายได้ เนื่องจากไตล้มเหลว ปัสสาวะไม่หยุด อดอาหาร ขาดน้ำ ไม่มีการขับถ่าย มีปริมาณ billirubin สูงในเลือด จึงเหลือง เอนไซม์จากตับสูง แสดงว่ามีการอักเสบของตับ เมื่อชันสูตรซากสัตว์ก็พบว่า มีอาการดีซ่าน ตับบวม ถุงน้ำดีโต เนื่องจากผนังบวม ไตเหลือง บวม ฉ่ำน้ำ และลำไส้ใหญ่ไม่เคลื่อนไหว
- พิษเรื้อรังในสัตว์ที่เกิดขึ้นตามมา นอกจากทำให้เกิดอาการแพ้แสงแดดของผิวหนังแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังอื่น ๆ เช่น ผิวหนังบริเวณปากหรือจมูก หู คอ ไหล่ ขา และส่วนอื่น ๆ อาจเป็นสีเหลือง บวม แข็ง แตก และเจ็บ ผิวหนังลอกและเปิด อาจเกิดการอักเสบไปจนถึงเยื่อบุผิวเมือกบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอาการเยื่อบุตาอักเสบอาจพบเห็นเป็นบางครั้งในระยะที่ได้รับพิษเฉียบพลัน และอาจมีผลกระทบต่อผิวหนัง เยื่อบุรอบ ๆ ตา และที่ตาด้วย
ตัวอย่างผู้ป่วย - ผู้ป่วยอายุ 50 ปี เกิดผิวหนังอักเสบเนื่องจากใช้ใบผกากรองแห้งทาผิว ใบผกากรองมีลักษณะหยาบและสาก จึงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังได้เมื่อสัมผัส
- เด็กผู้หญิงอายุปีครึ่ง น้ำหนัก 35 ปอนด์ กินผลผกากรองสีเขียว ไม่ทราบปริมาณ ภายหลังการรับประทาน 6 ชั่วโมง มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่สามารถยืนได้ เริ่มอาเจียน และหมดสติ เด็กถูกส่งตัวเข้าห้องพยาบาลทันที ได้รับรายงานว่า เด็กมีอาการขาดออกซิเจน หายใจลึก โคม่า และรูม่านตาขยายขนาดเท่าหัวเข็มหมุด (pinpoint pupil) ไม่ตอบสนองต่อแสง รักษาโดยฉีด adrenal steroid เข้าทางกล้ามเนื้อ ฉีด epinephrine 1:1000 เข้าใต้ผิวหนัง ให้ออกซิเจน และรักษาตามอาการ เด็กหยุดหายใจภายหลังรับประทานผล ได้ประมาณ 8.5 ชั่วโมง ผลการชันสูตรศพ พบว่ามีเลือดคั่งที่ปอดและที่ไตเล็กน้อย มีชิ้นส่วนของผลผกากรองสีเขียวจำนวนมากในลำไส้เล็ก สาเหตุการตายเนื่องมาจาก pulmonary edema และ neurocirculatory collapse เด็กผู้หญิงอายุ 4 ปี น้ำหนัก 32 ปอนด์ ถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉินภายหลังรับประทานผลผกากรองสีเขียวไปแล้ว 3.5 ชั่วโมง มีอาการในขณะที่มาถึง คือ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หายใจลึก ช้า รูม่านตาขยาย กลัวแสง และอาเจียน ทำการล้างท้องและให้ความช่วยเหลือต่อไปอีก 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นเด็กสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ เด็กชายอายุ 3 ปี น้ำหนัก 27 ปอนด์ ถูกนำส่งศูนย์ฉุกเฉินประมาณ 5 ชั่วโมงภายหลังทานผลผกากรองสีเขียวของผกากรอง เด็กมีอาการอาเจียน ท้องเสีย ซึ่งในอุจจาระมีผลสีเขียวปนอยู่ หายใจไม่สะดวก ขาดออกซิเจน การตอบสนองของกล้ามเนื้อ tendon ถูกกด รูม่านตาขยาย และไม่มีแรง ทำการล้างท้องเด็กและฉีด adrenal steroid เข้าทางกล้ามเนื้อ ให้ออกซิเจน และให้ความช่วยเหลือโดยทั่วไป อาการพิษคงอยู่ประมาณ 56 ชั่วโมง และออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 5 ภายหลังการเข้ารักษาตัว
- มีรายงานการเกิดพิษและการศึกษาพิษของผกากรองในสัตว์ต่าง ๆ เช่น แกะ แพะ วัว ควาย และสัตว์ทดลองประเภทอื่น ๆ เพราะในต่างประเทศผกากรองจัดว่าเป็นวัชพืชที่เป็นปัญหาต่อการเลี้ยงสัตว์ มีบ่อยครั้งที่สัตว์กินแล้ว ทำให้เกิดบาดเจ็บล้มตาย เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงต้องศึกษาวิธีการแก้พิษ และรักษา
การรักษา - การรักษาอาการพิษในคน หากรับประทานไปไม่เกิน 30 นาที ให้รับประทาน น้ำเชื่อม ipecac เพื่ออาเจียนเอาเศษชิ้นส่วนของพืชออกไป ผู้ใหญ่รับประทาน 2 ช้อนโต๊ะ เด็กอายุ 1-12 ปี รับประทาน 1 ช้อนโต๊ะ หากไม่ได้ผลให้ทำการล้างท้อง ยกเว้นในเด็กที่ได้รับพิษเกินกว่า 3 ชั่วโมง อาจล้างท้องไม่ได้ผล จึงควรให้ยา corticosteroids, adrenaline ให้ออกซิเจน และรักษาตามอาการ
- การรักษาอาการพิษในสัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงที่สงสัยว่าได้รับพิษจากผกากรอง ฤทธิ์ของผกากรองภายหลังการกินเข้าไป จะไปทำให้กระเพาะของสัตว์หยุดการเคลื่อนไหว จึงเป็นสาเหตุให้สารพิษเหลืออยู่ในกระเพาะและดูดซึมอย่างต่อเนื่อง การแก้พิษโดยป้องกันไม่ให้พิษมีการดูดซึมเพิ่มขึ้นไปอีก โดยให้ผงถ่าน (activated charcoal) ในปริมาณสูงร่วมกับสารละลายอิเลกโตรไลท์เพื่อไปกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวของกระเพาะ และทำให้ของเหลวกลับเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ควรรักษาอาการแพ้แสงแดดของผิวหนังด้วย มีรายงานการทดลองใช้เบนโทไนต์ (bentonite) รักษาอาการพิษแทนผงถ่าน พบว่าสัตว์ทดลองมีอาการดีขึ้นช้ากว่ากลุ่มที่ให้ผงถ่าน 3 วัน แต่ราคาของสารเบนโทไนต์ถูกกว่าผงถ่าน จึงถือได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาอาการพิษในสัตว์เลี้ยงวัว
บรรณานุกรม - นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ใน รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
- นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญสุข. สมุนไพร ไม้พื้นบ้าน. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ประชาชน จำกัด, 2542.
- นันทวัน บุณยะประภัศร (บรรณาธิการ). จุลสารโครงการศูนย์ข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล 2530;5(1):30-3.
- พรพิศ ศิลขวุธท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ฝ่ายความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุ กองวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 2537.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
- Bruneton J. Toxic Plants Dangerous to Humans and Animals. Hampshire: Intercept Ltd., 1999.
- Carstairs SD, Luk JY, Tomaszewski CA, Cantrell FL. Ingestion of Lantana camara is not associated with significant effects in children. Pediatrics 2010;126(6):e1585-8.
- Frohne D, Pfander HJ. A Colour Atlas of Poisonous Plants. A Handbook for Pharmacists, Doctors, Toxicologists and Biologists. London: Wolfe Publishing, 1983.
- Gopinath C, Ford EJH. The effect of Lantana camara on the liver of sheep. J Patho 1969;l99:75.
- Hart NK, Lamberton JA, Sioumis AA, et al. Triterpenes of toxic and non-toxic taxa of Lantana camara. Experientia 1976;32:412-3.
- Lampe KF, Fagerstrom R. Plant Toxicity and Dermatitis. A Manual for Physicians. Baltimore: Williams & Wilkins company, 1968.
- Lampe KF, McAnally JS, Katzem M. Mechanisms of lantadene-induced jaundice. Am Chem Soc Annu Meet 1958;133:10M.
- McKenzie RA. Bentonite as therapy for Lantana camara poisoning of cattle. Aust Vet J 1991;68(4):146-8.
- Mitchell J, Rook A. Botanical Dermatology: Plants and Plant Products Injurious to the Skin. Vancouver: Greengrass, 1979.
- Pasricha JS, Bhaumik P, Agarwal A. Contact dermatitis due to Xanthium strumarium. Indian J Dermatol Venereol Leprol 1990;56(4):319-21.
- Pass MA. Current ideas on the pathophysiology and treatment of Lantana poisoning of ruminants. Aust Vet J 1986;63(6):169-71.
- Sharma OP, Makkar HPS, Dawra RK. A review of the noxious plant Lantana camara. Toxicon 1988;26:975-87.
- Sharma OP, Vaid J, Patlabhi V, et al. Biological action of lantadene C, a new hepatotoxicant from Lantana camara var. aculeata. J Biochem Toxicol 1992;7(2):73-9.
- Wolfson SL, Solomons TWG. Poisoning by fruit of Lantana camara. An acute syndrome observed in children following ingestion of the green fruit. Am J Dis Child 1964;107:173-6.